นายกฯน้อย เปิดผลงานรัฐบาลนิด 1 เดือน "บางทีก็ทำเร็วไปหน่อย"

13 ต.ค. 2566 | 06:03 น.
561

สัมภาษณ์พิเศษ “หมอมิ้ง” นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เปิดผลงานรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ครบรอบ 1 เดือน อ่านบทสรุปข้อมูลรายละเอียดทุกนโยบาย พร้อมทิศทางขับเคลื่อนระยะต่อไปที่นี่

“ตอนนี้มองว่าบางทีรัฐบาลก็ทำงานเร็วไปหน่อย พอมานั่งนึกยังไม่ทันครบเดือน รัฐบาลก็ออกแพ็คเกจต่าง ๆ ออกมาเยอะ แต่ก็เป็นสิ่งที่ก็ต้องเร่งทำงาน หลายเรื่องมีความเชื่อมโยงกัน และทั้งหมดถือเป็นเครื่องจักรของการสร้างเศรษฐกิจของประเทศ”

“หมอมิ้ง” หรือ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ถ่ายทอดแนวทางการผลักดันนโยบายรัฐบาลให้ฟัง หลังจากเปิดตึกไทยคู่ฟ้า พาฐานเศรษฐกิจ และผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจประจำทำเนียบรัฐบาล ขึ้นไปสัมภาษณ์พิเศษถึงการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ครบรอบ 1 เดือน

นพ.พรหมินทร์ ยอมรับว่า นโยบายรัฐบาลได้ออกไปเป็นชุดเรียบร้อยแล้ว แต่เราออกน่าจะเร็วไปสักนิด ทั้งเรื่องลดราคาพลังงาน พักหนี้เกษตรกร การท่องเที่ยว และ ซอฟต์พาวเวอร์ แต่อย่างไรก็ดีนโนบายยังไม่จบแค่นี้ โดยขอให้ดูในระยะต่อไปจะมีนโยบายอื่น ๆ ออกมาอีกเป็นระยะ

 

“หมอมิ้ง” หรือ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี

ภาพรวมนโยบายรัฐบาล 1 เดือน

สำหรับภาพรวมของนโยบายรัฐบาลที่ผลักดันออกมาอยู่ภายใต้แนวทางหลักนั่นคือ การลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และสร้างโอกาส 

เขาเริ่มฉายภาพให้เห็นว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จนทำให้ตัวเลขสำคัญด้านเศรษฐกิจคือ GDP ร่วงลงไป 7% ก่อนจะไต่ขึ้นมายังไม่เต็มศักยภาพที่แท้จริง เรียกง่ายว่า “ทรุดหนักสุด แต่ฟื้นช้าสุด” โดยสิ่งที่ตั้งข้อสงสัยว่า ณ ปัจจุบันนี้เศรษฐกิจไทยดีขึ้นจริงหรือไม่

 

นายกฯน้อย เปิดผลงานรัฐบาลนิด 1 เดือน \"บางทีก็ทำเร็วไปหน่อย\"

 

ขณะที่ปัญหาหนี้ครัวเรือน จะเป็นอีกหนึ่งตัวชี้วัดที่สำคัญ และเป็นคำตอบที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นอย่างไร นั่นเพราะเมื่อเทียบตัวเลขเมื่อปี 2555 สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี เคยอยู่ที่ระดับ 70% ไต่ขึ้นมาถึง 90% ในปัจจุบัน

มิหนำซ้ำเมื่อพิจารณาตัวเลขเงินเฟ้อ ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ร่วงลงมาจาก 5.02% เมื่อเดือนมกราคม 2566 มาอยู่ที่ 0.30% ในเดือนกันยายน 2566 แสดงให้เห็นถึงกำลังซื้อของคนไทยลดลง แต่ขณะเดียวกันในการดูแลทิศทางด้านนโยบายการเงินก็ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไปอีก 1.25% จนมาอยู่ที่อัตรา 2.50% ดังนั้นหน้าที่รัฐบาลจึงต้องหาทางทำยังไงให้คนพ้นทุกข์ และรู้สึกดีขึ้น 

 

นายกฯน้อย เปิดผลงานรัฐบาลนิด 1 เดือน \"บางทีก็ทำเร็วไปหน่อย\"

นั่นจึงเป็นที่มาของนโยบายแรก ๆ ของรัฐบาลคือ “ลดรายจ่าย” โดยเฉดาะด้านพลังงาน ทั้งค่าไฟฟ้า และราคาน้ำมันดีเซล โดยปรับลดค่าไฟฟ้างวดล่าสุดเหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย

จากนั้นจึงประกาศนโยบาย “พักหนี้เกษตรกร” ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 เพื่อช่วยเหลือคนที่เดือดร้อนที่อยู่ส่วนล่างได้หายใจโล่งขึ้น หรือเปรียบกับคนที่กำลังจะจมน้ำ รัฐบาลจะช่วยหาทุนให้คนเล่านี้เกาะเอาไว้ให้ได้ก่อนจะมีกำลังว่ายน้ำขึ้นฝั่งได้

ต่อมาคือ “สร้างรายได้” ผ่านการท่องเที่ยวก่อนเป็นลำดับแรก ผ่านนโยบายวีซ่าฟรี สำหรับนักท่องเที่ยวประเทศจีน และคาซัคสถาน ที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย พร้อมทั้งแก้ไขปัญหาคอคอด ที่เป็นปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ด้านการท่องเที่ยว

พร้อมทั้ง “สร้างโอกาส” ตั้งแต่การเดินทางไปประชุมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 78 ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา และมีโอกาสพบปะนักธุรกิจชื่อดังของโลก เพื่อดึงดูดการลงทุนเข้ามาในประเทศไทย ทั้งพลังงาน และโครงสร้างพื้นฐาน 

 

“หมอมิ้ง” หรือ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี

 

ตั้ง “ธงทอง” ประธานแก้กฎหมายลงทุน

นพ.พรหมินทร์ ระบุถึงเรื่องการลงทุนว่า ขณะนี้มีนักลงทุนรายใหญ่ แสดงความสนใจเข้ามาลงทุนในไทย เช่นในรายของ Amazon Web Services (AWS) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ Amazon ได้ประกาศแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์ในไทย มากกว่า 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1.9 แสนล้านบาท ในไทย ในช่วง 15 ปีข้างหน้า 

ที่ผ่านมาการดึงดูดการลงทุนพบปัญหาอุปสรรคที่กลายเป็นข้อจำกัดในการดึงนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามา และจะต้องเร่งแก้ไขทันที โดยการแก้ไขปัญหานั้น ล่าสุด นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการเร่งด่วนให้เตรียมตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อพิจารณาปลดล็อกปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน เพื่อให้การลงทุนสะดวกมากขึ้น หรือ คณะกรรมการ Ease of Doing Business โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ เป็นประธาน

“คณะกรรมการชุดนี้จะไปร่างกฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อปลดล็อกให้การลงทุนง่ายขึ้น สะดวกมากขึ้น โดยจะแก้กฎหมาย หรือปลดล็อกข้อจำกัดทางด้านกฎหมายทีละตัวไปเลย โดยอะไรที่ทำมาดีแล้วก็พร้อมต่อยอดและเร่งรัดให้เร็วขึ้น และนำไปสู่การปฏิบัติ เพื่อสร้างโอกาสในช่วง 4 ปีนี้จะต้องเร่งให้ทัน”

แปลงโฉม OTOP สู่ Soft Power 

อีกเรื่องคือการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ล่าสุดนายกรัฐมนตรี ได้ประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ครั้งแรกไปแล้ว เพื่อปลดเปลื้องและสร้างรายได้จากหนึ่งสมองสองมือของคนไทยที่ซ่อนอยู่ให้มีคุณค่า และสร้างรายได้ให้กับประเทศ

หมอมิ้ง เล่าย้อนไปว่า ในช่วงปี 2544 ช่วงนั้นประเทศไทยเจอปัญหาวิกฤตค่าเงินจนกือบล้มละลาย ถือเป็นความลำบากของคนไทยในช่วงนั้น พอมีรัฐบาลเข้ามาก็เริ่มต้นจากการออกนโยบายพักหนี้เกษตรกร เหมือนตอนนี้ ก่อนจะมีกองทุนหมู่บ้าน เพื่อมีทุนในการทำธุรกิจ กระตุ้นเอสเอ็มอี 

ที่สำคัญคือ ดันนโยบายหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือ OTOP ขึ้นมาให้ชาวบ้านขายผลิตภัณฑ์ในชุมชนได้ ซึ่งถ้าเทียบตอนนี้ก็มีซอฟต์พาวเวอร์ เปลี่ยนจากการมีสินค้าเป็นการให้คนปลดปล่อยศักยภาพให้เป็นรายได้

พร้อมแจกเงินดิจิทัล เต็มสูบ

ไฮไลท์ของนโยบายรัฐบาลนั่นคือ การสร้างโอกาสผ่านเงินดิจิทัล ที่จะจ่ายผ่าน Digital Wallet คนละ 10,000 บาท เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ออกตัวก่อนว่า รัฐบาลนี้บริหารเงินเป็น และการผลักดันนโยบายเติมเงินดิจิทัล โดยใช้เงินกว่า 5.6 แสนล้านบาท จะไม่ส่งผลกระทบต่อวินัยการเงินการคลังของรัฐ ที่สำคัญคือ เมื่อทำแล้วจะไม่กระทบต่อเครดิตเรทติ้งของประเทศ

โดยการหารือกันในคณะกรรมการชุดใหญ่ ที่มีนายกฯ เป็นประธาน ได้รับการยืนยันว่า เมื่อผลักดันนโยบายออกไปจะไม่กระทบต่อเรทติ้ง ส่วนข้อคิดเห็นต่าง ๆ รัฐบาลก็เคยตั้งคำถามเอาไว้แล้ว โดยเฉพาะเรื่องของการใช้เงินว่าจะเป็นอะไรไหม และขยับแบบนี้เป็นอะไรไหม แล้วตั้งคืนเงินอย่างไร ซึ่งถ้าทำได้ก็ไม่มีอะไรน่ากังวล

ทั้งนี้รัฐบาล ยืนยันว่า นโยบายเติมเงินดิจิทัล มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจมาก เพราะจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ นั่นเพราะเมื่อคนซื้อสินค้า จะช่วยทำให้โรงงานมีกำลังผลิตเพิ่ม ส่งผลต่อการจ้างงาน และสุดท้ายภาครัฐก็เก็บภาษีได้มากขึ้น 

“นโยบายเติมเงินดิจิทัล จะช่วยเติมรายได้ที่ขาดหายไป ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดการเติบโต เอาไปใช้ดำรงชีวิต เหมือนกับเอาทุ่นไปให้เกาะให้รอดจมน้ำ ให้เขาต่อชีวิตและสร้างชีวิตใหม่ได้ มีต้นทุนทำมาหากิน เช่น ในครัวเรือนเกษตรกรถ้าครอบครัวมี 5 คน จะมีเงิน 5 หมื่นบาท สามารถเอามาใช้ทำเกษตรหนึ่งฤดูกาลเพาะปลูก หรือคนรุ่นใหม่ ถ้ารวมกันบวกกับเงินตัวเองผสมลงไปก็ลงทุนทำสตาร์ทอัพได้ ส่วนใครรวยไม่ใช่ถึงเวลาเงินก็หมดไป”

 

“หมอมิ้ง” หรือ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี

 

กางทางเลือกหาเงิน 5.6 แสนล้าน

ส่วนช่องทางการหาเงินมาใส่นั้น ยอมรับว่า รัฐบาลกำลังพิจารณาทางเลือกต่าง ๆ เกี่ยวกับแหล่งวงเงินเพื่อนำมาขับเคลื่อนนโยบายเติมเงินดิจิทัล ซึ่งจะมีทางเลือกอยู่ 2-3 ทางเลือก นั่นคือ การใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือ การใช้เงินภายใต้ มาตรา 28 ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง หรือสุดท้ายถ้าไม่พอหรือจำเป็นก็อาจต้องมีการกู้เงิน โดยทางเลือกทั้งหมด คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายที่มี นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เป็นประธาน จะเป็นผู้สรุป

แต่ทั้งนี้แหล่งวงเงินส่วนแรกที่จะนำมาใช้ นั่นคือ การใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี ส่วนหนึ่งก็ต้องไปหาทางเกลี่ยงบประมาณบางโครงการที่ไม่จำเป็น เช่น การจัดซื้อจัดจ้างขนาดใหญ่หากยังไม่จำเป็นก็ต้องเลื่อนออกไป ล่าสุดรัฐบาลสามารถทำได้บางส่วนแล้ว โดยจะให้เลื่อนการจัดซื้อโครงการขนาดใหญ่ลง และจะจัดงบไปเป็นค่าบำรุงรักษาให้แทน 

อีกส่วนหนึ่งคือการใช้กลไกตามมาตรา 28 หรือการให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐจ่ายเงินให้ไปก่อน และรัฐบาลตั้งงบประมาณมาชดเชยให้ ซึ่งรัฐบาลก็เห็นช่องทางนี้สามารถทำได้ แม้ว่าจะมีการขยายเพดานออกไป โดยรัฐบาลเตรียมแผนการคืนเงินอย่างชัดเจนแล้ว เช่น ถ้าใช้เงินไม่เกิน 2-3 แสนล้านบาท ก็ตั้งงบใช้คืนปีละประมาณ 1 แสนล้านบาท ได้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี 

ส่วนแนวทางสุดท้าย คือ การกู้เงินโดยตรง และจะไม่ส่งผลกระทบต่อกรอบหนี้สาธารณะต่อจีดีพี เพราะในปีต่อ ๆ ไป จีดีพีจะขยายตัวมากขึ้น จึงมีช่องว่างมากขึ้นตามไปได้ แต่ทุก ๆ ทางเลือกนั้น คณะอนุกรรมการจะหาข้อสรุปถึงทางเลือกต่าง ๆ ที่เหมาะสม หรืออาจใช้ทางเลือกต่าง ๆ ผสมกันได้ 

อย่างไรก็ตามแผนการทำงาน รวมไปถึงการขับเคลื่อนนโยบายในระยะต่อไปจะเป็นอย่างไร จะสำเร็จ หรือเจอปมปัญหาอะไรหรือไม่นั้น ต้องจับตาดูกันต่อไป