พักหนี้เกษตรกร 2.7 ล้านคน เฮ เริ่ม 1 ต.ค.นี้ พักทั้งเงินต้น-ดอกเบี้ย

26 ก.ย. 2566 | 15:20 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ก.ย. 2566 | 20:26 น.
533

ครม.ไฟเขียว พักหนี้เกษตรกร “เงินต้น-ดอกเบี้ย” 2.7 ล้านคน มูลหนี้รวม 3 แสนล้านบาท ตามความสมัครใจ เริ่ม 1 ต.ค.นี้ เช็คสิทธิผ่านแอป "BAAC Mobile"

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ให้กับลูกหนี้เกษตรกรรายย่อย โดยในปีที่ 1 อนุมัติวงเงิน 12,000 ล้านบาท ในการจ่ายดอกเบี้ยทดแทนเกษตรกร โดยใช้งบประมาณจากนโยบายกึ่งการคลัง มาตรา 28 ตามพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ โดยมาตรการดังกล่าวจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.66

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

สำหรับเงื่อนไขมาตรการพักชำระหนี้ดังกล่าว มีลูกหนี้เกษตรกรทั้งหมด 2.7 ล้านราย มูลหนี้รวม 3 แสนล้านบาท ได้แก่

  • ลูกค้าที่ได้รับเกณฑ์เข้าร่วมโครงการต้องมีต้นเงินคงเป็นหนี้คงเหลือทุกสัญญารวมกัน ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 ไม่เกิน 300,000 บาท
  • ได้รับสิทธิทั้งเกษตรกรที่มีสถานะเป็นหนี้ปกติ และเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs)
  • ต่อสัญญาปีต่อปี โดยในปีแรกได้รับสิทธิในการพักชำระหนี้ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2566 ถึงวันที่ 30 ก.ย.2567
  • เกษตรกรสามารถตรวจสอบสิทธิได้ผ่านแอป BAAC Mobile
  • แสดงความประสงค์เข้าร่วมมาตรการตามความสมัครใจ ผ่านช่องทางธนาคารเพื่อการเกษตรกรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2566 ถึงวันที่ 31 ม.ค.2567
  • ลูกหนี้ที่มีสถานะเป็น NPLs จะสามารถเข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ได้ เมื่อได้มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์ของ ธ.ก.ส. แล้ว

นอกจากนี้ ยังได้เพิ่มมาตรการจูงใจในการลดภาระหนี้ ได้แก่

  • ลูกหนี้ที่มีสถานะปกติ ต้องการชำระหนี้ รัฐบาลสร้างแรงจูงใจในการลดหนี้ โดยเงินที่ชำระหนี้ครึ่งหนึ่ง จะได้รับการตัดชำระเงินต้น เพื่อให้มูลหนี้ลดลง
  • ลูกหนี้ NPL หากต้องการชำระหนี้ ก็จะสามารถชำระเงินต้นได้ทั้งหมด 100% โดยไม่มีการนำไปตัดส่วนดอกเบี้ย

นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้จัดทำโครงการบูรณาการร่วมกับ ธ.ก.ส. อีกจำนวนมาก และยังมีกลไกให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อสามารถนำไปประกอบอาชีพต่อไปได้ โดยมีการจัดสินเชื่อให้เพิ่มเติม รายละไม่เกิน 100,000 บาท และให้ดอกเบี้ยในอัตราที่ต่ำ ซึ่งจะมีการประชุมร่วมกับบอร์ด ธ.ก.ส. เพื่อสรุปอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง