เอกชนผวาสงครามยืดเยื้อ เตือนรับมือ ศก.โลกทรุด ฉุดค้าไทย-อาหรับ 1.5 ล้านล้าน

11 ต.ค. 2566 | 11:27 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ต.ค. 2566 | 21:53 น.

เอกชนหวั่นสถานการณ์อิสราเอล-ฮามาส ขยายเป็นวงกว้าง ลามปิดคลองสุเอช ดันต้นทุนขนส่งพุ่งกระทบส่งออก กระทบส่งออกไทยไปตะวันออกกลาง 1.5 ล้านล้านบาท ฉุดอิสราเอลเที่ยวไทยหาย 4 หมื่นคน ชี้โอกาสราคาทองคำ-น้ำมัน ขยับขึ้นต่อเนื่อง เตือนรับมือความเสี่ยง โอกาสยืดเยื้อสูง

สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ของปาเลสไตน์ เปิดฉากโจมตีอิสราเอลแบบไม่ทันตั้งตัว ด้วยการระดมยิงจรวดหลายพันลูกจากฉนวนกาซา พร้อมทั้งส่งกองกำลังติดอาวุธหลายสิบคนแทรกซึมเข้าไปโจมตีในหลายเมืองทางตอนใต้ของอิสราเอล ทำให้กองทัพอิสราเอลเปิดฉากตอบโต้ด้วยการส่งเครื่องบินรบถล่มฉนวนกาซาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้จนถึงขณะนี้ ยอดผู้เสียชีวิตจากทั้งสองฝ่ายพุ่งทะลุมากกว่า 1,500 รายแล้ว

ขณะที่นานาชาติเฝ้าจับตามองว่าสถานการณ์จะทวีความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน เพราะแต่ละฝ่ายต่างมีประเทศมหาอำนาจคอยหนุนหลัง ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกาที่ประกาศสนับสนุนอิสราเอล โดยการส่งเรือบรรทุกเครื่องบินรบและอาวุธหนัก ในฐานะเป็นพันธมิตรหลักของ NATO ส่วนฝ่ายฮามาสก็ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่านและรัสเซีย

การหนุนหลังของประเทศดังกล่าว ทำให้หลายฝ่ายมีความกังวลว่า สถานการณ์จะทวีความรุนแรง และขยายตัวออกเป็นวงกว้างในตะวันออกกลาง และจะส่งผลกระทบต่อมายังไทยเพิ่มมากขึ้น

  • ส่งออกตั้งรับความเสี่ยง

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า สงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสของปาเลสไตน์ที่เวลานี้ได้ทวีความรุนแรง ระยะสั้น ๆ ซึ่งในแง่การค้ายังไม่กระทบมากนัก แต่ห่วงสงครามจะขยายวงและจะส่งผลกระทบต่อการค้าไทย-อิสราเอล และการค้าไทยกับภูมิภาคตะวันออกกลาง ในเดือนที่เหลือของปีนี้ จากที่ในปี 2565 การค้าไทย-อิสราเอล มีมูลค่ารวม 49,182 ล้านบาท และการค้าไทยกับภูมิภาคตะวันออกกลาง 15 ประเทศ มีมูลค่ารวม 1.56 ล้านล้านบาท

ขณะเดียวกันมีความเป็นห่วงว่า หากหากสงครามทวีความรุนแรงจากการสู้รบของทั้งสองฝ่าย และมีประเทศอื่นให้การสนับสนุน อาจจะขยายวงกว้างและส่งผลกระทบต่อระบบโลจิสติกส์ และเส้นทางการขนส่งสินค้าจากเอเชีย ซึ่งรวมถึงไทยการส่งออกสินค้าไปยุโรปต้องผ่านคลองสุเอชที่อยู่ใกล้กับเหตุการณ์ อาจมีความเสี่ยงและมีต้นทุนที่สูงขึ้น และยังต้องจับตาผลพวงจากสงครามจะทำให้ราคาพลังงานของโลกปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่เงินบาทที่อ่อนค่าระดับ 36-37 บาทต่อดอลลาร์เวลานี้ จะทำให้การนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงของไทยมีต้นทุนที่สูงขึ้นไปอีก

ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย

“ที่ต้องจับตาคือ สงครามจะรุนแรงหรือขยายวงกว้างแค่ไหน หรือจะจำกัดแค่ 2 ประเทศ การส่งออกสินค้าไทยไปตะวันออกกลางจะได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใด ราคาน้ำมันหรือราคาพลังงานจะเป็นอย่างไร และจะทำให้ระบบขนส่งหรือโลจิสติกส์ ในการส่งออกสินค้ามีปัญหาหรือไม่ ทุกเรื่องต้องจับตาและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด”

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เวลานี้ผู้ประกอบการที่ทำการค้ากับกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ต้องติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด รวมถึงวางแผนบริหารความเสี่ยงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นเพิ่มเติม หากสงครามขยายวงกว้างขึ้นจากความขัดแย้งในครั้งนี้ อย่างไรก็ดี หากสถานการณ์ไม่ยืดเยื้อ ในเบื้องต้นคาดทั้งปีนี้การค้าไทย-อิสราเอลจะอยู่ที่ประมาณ 40,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 0.2-0.3% ของการค้าไทยกับโลก

  • ทองคำราคาพุ่งพรวด

นายจิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี นายกสมาคมค้าทองคำ กล่าวว่า ราคาทองคำในต้นสัปดาห์นี้ แค่เปิดตลาดมา 2วันราคาทองคำแท่งปรับสูงขึ้นแล้ว 500 บาท ส่วนแนวโน้มทิศทางราคาทองคำนั้น ขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยหลักคือ สงครามอิสราเอล-ฮามาส กับการเคลื่อนไหวของเงินบาท ซึ่งต้องติดตา สถานการณ์ “วันต่อวัน “

สำหรับสงครามระหว่างอิสราเอล-ฮาสมาส อาจจะไม่จบลงง่าย ๆ หรือมีโอกาสจะยืดเยื้อ เนื่องจากมีนานาชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง ส่วนค่าเงินบาทหากแนวโน้มยังเคลื่อนไหวอ่อนค่า เชื่อว่าทั้ง 2 ปัจจัยดังกล่าวจะทำให้ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้นได้อีก

จิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี นายกสมาคมค้าทองคำ

“ราคาทองคำยังมีโอกาสขยับขึ้นต่อเนื่อง จากความไม่แน่นอนของสถานการณ์ในอิสราเอล-ฮามาส ขณะเดียวกันเงินบาทยังมีแนวโน้มอ่อนค่า เบื้องต้นมองว่ามีโอกาสจะเห็นราคาทองคำแท่งกลับไปอยู่แถว 33,050 บาทอีกครั้งในปีนี้ จากเดิมเราคาดการณ์ราคาทองคำสิ้นปีไว้ที่บาทละ 32,500 บาท”

สอดคล้องกับ นายพิบูลย์ฤทธิ์ วิริยะผล ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยทองคำ กล่าวว่า สถานการณ์สงครามรอบนี้ ถือเป็นปัจจัยเพิ่มน้ำหนักให้กับราคาทองคำ ซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยปรับตัวสูงขึ้น หากย้อนดูสถิติที่ผ่านมาทุกครั้งที่เกิดสงครามก็จะดันให้ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้นก่อนเป็นสินทรัพย์แรก

ส่วนสินทรัพย์ที่เป็นสินทรัพย์เสี่ยงอย่างเช่น ตลาดทุน จะถูกเทขายออกมาก่อน แต่หลังจากที่สภาวะสงครามคลี่คลายลงหรือมีขอบเขตที่จำกัด ทุกอย่างก็จะกลับมาเหมือนเดิมคือราคาทองคำจะกลับมาที่ราคาพื้นฐาน

“มุมมองแนวโน้มราคาทองคำนั้น กรอบใหญ่ใหญ่ยังคงใกล้เคียงกับ 1,800- 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่ยังคงเป็นแนวโน้มขาขึ้นอยู่ค่อนข้างชัดหลังจากที่เกิดเหตุการณ์สงครามอิสรเอล-ฮามาส ส่วนราคาทองคำแท่งส่วนตัวมองว่าราคายังอยู่แถว 31,500 - 33,000 บาท”

อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวของราคา Gold Spot นิวยอร์ก ณวันที่ 10 ต.ค.อยู่ที่ระดับ 1,845.78ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ จาก 1,820.50 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ (เมื่อวันที่ 6 ต.ค.ที่ผ่านมา ) ส่วนราคาทองคำแท่ง อยู่ที่บาทละ 32,550 บาท จาก 31,900 บาท และ เงินบาทอยู่ที่ระดับ 36.88บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จาก 37.02 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ (เมื่อ 6 ต.ค.)

เอกชนผวาสงครามยืดเยื้อ เตือนรับมือ ศก.โลกทรุด  ฉุดค้าไทย-อาหรับ 1.5 ล้านล้าน

  • ตลาดกังวลราคาน้ำมันพุ่ง

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย กลุ่มงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ช่วงเกิดเหตุการณ์ตึงเครียดระหว่างอิสราเอล-ฮามาสนั้น ตลาดตอบรับด้วยการเข้าซื้อเงินดอลลาร์ ซึ่งเป็นสกุลเงินปลอดภัย ขณะที่สกุลเงินในหลายประเทศในเอเซียอาจได้รับผลกระทบจากความกังวลต่อราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มจะปรับขึ้น เนื่องจากหลายประเทศรวมทั้งไทยเป็นผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิ

“สถานการณ์ตึงเครียดอิสราเอล-ฮามาส ทำให้ตลาดกังวลถึงโอกาสลากยาว จึงมีความกังวลต่อราคาน้ำมันจะแพงขึ้นอีก กดดันสกุลเงินเอเซียและเงินบาท แต่การที่ราคาทองคำปรับตัวขึ้นมาก กลายเป็นผลบวกต่อเงินบาทที่กลับมาแข็งค่า สวนทางดอลลาร์ที่อ่อนค่า โดยเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2566 เงินบาทแข็งค่ากลับลงมาอยู่ที่ 36.88 บาทต่อดอลลาร์ จากปิดตลาด 37.11 ในวันจันทร์เปิดตลาด และจากระดับ 37.02 บาท เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2566 ”

 

 

  • สนพ.เฝ้าระวังรับมือราคาพลังงาน

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกปรับตัวพุ่งสูงกว่า 4 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ในช่วงตลาดซื้อขายของเอเชีย โดยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ราคาปรับเพิ่มขึ้น 4.18 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล หรือ 4.94% มาอยู่ที่ระดับ 88.76 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และ น้ำมันดิบเวสต์เท็สซัส (WTI) ราคาปรับเพิ่มขึ้น 4.23 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล หรือ 5.11% มาอยู่ที่ระดับ 87.02 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล (ราคา ณ วันที่ 9 ตุลาคม 2566)

ทั้งนี้ น้ำมันดิบราคาพลิกฟื้นกลับขึ้นมาจากระดับต่ำสุดในรอบหลายเดือน หลังถูกเทขายมานานหลายสัปดาห์ จากความกังวลเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ซึ่งอาจกระทบความต้องการทั่วโลก ซึ่งสนพ. จะติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงานที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อสามารถดำเนินการบรรเทาผลกระทบด้านราคาพลังงานต่อประชาชนในระยะต่อไป

แหล่งข่าวจากวงการอุตสาหกรรมน้ำมัน กล่าวว่า ทิศทางของราคาน้ำมันดิบ นอกจากปัจจัยการสู้รบระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสแล้ว ยังมีปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันดิบมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นไปแตะที่ระดับ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลได้โดยสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ได้คาดการณ์ตลาดน้ำมันดิบจะเข้าสู่ภาวะขาดดุลอย่างมากในไตรมาส 4 ของปี 2566 ที่ประมาณ 1.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากการจัดหาน้ำมันดิบปรับลดลงจากการขยายมาตรการปรับลดกำลังการผลิตของซาอุดิอาระเบียที่ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน และรัสเซียปรับลดการส่งออกลง 0.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน จนถึงสิ้นปีนี้

ประกอบกับการเข้าสู่ฤดูหนาว ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี 2566 โดย กลุ่ม OPEC ได้เปิดเผยการคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันของโลกว่า จะปรับเพิ่มขึ้นอีก 2.25 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในปี 2567 เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจโลกในปีหน้าที่มีแนวโน้มดีขึ้น ขณะที่สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐอเมริกา (EIA) คาดว่าความต้องการใช้น้ำมันจะเติบโตขึ้น 1.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในปี 2567

  • ท่องเที่ยวหาย 4 หมื่นคน

นายอดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์ เลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) เปิดเผยกับว่า หากประเมินการสู้รบในอิสราเอล คาดว่าในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้ จะส่งผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวอิสราเอลที่เดินทางมาเที่ยวไทย ราว 3-4 หมื่นคน ซึ่งตลาดอิสราเอลที่เดินทางมาเที่ยวไทยมีสัดส่วนไม่มาก อยู่ที่ราว 2 แสนคนต่อปี คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 1% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดที่เดินทางมาเที่ยวเมืองไทย

การสู้รบที่เกิดขึ้นจัดว่ากระทบต่อการท่องเที่ยวของไทยไม่มากนัก และจะกระทบต่อตลาดนักท่องเที่ยวอิสราเอลเท่านั้น ไม่ได้กระทบถึงนักท่องเที่ยวจากยุโรปหรือนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคอื่น เนื่องจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ 1.เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะกระทบเส้นทางบินตรงเข้ากรุงเทลอาวีฟเท่านั้น ซึ่งสายการบินจะระงับเส้นทางบิน เพราะกังวลเรื่องความปลอดภัย แต่ไม่ได้กระทบต่อเน็ตเวิร์คเส้นทางบินอื่น ๆ ในภาพรวมที่ยังเปิดให้บริการเที่ยวบินได้ตามปกติ และ 2. เหตุการณ์ขัดแย้งระหว่างปาเลสไตน์และอิสราเอล เป็นผลกระทบทางจิตวิทยา ที่ตลาดยุโรปรับรู้อยู่แล้ว ซึ่งต้องรอให้เหตุการณ์คลี่คลาย

ดังนั้น ปัจจัยการสู้รบที่เกิดขึ้น จึงไม่ได้วิตกอะไรมากนัก แต่สิ่งที่จะกระทบต่อการท่องเที่ยวของไทยคือเรื่องของความปลอดภัยในประเทศไทยมากกว่า จึงอยากให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญในการยกระดับด้านความปลอดภัย เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่นักท่องเที่ยว

สำหรับตลาดนักท่องเที่ยวอิสราเอลที่เดินทางมาเที่ยวเมืองไทย ก่อนเกิดโควิด-19 หรือในปี 2562 อยู่ที่ 194,798 คน สร้างรายได้ 16,090 ล้านบาท และในปี 2566 นี้พบว่ามีแนวโน้มเดินทางเข้าไทยเพิ่มขึ้นกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด -19 แล้ว โดยตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.- 8 ต.ค.2566 มีนักท่องเที่ยวอิสราเอลเที่ยวไทยจำนวน 190,443 คนแล้ว เพิ่มขึ้น 28% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนเกิดโควิดแล้ว ดังนั้นการสู้รบระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ที่เกิดขึ้น จะกระทบระยะสั้นในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3930 วันที่ 12 - 14 ตุลาคม พ.ศ. 2566