วิเคราะห์ฉากทัศน์ต่อไปของ "สงครามอิสราเอล-ฮามาส"

10 ต.ค. 2566 | 18:00 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ต.ค. 2566 | 18:03 น.
691

ท่ามกลางสถานการณ์ สงคราม"อิสราเอล-ฮามาส" ภายใต้คำประกาศของนายกฯอิสราเอลว่า "long and difficult war" ประเทศไทยต้องตั้งรับอย่างไร วิเคราะห์ผลกระทบ และฉากทัศน์ต่อไป กับดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์

จากกรณีที่กองกำลังฮามาส  บุกโจมตีอิสราเอล ตั้งแต่เช้าวันเสาร์ ตามเวลาท้องถิ่น (7 ต.ค.) จนถึงวันที่ 10 ตุลาคม 2566 จนผู้เสียชีวิตแล้วมากกว่าพันราย โดยส่วนใหญ่เป็นชาวอิสราเอล ในจำนวนนี้ เป็นชาวต่างชาติเกือบ 40 ราย และมีคนไทยเสียชีวิต 18 ราย ถูกจับเป็นตัวประกัน 11 ราย

ฐานเศรษฐกิจ สัมภาษณ์พิเศษ ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง ถึงฉากทัศน์ที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ รวมทั้งผลกระทบที่จะเกิด และการวางบทบาทท่าทีที่เหมาะสม ของประเทศไทยต่อสถานการณ์นี้

"ถ้าสถานการณ์ไม่บานปลายไปสู่การรบระหว่างอิสราเอล กับอิหร่าน ก็ยังไม่มีอะไรที่น่ากังวล แต่หากความขัดแย้งขยายมาที่ประเทศอิหร่าน จะถือว่ามีความน่ากังวล ผลกระทบจะเกิดขึ้นกับราคาน้ำมัน โดยเฉพาะหากมีการปิดช่องแคบฮอร์มุซ จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ เนื่องจากเป็นทางผ่านของน้ำมันถึง 20% ของการขนส่งน้ำมันจากทั่วโลก แต่อย่างไรก็ตามโอกาสที่จะเกิดสถานการณ์เช่นนี้เป็นไปได้น้อย" ดร.สมชายกล่าว

เนื่องจาก ประเทศอิหร่านเป็นประเทศที่มีศักยภาพ มีขีดความสามารถทางการทหาร และการสร้างอาวุธนิวเคลียร์ หากเกิดการกระทบกระทั่งกันกับอิสราเอลจึงน่ากังวล ซี่งนอกจากสถานการณ์ ณ ขณะนี้ อิสราเอลยังคงเผชิญกับกลุ่มที่ต่อต้านอีกหลายกลุ่ม เช่นกลุ่มเฮซบอลเลาะห์ ที่เลบานอน และยังมีกลุ่มที่ซีเรีย ลิเทีย  

กลุ่มต่อต้านอิสราเอลในซีเรีย  อิรัก แม้จะยังไม่มีบทบาทในขณะนี้ และอีกกลุ่มหนึ่งก็คือปาเลสไตน์สายกลาง ซึ่งอยู่ที่เวสต์แบงค์ ซึ่งหากกลุ่มเหล่านี้ลุกขึ้นมาก่อหวอดก็จะทำให้อิสราเอลต้องเผชิญกับความวุ่นวายจากหลายกลุ่ม อิสราเอลต้องอยู่ในสภาวะลำบากมากยิ่งขึ้นแต่จะไม่ขยายตัวไปจนถึงขั้นสงครามโลก

ฉากทัศน์ต่อไปของ "สงครามอิสราเอล-ฮามาส"

สถานการณ์ครั้งนี้ไม่ใช่การรบระหว่างประเทศกับประเทศเช่นรัสเซียกับยูเครน แต่เป็นการต่อสู้ระหว่างประเทศอิสราเอลกับกลุ่มติดอาวุธ ซึ่งศักยภาพของกลุ่มติดอาวุธนั้นไม่เท่าเทียมกับประเทศอิสราเอลได้ เพียงแต่สถานการณ์ในปัจจุบันอาจมีความยืดเยื้อต่อไปได้ เนื่องจากการบุกเข้ามาของกลุ่มฮามาสนั้น ย่อมต้องเผชิญกับการปราบปรามของอิสราเอล รวมไปถึงการปราบปรามกลุ่มฮามาสในพื้นที่ฉนวนกาซา เพื่อเป็นการกวาดล้าง ให้สิ้นซาก

แต่อุปสรรคของการกวาดล้างกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซาก็คือ การที่กลุ่มติดอาวุธอยู่ร่วมปะปนกับประชาชนทั่วไป ดังนั้นอิสราเอลจึงต้องใช้กองกำลังทางบก ในการเข้าไปกวาดล้างกลุ่มฮามาส เพราะฉะนั้นคำประกาศของนายกรัฐมนตรีอิสราเอล นายเบนจามิน เนทันยาฮู  ที่ว่า "long and difficult war" หรือ สิ่งที่ฮามาสจะเจอต่อจากนี้จะยากลำบากและสาหัส นั้นอาจกินเวลานานหลายเดือน นี่คือฉากทัศน์ที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้

สงครามอิสราเอล ฮามาส

หวั่น "สงครามอิสราเอล-ฮามาส" ซ้ำรอย "สงครามอาหรับ-อิสราเอล"

ดร.สมชาย กล่าวถึงความกังวลต่อสงครามอิสราเอลครั้งนี้ว่า แตกต่างจากสงครามอาหรับกับอิสราเอล เช่นในปี 1967 หรือ1973 รวมทั้งประเทศจีน หรือรัสเซีย ก็ไม่มีผลประโยชน์ที่จะต้องมาเข้าร่วม ฉะนั้นการขยายผลที่ร้ายแรงที่สุดคือการกระทบกระทั่งไปยังประเทศอิหร่าน แต่ไม่ขยายผลไปจนถึงขั้นสงครามโลก

จุดเริ่มต้นของความขัดแย้งเกิดมาจาก การก่อตั้งรัฐอิสราเอลในปี 1948 ซึ่งเผชิญกับข้อครหาว่ามายึดเอาดินแดนที่มีชาวปาเลสไตน์อาศัยอยู่ ในขณะที่รัฐปาเลสไตน์ก็ยังไม่ได้เกิดขึ้นได้เลย

ปาเลสไตน์จึงมองอิสราเอลเป็นเช่นตัวแทนของประเทศตะวันตก นำมาสู่การขยายผลเป็นสงครามระหว่างอาหรับอิสราเอล ซึ่งแตกต่างจากสถานการณ์ในขณะนี้ ที่ประเทศอิหร่านซึ่งหนุนหลังกลุ่มฮามาสนั้น เป็นประเทศมุสลิม

ในขณะที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย ที่เป็นชาติมุสลิมเช่นกัน แต่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับอิหร่านด้วย ซึ่งประเทศเหล่านี้ให้การช่วยเหลือกลุ่มปาเลสไตน์น้อยลง ผนวกกับการที่ซาอุดิอาระเบียกำลังจะมีข้อตกลงกับสหรัฐอเมริกา ว่าจะทำข้อตกลงทางการทูตกับประเทศอิสราเอล เพื่อให้เกิดการถ่วงดุลด้านความมั่นคงกับอิหร่าน ซึ่งนั่นรวมถึงด้านอาวุธและเทคโนโลยีด้วย

ทั้งหมดนี้จึงทำให้กลุ่มปาเลสไตน์ มีความกังวลว่ากำลังถูกทิ้งห่าง และประเทศซาอุดีอาระเบีย กำลังไปเป็นพันธมิตรกับกลุ่มประเทศตะวันตก จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เกิดสถานการณ์ที่กลุ่มฮามาสบุโจมตีในครั้งนี้

นอกจากนี้ สถานการณ์การเมืองภายในของประเทศอิสราเอลขณะนี้ ถือว่ามีความอ่อนแอ ประชาชนต่อต้านรัฐบาลที่ร่วมรัฐบาลกับฝ่ายขวาจัด ซึ่งได้ขยายชุมชนอิสราเอลเข้าไปในเวสแบงค์ สร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มฮามาส และชาวปาเลสไตน์แล้ว

ยังมีการไล่ล่ากลุ่มมุสลิมในช่วงเดือนรอมฎอน สร้างความเจ็บแค้นให้เกิดขึ้น ทั้งยังต้องการแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นเผด็จการ และลดอำนาจตุลาการลง ทั้งหมดนี้ทำให้อิสราเอลอ่อนแอ มีความหละหลวมในการดูแลด้านความมั่นคง

"สงครามอิสราเอล-ฮามาส" ทำน้ำมันพุ่ง หุ้นดิ่ง ประเทศไทยโดนด้วย

ดร.สมชาย กล่าวถึงการที่ราคาน้ำมันการปรับขึ้น และตลาดหุ้นที่ปรับตัวลดลงในขณะนี้ว่า เกิดขึ้นจากปัจจัยด้านจิตวิทยา ถือเป็นผลกระทบชั่วคราว 

สำหรับประเทศไทยนั้น จะได้รับผลกระทบเรื่องของแรงงานเป็นอันดับแรก ซึ่งปรากฏว่าจำนวนแรงงานไทยในประเทศอิสราเอลที่มีมากถึง 30,000 กว่าคนนั้น มีแรงงานไทยที่แสดงความประสงค์จะกลับประเทศเพียงแค่ 1,000 กว่าคนเท่านั้น

เนื่องจากสถานการณ์ที่กระทบกระทั่งมีมาแล้วหลายครั้ง เพียงแค่ครั้งนี้มีความรุนแรงมากกว่าที่ผ่านมา 

ด้านการค้าการลงทุนของประเทศไทยกับอิสราเอลถือว่าจำกัดมาก เพราะคนไทยเข้าไปลงทุนในประเทศอิสราเอลจำนวนน้อยมาก แต่อาจมีผลกระทบเรื่องการนำเข้าสินค้าจากอิสราเอลเล็กน้อย

สุดท้าย ดร.สมชายแสดงความเห็นว่า ประเทศไทยควรวางบทบาทท่าทีที่เป็นกลางต่อสถานการณ์นี้ ไม่ควรเอนเอียงอยู่ข้างใดข้างหนึ่ง และควรหลีกเลี่ยงการเรียกกลุ่มเหล่านี้ว่ากลุ่มก่อการร้าย การเรียกร้องให้ไม่เกิดความรุนแรงต่อกัน จึงเป็นบทบาทที่ดีที่สุดของประเทศไทยในขณะนี้