เปิดข้อสรุป ไทยดึง 2 ประเทศ ดันแผนชำระเงินร่วมกันผ่าน QR Code

01 ต.ค. 2566 | 08:10 น.

เปิดข้อสรุปประชุมระดับรัฐมนตรี แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย พร้อมผลักดันการชำระเงินข้ามประเทศผ่าน QR Code สนับสนุนเข้าถึงแหล่งเงินเอสเอ็มอี และพัฒนาด่านพรมแดน

การประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 29 แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle: IMT-GT) ณ เมืองบาตัม ประเทศอินโดนีเซีย โดยฝ่ายไทยมี นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะรัฐมนตรีประจำแผนงาน IMT-GT ของไทย เข้าร่วมประชุม มีข้อสรุปเกี่ยวกับความร่วมมือที่น่าสนใจหลายด้าน โดยเฉพาะเรื่องผลักดันการชำระเงินระหว่างประเทศผ่านทาง QR Code

โดยการหารือร่วมกันของสามประเทศครั้งนี้ มี นายไอร์ลังกา ฮาร์ตาร์โต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงประสานเศรษฐกิจ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย เป็นประธานการประชุมฯ และนายโมฮัมหมัด ราฟิซี บิน รัมลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ สหพันธรัฐมาเลเซียเข้าร่วม 

พร้อมด้วยผู้แทนธนาคารพัฒนาเอเชีย สำนักเลขาธิการอาเซียน และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนของทั้ง 3 ประเทศ โดยมี นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นผู้แทนระดับอาวุโสของไทย

 

การประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 29 แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT)

ไทยเสนอดัน QR Code ชำระเงินร่วมกัน

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้ให้ข้อเสนอแนะ 3 ประการเพื่อนำนโยบายของรัฐบาลสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมและเป็นการเร่งต่อยอดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของไทยในแผนงาน IMT-GT ประกอบด้วย 

1.ผลักดันการชำระเงินระหว่างประเทศผ่านทาง QR Code 

เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกการชำระเงินเพื่อการซื้อขายสินค้าและบริการของนักท่องเที่ยว โดย กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และอินโดนีเซีย ได้ร่วมกันผลักดันให้เกิดการชำระเงินระหว่างประเทศผ่านทาง QR Code เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวสามารถชำระเงินเพื่อการซื้อขายสินค้าและบริการได้โดยไม่ต้องแลกเปลี่ยนเงินตรา และสนับสนุนมาเลเซียให้มีความร่วมมือในลักษณะเดียวกันกับไทยและอินโดนีเซียต่อไป

2.เสริมสภาพคล่องและสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงิน

โดยเสริมสภาพคล่องและสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินให้กับผู้ประกอบการรายย่อยอุตสาหกรรมแปรรูปยางพาราและปาล์มน้ำมัน เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของผู้ประกอบการ SMEs ในการผลิตสินค้ายางพาราและปาล์มน้ำมันมูลค่าสูง และเสริมสร้างความแข็งแกร่งการเชื่อมต่อห่วงโซ่มูลค่าสินค้ายางพาราและปาล์มน้ำมัน

3.เร่งรัดการดำเนินงานการพัฒนาด่านพรมแดนที่เกี่ยวข้อง

โดยเร่งกันการพัฒนาด่านพรมแดนทั้งที่ด่านสะเดา และด่านสุไหงโก-ลก ร่วมกับมาเลเซีย ให้สามารถดำเนินการแล้วเสร็จในเวลาอันใกล้ต่อไป นอกจากนี้ การพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในภาคใต้ อาทิ โครงการก่อสร้าง Motor Way หาดใหญ่-สะเดา โครงการก่อสร้าง Land Bridge ชุมพร-ระนอง รัฐบาลอยู่ระหว่างการพิจารณาหารูปแบบการระดมทุนที่เหมาะสมที่สุด 

เบื้องต้นอาจเป็นรูปแบบของการออกSustainability Linked Bond รวมถึงการใช้กลไกความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) เพื่อร่วมกันพัฒนาโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ในภาคใต้ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม

 

การประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 29 แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT)

 

รับทราบความก้าวหน้า 10 ด้าน

ทั้งนี้ในการหารือรัฐมนตรีประจำแผนงาน IMT-GT ของ 3 ประเทศได้รับทราบรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานของแผนงาน IMT-GT ในแต่ละสาขาความร่วมมือ ดังนี้

1. สาขาการท่องเที่ยว มีการดำเนินโครงการและกิจกรรมภายใต้แคมเปญปีแห่งการท่องเที่ยว IMT-GT พ.ศ. 2566-2568 เพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 30 ปีแห่งการจัดตั้งแผนงาน IMT-GT อาทิ การส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในอนุภูมิภาค การฝึกอบรมทักษะการให้บริการในธุรกิจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และการสนับสนุนการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อชาวมุสลิม 

โดยในส่วนของไทยเป็นประเทศแรกที่ได้จัดตั้งช่องทางการตรวจคนเข้าเมืองเฉพาะนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวใน IMT-GT (IMT-GT Lane) ณ สนามบินนานาชาติหาดใหญ่แล้วเสร็จ 

2. สาขาความเชื่อมโยงด้านคมนาคมขนส่ง มีการดำเนินงานภายใต้โครงการความเชื่อมโยงทางกายภาพ (Physical Connectivity Projects: PCPs) ซึ่งรวมมูลค่ากว่า 5.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2.10 ล้านล้านบาท) ในปี 2566 โดยโครงการ PCPs ที่สำคัญ อาทิ โครงการก่อสร้างทางด่วนสายสุมาตรา โครงการพัฒนาท่าเทียบเรือ Ro-Ro เส้นทางดูไม-มะละกา 

โดยโครงการของไทยที่มีความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรม คือ โครงการก่อสร้างถนนเชื่อมโยงระหว่างด่านศุลกากรสะเดา-บูกิตกะยูฮิตัม โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก แห่งที่ 2 (สุไหงโก-ลก-รันเตาปันยัง) โครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ หาดใหญ่-สะเดา โครงการก่อสร้างรถไฟรางคู่ หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ และโครงการ Land Bridge ชุมพร-ระนอง

3. สาขาการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร มีการดำเนินการที่ต่อยอดจากการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยโครงการเมืองยางพาราและความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมยางในอนุภูมิภาค IMT-GT เมื่อปี 2565 ทำให้มีการลงทุนเพิ่มขึ้นทั้งในนิคมอุตสาหกรรมยางพาราจังหวัดสงขลา เซมังเคในอินโดนีเซีย และเคดะห์ในมาเลเซีย 

นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินโครงการ Super Fruits ในชูปิงวัลเลย์ รัฐปะลิส มาเลเซีย และโครงการบ่มเพาะเกษตรกรรุ่นเยาว์ในอนุภูมิภาค IMT-GT

4. สาขาการค้าและการลงทุน รัฐมนตรี IMT-GT เห็นพ้องต้องกันที่จะเร่งรัดให้มีการลงนามในกรอบความร่วมมือระหว่างรัฐบาลอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ด้านศุลกากร การตรวจคนเข้าเมือง และการกักกัน (FoC in CIQ) เพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนของสินค้าและบุคคลในอนุภูมิภาค IMT-GT

5. สาขาผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาล ได้ดำเนินโครงการฮาลาลบล็อกเชน (Halal Blockchain) โดยมีการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligent) ร่วมกับฮาลาลบล็อกเชนเพื่อทำให้กระบวนการขอเครื่องหมายรับรองฮาลาลสะดวกขึ้น

 

การประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 29 แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT)

 

6. สาขาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มีการดำเนินโครงการร่วมกัน (Regional Projects) เพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของแรงงาน และส่งเสริมการบูรณาการมาตรฐานทักษะแรงงานให้สอดคล้องกัน โดยโครงการสำคัญของไทยคือ โครงการพัฒนาสมรรถนะมาตรฐานฝีมือแรงงาน และฝึกอบรมครูฝึกในสาขาช่างเชื่อม

7. สาขาสิ่งแวดล้อม มีการดำเนินงานเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในด้านสิ่งแวดล้อมร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามกรอบการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืน (SUDF) โดยได้ร่วมมือกับ UNINET ในการศึกษา วิจัย และวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อนำมากำหนดนโยบายในการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในอนุภูมิภาค IMT-GT

8. สาขาการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัล ได้มีการดำเนินงานโครงการภายใต้ Implementation Blueprint (IB) ปี 2565-2569 โดยประเทศไทยอยู่ระหว่างเร่งรัดผลักดันแผนงานการพัฒนาการนำใช้โครงการ 5G Development ซึ่งมีกิจกรรมที่ดำเนินการอยู่จำนวน 2 กิจกรรม ได้แก่ 

  • โครงการกระตุ้นระบบนิเวศ 5G ให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G เชิงพาณิชย์ 
  • โครงการจัดทำมาตรการส่งเสริมการลงทุนและการใช้ประโยชน์เทคโนโลยี 5G

9. ความก้าวหน้าการดำเนินงานตามแผนงานเมืองสีเขียว (Green Cities) โดยเทศบาลเมืองของอนุภูมิภาค IMT-GT เข้าร่วมในเป็นเมืองสีเขียวแล้ว 42 เทศบาล ซึ่งมีแผนส่งเสริมให้เกิดการลงทุนรวมประมาณ 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในระหว่างปี 2562-2579 

นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินโครงการร่วมกับ UN-ESCAP ในการส่งเสริมการพัฒนาเมืองใน IMT-GT อย่างยั่งยืน โดยในส่วนของไทย เทศบาลเมืองทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้เริ่มการพัฒนา "ทุ่งสงเมืองน่าอยู่” และขับเคลื่อนเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศทุ่งสงแล้ว

10. ความร่วมมือของสภาธุรกิจ IMT-GT โดยรัฐมนตรีแผนงาน IMT-GT ได้แสดงความยินดีต่อผลการประชุมของสภาธุรกิจ IMT-GT ซึ่งได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างสภาธุรกิจของทั้ง 3 ประเทศ ที่เน้นเสริมสร้างความเข้มแข็งของสำนักงานเลขานุการสภาธุรกิจ IMT-GT 

ส่งผลให้สภาธุรกิจ IMT-GT สามารถดำเนินงานผลักดันแผนงานและโครงการร่วมกับคณะทำงานในสาขาความร่วมมือต่าง ๆ เวทีหารือระดับมุขมนตรีและผู้ว่าราชการจังหวัด (CMGF) และ UNINET ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดผลเป็นรูปธรรม

 

การประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 29 แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT)

 

ในช่วงท้ายของการประชุมฯ รัฐมนตรีประจำแผนงาน IMT-GT ของทั้งสามประเทศได้ร่วมกันให้การรับรองแถลงการณ์ร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 29 แผนงาน IMT-GT โดยเน้นย้ำถึงการดำเนินงานร่วมกันเพื่อพลิกฟื้น IMT-GT แสดงความยินดีต่อความก้าวหน้าและความสำเร็จของ 8 สาขาความร่วมมือและการกำหนดทิศทางการดำเนินงานในระยะถัดไป 

รวมทั้งสนับสนุนบทบาทของ CMGF และท้องถิ่นในความร่วมมือในสภานายกเทศมนตรีเมืองสีเขียวและสภาสีเขียว การสนับสนุน UNINET ในบทบาทการให้ความร่วมมือทางด้านวิชาการกับคณะทำงานในสาขาความร่วมมือต่าง ๆ ตลอดจนชื่นชมความร่วมมือของหุ้นส่วนการพัฒนา เช่น ADB และสำนักเลขาธิการอาเซียน ที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาใน IMT-GT ตลอดช่วงที่ผ่านมา

สำหรับ รัฐบาลมาเลเซียจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 30 แผนงาน IMT-GT และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ณ รัฐยะโฮร์ ในเดือนกันยายน 2567 ต่อไป

 

การประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 29 แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT)