“เอลนีโญ” ถล่ม 5 พืชเกษตรวูบ 2.7 หมื่นล้าน วัดฝีมือแก้รัฐบาลเศรษฐา

09 ก.ย. 2566 | 10:10 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ก.ย. 2566 | 10:11 น.
531

ความท้าทายรอวัดฝีมือ รัฐบาลเศรษฐา แก้ “เอลนีโญ” เตรียมถล่ม 5 พืชเกษตรหลักของประเทศไทย ในช่วงครึ่งปีหลัง 2566 สศช. ประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจ วูบ 2.7 หมื่นล้าน พร้อมแนะนำแนวทางรับมือ

รัฐบาลเศรษฐา” ของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน เจอโจทย์ใหญ่ รอวัดฝีมือตั้งแต่ยังไม่เริ่มต้นเข้าบริหารประเทศอย่างเป็นทางการแล้ว กับปัญหาความแปรปรวนของสภาพอากาศจากสภาวะอากาศสุดขั้ว จนทำให้เกิดปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” (El Nino) กระทบต่อภาคการเกษตรของไทยตั้งแต่ปีนี้ เรื่อยไปจนถึงปีหน้า 2567 

ล่าสุด สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานข้อมูลว่า ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 สภาวะ “เอลนีโญ” จะมีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้น จากนั้นในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2567 จะมีกำลังอ่อนตัวลงและกลับมามี สภาวะเอลนีโญรุนแรงต่อเนื่องไปจนถึงเดือนเมษายน 2567 

สำหรับประเทศไทยในไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 นั่นคือเดือนกรกฎาคม -กันยายน 2566 คาดว่า อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วประเทศมีแนวโน้มสูงกว่าค่าปกติ จากระดับปัจจุบันประมาณ 0.5 - 1.0 องศาฯ ขณะที่ปริมาณฝนสะสมทั่วประเทศมีแนวโน้มต่ำกว่าค่าปกติ สอดคล้องกับข้อมูลปริมาณน้ำฝนสะสมในช่วง 7 เดือนของปี 2566 ที่ต่ำกว่าระดับปกติในทุกพื้นที่ 

 

“เอลนีโญ” ถล่ม 5 พืชเกษตรวูบ 2.7 หมื่นล้าน วัดฝีมือแก้รัฐบาลเศรษฐา

โดยต่ำกว่าค่าปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 30 ปีย้อนหลัง 5% ส่งผลให้ปริมาณน้ำในเขื่อนสำหรับฤดูกาลเพาะปลูก 2566/67 มีแนวโน้มที่จะอยู่ในระดับต่ำและอาจจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตภาคการเกษตร 

ทั้งนี้ ข้อมูลปริมาณน้ำใช้ได้จริงในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำรวมทั่วประเทศ ณ วันที่ 16 สิงหาคม 2566 อยู่ที่ 15,359 ล้านลูกบาศก์เมตร (หรือคิดเป็นสัดส่วน 21.7% ของความจุระดับ น้ำเก็บกักรวม) ต่ำกว่าระดับ 18,973 ล้านลูกบาศก์เมตร ในปี 2565 (สัดส่วน 26.7%) และค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี 

แต่ยังคงสูงกว่าระดับน้ำในปี 2562 (สัดส่วน 18.5%) และปี 2558 และปี 2559 (สัดส่วน 15% และ 14.5% ตามลำดับ) ซึ่งถือเป็นปีที่สถานการณ์ภัยแล้งมีความรุนแรงและส่งผลให้การผลิตในภาคเกษตร ในปี 2558 และปี 2559 ปรับตัวลดลง 6.5% และ 1.2% ตามลำดับ เงื่อนไขดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะทำให้การผลิตภาคเกษตร ในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ได้รับผลกระทบหากปริมาณฝนในช่วงที่เหลือของปีอยู่ในระดับต่ำ

 

“เอลนีโญ” ถล่ม 5 พืชเกษตรวูบ 2.7 หมื่นล้าน วัดฝีมือแก้รัฐบาลเศรษฐา

เช็คผลกระทบ 5 พืชเกษตรไทย

เมื่อพิจารณาผลกระทบจากความแปรปรวนของสภาพอากาศ โดยอาศัยข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประเมินแนวโน้มผลผลิตสินค้าเกษตรหมวดพืชผลสำคัญ 5 รายการหลักในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 (กรกฎาคม -ธันวาคม) 

โดยเปรียบเทียบกับระหว่างกรณีฐานที่ไม่รวมปัจจัยความแปรปรวนของสภาพอากาศ ที่คาดการณ์ไว้ในเดือนพฤศจิกายน 2565 และกรณีรวมปัจจัยความแปรปรวนของสภาพ อากาศที่คาดการณ์ในเดือนมิถุนายน 2566 พบข้อมูลดังนี้

1.ข้าว 

มีสัดส่วน 21.73% ของปริมาณผลผลิตภาคเกษตร คาดว่าจะมีผลผลิตจำนวน 25.50 ล้านตัน ลดลงจากผลผลิตจำนวน 26.79 ล้านตัน ที่คาดไว้เดิมในกรณีฐาน ซึ่งยังไม่รวมปัจจัยความแปรปรวนของสภาพอากาศ คิดเป็นการลดลง 4.8% จาก การคาดการณ์ครั้งก่อน และส่งผลให้มูลค่าข้าวลดลงจากกรณีฐาน 14,241.78 ล้านบาท 

2.ยางพารา 

มีสัดส่วน 20.23% ของปริมาณผลผลิตภาคเกษตร คาดว่าจะมีผลผลิตจำนวน 3.10 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากผลผลิตจำนวน 3.04 ล้านตันที่คาดไว้ หรือเพิ่มขึ้น 2.1% จากการคาดการณ์ครั้งก่อน ส่งผลให้มูลค่ายางพาราเพิ่มขึ้น 2,274.61 ล้านบาท 

3.ปาล์มน้ำมัน 

มีสัดส่วน 1.92% ของปริมาณผลผลิตภาคเกษตร คาดว่าจะมีผลผลิตจำนวน 8.03 ล้านตัน ลดลงจากผลผลิตจำนวน 8.82 ล้านตันที่คาดไว้ หรือลดลง 9% จากการคาดการณ์ครั้งก่อน ส่งผลให้มูลค่าปาล์มน้ำมันลดลง 3,803.79 ล้านบาท 

4.อ้อย 

มีสัดส่วน 3.31% ของปริมาณผลผลิตภาคเกษตร คาดว่าจะมีผลผลิตจำนวน 15.04 ล้านตัน ลดลง 35.7% จากการคาดการณ์ครั้งก่อน ส่งผลให้มูลค่าอ้อยลดลงเป็นจำนวน 10,436.26 ล้านบาท 

5.มันสำปะหลัง 

มีสัดส่วน 3.29% ของปริมาณผลผลิตภาคเกษตร คาดว่าจะมีผลผลิตจำนวน 8.67 ล้านตัน ลดลง 5.9% จากการคาดการณ์ครั้งก่อน ส่งผลให้มูลค่ามันสำปะหลังลดลงเป็นจำนวน 1,615.58 ล้านบาท

 

ภาพประกอบข่าว “เอลนีโญ” เตรียมถล่ม 5 พืชเกษตรหลักของประเทศไทย ในช่วงครึ่งปีหลัง 2566

 

โดยรวมในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 คาดว่า ผลผลิตสินค้าเกษตรหมวดพืชผลสำคัญ 5 รายการหลักจะมีจำนวนรวม 60.33 ล้านตัน ลดลงจากการคาดการณ์ครั้งก่อนจำนวน 10.90 ล้านตัน ทำให้คาดว่ากรณีมีความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศจากเอลนีโญ จะส่งผลให้มูลค่าทางเศรษฐกิจของสินค้าเกษตร 5 รายการหลักมีแนวโน้มลดลงประมาณ 27,822.79 ล้านบาท 

ดังนั้น ภายใต้แนวโน้มของการเผชิญสภาวะเอลนีโญในปัจจุบันที่อาจส่งผลกระทบให้เกิดภาวะภัยแล้งในระยะต่อไป ประเทศไทย จึงควรเตรียมความพร้อมโดยการเฝ้าระวัง ติดตาม และประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อการดำเนินมาตรการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้เพียงพอต่อการผลิต 

โดยให้ความสำคัญต่อการจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่เพาะปลูก การเพิ่มศักยภาพการกักเก็บน้ำในระดับแปลง และการหาแหล่งน้ำสำรอง ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการปรับเปลี่ยนชนิดและวิธีการปลูกพืชให้เหมาะกับพื้นที่