จากอิทธิพลของปรากฏการณ์เอลนีโญที่เกิดขึ้นในขณะนี้ รัฐบาลมีความห่วงใยประชาชนในพื้นที่ที่กำลังประสบปัญหาเป็นอย่างมาก เนื่องจากปริมาณฝนที่ตกน้อยกว่าค่าปกติในหลายพื้นที่ และแหล่งนํ้ามีปริมาณนํ้าจำกัด เสี่ยงขาดแคลนนํ้าเพื่อการอุปโภคบริโภค
“กรมฝนหลวง และการบินเกษตร” หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีภารกิจหลักในการปฏิบัติการสร้างฝนเทียม บริหารจัดการนํ้าในชั้นบรรยากาศ และสนับสนุนด้านการบินในด้านการเกษตร จะมีแผนรับมือเอลนีโญ รวมถึงจะมีข้อเสนอรัฐบาลชุดใหม่อย่างไรบ้างนั้น “ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์ “นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม” อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ดังรายละเอียด
แผนสะดุดงบหมดปลาย มิ.ย.
นายสุพิศ กล่าวว่า ทาง กรมฯได้แผนเตรียมรับมือในเรื่องสภาวะเอลนีโญมีทั้งทางด้านวิชาการและแผนปฏิบัติการ โดยได้มีการหารือกันอย่างเข้มข้น แต่ยังมีอุปสรรคเรื่องงบประมาณ จากในแต่ละปีที่ผ่านมารัฐบาลจัดสรรงบให้กับกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เฉลี่ยปีละ 2,000 ล้านบาทเศษ ล่าสุด ปี 2567 ของบ ไป 7,000 ล้านบาท แต่ได้รับการจัดสรรเพียง 2,161 ล้านบาท ซึ่งไม่เพียงพอกับภารกิจหลักในการสร้างฝนเทียม เพราะแค่ค่าเงินเดือน ค่าจ้าง และค่าใช้จ่ายประจำ งบผูกพันก็ประมาณกว่า 1,000 ล้านบาท ส่วนงบทำฝนหลวงได้ขอไป 600 ล้านบาท แต่สำนักงบประมาณจัดมาให้ 312 ล้านบาท โดยใช้ใน 77 จังหวัด เฉลี่ยแล้วจะได้กี่บาท ทั้งที่โครงการนี้มีประโยชน์มาก
“ปัจจุบันค่านํ้ามันเครื่องบินหมดไปแล้วตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายน ต้องโยกงบอื่นมาเกลี่ย ทั้งที่มีความจำเป็นเช่นเดียวกัน ทั้งนี้เพื่อให้พอแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ อีกด้านหนึ่งก็ขอเพิ่มอีกกว่า 300 ล้านบาท แต่ยังไม่ได้รับอนุมัติทั้งที่การทำฝนหลวงเป็นภารกิจเร่งด่วน แต่ขอไปทำอย่างอื่นอนุมัติทันที ทั้งที่ผ่านมาเราได้ปฏิบัติภารกิจมากมาย ทั้งช่วยแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และภาคเหนือ ดับไฟป่า แก้ปัญหาฝนทิ้งช่วงให้เกษตรกรในจังหวัดต่าง ๆ ที่ร้องขอมา เวลานี้เครื่องบินเราบินได้แค่ 20 กว่าลำ จากทั้งหมด 40 ลำ เพราะไม่ให้งบประมาณมา ตรงนี้เราจำเป็นต้องสะท้อนปัญหา เพราะเป็นข้อเท็จจริง เพื่อให้นักบริหารได้เข้าใจ”
ขอสนามบินเพิ่มสู้ “เอลนีโญ”
นายสุพิศ กล่าวอีกว่า การเกิด “เอลนีโญ” สำหรับประเทศไทยมองว่าไม่ใช่ปัญหาเพราะเรามีฝนหลวง ซึ่งเป็นตำราพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่สามารถแก้ปัญหาจากเอลนีโญ ฝนตกน้อยได้ โดยการ "ทำฝนหลวง" ไม่จำเป็นเริ่มตั้งแต่ก่อเมฆ แต่สามารถโจมตีเมฆให้ควบแน่นและตกเป็นฝนลงบนพื้นที่เป้าหมายได้เลย ตนไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ แต่เมื่อได้รับมอบหมายแล้ว ก็มาเรียนรู้โดยเชิญนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญมานั่งติวให้ทุกวัน ตั้งแต่นั่งเป็นรองอธิบดี กระทั่งก้าวขึ้นสู่อธิบดี
หวังเพิ่มงบฝนหลวง 4 พันล้าน
ทั้งนี้ “เอลนีโญ” ที่ทำให้เกิดภัยแล้ง จากฝนตกน้อย กรมฝนหลวงฯ ช่วยได้ ซึ่งหากพูดภาพใหญ่ของการบริหารเพื่อรับมือเอลนีโญ และการน้อมนำพระบรมราโชบายของในหลวงรัชกาลที่ 10 เรื่องการสืบสานและต่อยอด เช่นเครื่องบิน สนามบิน สารฝนหลวง ต้องพัฒนา และต้องใช้งบเพิ่มในส่วนนี้ ไม่ใช่ให้งบแบบงบประจำ เพราะต้องใช้งบในการสร้างนักวิทยาศาสตร์ สร้างงานวิจัย ต้องพัฒนา จะใช้วิธีโปรยเกลือเหมือนเดิมไม่ได้ ต้องคิดแบบแนวอื่น ซึ่งจะต้องให้งบวิจัยมาด้วย ในส่วนนี้ของบไป 10 ล้านบาท แต่ได้มาเพียง 5 แสนบาท
อธิบดีกรมฝนหลวงฯ ได้ยกตัวอย่าง ปัจจุบันกรมฯมีสนามบินฝนหลวงที่จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อปฏิบัติภารกิจในพื้นที่ภาคเหนือ (อีกแห่งมีสนามบินฝนหลวงที่ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี) ซึ่งยังไม่เพียงพอ ดังนั้นควรจะมีพัฒนาสนามบินอื่น ๆ เพิ่มเติม โดยกระทรวงคมนาคมควรยกสนามบินที่ไม่ใช้แล้ว 10-20 ปี ที่รกร้าง และไม่ได้ใช้ทำอะไรแล้ว โอนให้กรมฝนหลวงฯ มาพัฒนา เพื่อเป็นที่ฐานปฏิบัติการฝนหลวงให้ครบวงจร และให้มีทั่วทุกภาค ตรงนี้คือความหมายของการต่อยอด ส่วนค่าทำฝนเทียม เป็นงบดำเนินงานเป็นค่านํ้ามัน เครื่องบิน ค่าล่วงเวลาเจ้าหน้าที่ ค่าสารฝนหลวง และค่าอุปกรณ์ต่าง ๆ โดยปี 2566 ของบไปกว่า 600 ล้านบาท แต่ได้มาเพียง 312 ล้านบาท
“ผมเหลือเวลา 2 ปีในตำแหน่งอธิบดี ดังนั้นจึงขอพูดเพื่อให้คนรุ่นหลัง และผู้ใหญ่ระดับบริหารได้รับทราบความจริง ทั้งนี้แม้รัฐบาลได้เห็นชอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 (วงเงิน 3.35 ล้านล้านบาทไปแล้วเมื่อเดือนมีนาคม) แต่ก็คาดหวังรัฐบาลใหม่จะรื้องบประมาณใหม่ และคาดหวังงบทำฝนหลวงจะได้เพิ่มปีละ 4,000 ล้านบาท สามารถสู้ภัยเอลนีโญได้อย่างแน่นอน และจะส่งผลให้ประเทศไทยสามารถพลิกวิกฤตเป็นโอกาสในการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารที่อยู่ในช่วงขาขึ้น จากหลายภูมิภาคของโลกขาดแคลนอาหาร” นายสุพิศ กล่าวตอนท้าย
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,915 วันที่ 20-23 สิงหาคม พ.ศ. 2566
ข่าวที่เกี่ยวข้อง