แม้จะยังไม่มีการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน แต่ภาคเอกชน ตลอดจนประชาชนต่างคาดหวังว่า จะนำทัพบริหารประเทศและขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง จึงต่างฝากความหวังพร้อมข้อเสนอแนะเพื่อให้เร่งแก้ปัญหาและเดินหน้าได้ตรงจุด
นายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า อยากให้รัฐบาลใหม่เร่งแก้ปัญหาประชาชนในระดับล่างและกลาง เพราะวันนี้ประชาชนทั้ง 2 กลุ่มนี้ต้องเผชิญกับวิกฤตต่างๆมายาวนาน ทำให้ไม่มีเงิน ไม่มีรายได้เพิ่ม จนขาดความเชื่อมั่น ดังนั้นจึงต้องรีบดึงเขาออกจากวังวนความยากจน เพราะที่ผ่านมารัฐบาลมัวแต่โฟกัสกลุ่มทุนใหญ่ ให้เข้ามาลงทุน แต่ลืมส่งเสริมการลงทุนของผู้ประกอบการรายย่อยในประเทศเอง
“ต้องยอมรับว่ากลุ่มคนระดับกลาง และล่างไม่ได้รับสิทธิจากภาครัฐ ได้เพียงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เป็นการเยียวยา เล็กๆ น้อยๆ ซึ่งก็ต้องนำเงินไปซื้อของจากนายทุนใหญ่ อย่างไรก็ดีเมื่อมีรัฐบาลใหม่ ก็อยากเห็นวิธีการที่เปลี่ยนแปลงจากแนวคิดเดิม ซึ่งเรามีงบประมาณที่จะใส่เข้ามากกว่า 5 แสนล้านบาท จากการจ่ายเงินดิจิทัล สุดท้ายเงินก้อนนี้ก็จะกลับไปสู่นายทุนอยู่ดี เพราะยังไม่มีมาตรการที่จะส่งเสริมให้รายย่อย
ขณะที่กลุ่มที่จะมีปัญหาเพิ่มมากขึ้นในประเทศไทย คือ กลุ่มคนสูงอายุ ที่ขณะนี้ยังไม่มีมาตรการรองรับ การว่างงาน จะรอแค่เงินที่เพิ่มจาก 600 บาทเป็น 700 บาทเป็น 3,000 บาท นั้น ในระยะยาวก็เท่ากับว่าเป็นการเพิ่มขึ้นและไปกระทบงบประมาณของประเทศ เมื่องบประมาณของประเทศเพิ่มไปด้วย ก็ต้องไปเก็บภาษีเพิ่มจากนายทุนใหญ่ นายทุนใหญ่เมื่อเจอเก็บภาษีเพิ่ม ก็ไปปรับเพิ่มขึ้นราคาสินค้า ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ นอกจากนี้ค่าแรงที่จะปรับขึ้น ก็จะสร้างภาระให้กับภาคอุตสาหกรรมอีก ผลที่ตามมาคือ ของแพงขึ้น เงินที่ได้มาก็ไม่เพียงพอ
วันนี้ทุกคนจะไปพึ่งงบประมาณของประเทศไม่ได้ ต้องพึ่งพาศักยภาพของตนเอง เราอยากให้ภาครัฐมาดูตรงนี้และเปลี่ยนแนวคิดที่จะเติมเงินให้คนระดับล่าง กลาง และคนแก่ มาเป็นการให้เขาใช้ศักยภาพ มาทำงาน ที่รัฐบาลส่งเสริม หรือให้สิทธิพิเศษในโครงสร้างภาษี ซึ่งคนกลุ่มนี้อาจจะพัฒนาแต่ไม่ทันกับการเปลี่ยนปลง ภาครัฐต้องมาคิดว่า เขาควรจะได้สิทธิอะไรที่พึงจะได้ และมองมากกว่าการแจกเงินหรือให้เงิน”
ขณะที่อยากขอให้รัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน ควรส่งเสริมคนระดับล่าง เช่นการนำเทคโนโลยีมาใช้ การเพิ่มช่องทางการค้าขาย ซึ่งทุกวันนี้ต้องเช่าพื้นที่ของห้างใหญ่ ต้นทุนจึงสูง ควรมีตลาดสำหรับคนจน ตลาดเกษตรกร เปิดเวทีให้ เช่นเดียวกับในอดีตที่เคยทำสนามหลวงให้เป็นแหล่งซื้อขายสินค้าสำหรับคนทั่วไป ซึ่งในปัจจุบันอาจจะจัดสรรพื้นที่ของภาครัฐ เช่น สวนจตุจักร ให้เป็นตลาดสำหรับคนจนก็ได้
นายภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร MI GROUP กล่าวว่า แม้ตอนนี้จะมีครม.ที่ชัดเจน แต่รัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยหลายนโยบายที่มีความคาดหวังยังไม่เห็นผลปีนี้แน่นอนแต่อาจจะเห็นผลในเชิงจิตวิทยาเพราะนอกจากปัจจัยที่เน้นในเรื่องของการท่องท่องเที่ยวที่สามารถทำได้เลยทันทีแล้วปัจจัยอื่นที่เป็นเชิงบวกคาดว่าจะเกิดขึ้นเร็วสุดคือต้นปีหน้าหรือช่วงก่อนสงกรานต์
“ถ้าตัดเรื่องการเมืองทิ้งไป การเห็นหน้าตาครม.ที่ชัดเจนมันย่อมเดาทางได้แล้วว่านโยบายที่น่าจะเกิดขึ้นแน่นอนมีอะไรบ้าง ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดคือนโยบายเรื่องของเงินดิจิทัล 10,000 บาท แน่นอนทุกคนคาดหวังว่าต้องมีแน่นอน แต่ทุกคนก็ทำใจไปแล้วว่าจะมีปีหน้า
เพราะฉะนั้นทุกคนเห็นภาพแล้วว่าในอนาคต เงินดิจิทัล 10,000 บาทอาจจะเข้ามาช่วยร้านค้าของตัวเอง เพราะฉะนั้นความเชื่อมั่นของคนจะเริ่มมี แน่นอนมันมีคนทั้งที่เฟลล์และคนที่พอใจ การเห็นโฉมหน้ารัฐบาลจะทำให้เห็นความชัดเจนของนโยบายที่หาเสียงไว้ 4-5 ข้อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเงินดิจิตอล เรื่องของการส่งเสริมการท่องเที่ยว เรื่องของsoft power และเรื่องของค่าแรงขั้นต่ำ”
แต่ก็ชัดเจนว่าค่าแรงขั้นต่ำเงิน เดือนของคนจบปริญญาตรีเป็นเรื่องของระยะยาว ไม่ใช่เรื่องที่สามารถทำได้เลยในปีหน้า แต่เป็นผลตอนจบของรัฐบาล เพราะฉะนั้นเหล่านี้เป็นผลที่อาจจะส่งผลดีในเชิงของจิตวิทยา สั้นที่สุดก็คือเรื่องของการท่องเที่ยวที่ดูแล้วเหมือนสามารถทำได้เลยและอาจจะทำให้เห็นผลได้อย่างชัดเจนเพราะเมื่อต่างชาติเดินทางเข้ามา ทั้งโรงแรม ร้านอาหาร สายการบิน ค้าปลีกห้างสรรพสินค้าจะไปได้ก่อน เพราะได้อานิสงส์โดยตรงแต่อื่นๆยังต้องรอ
เพราะฉะนั้นสิ่งที่เควรจะทำเป็นอันดับต้นๆและตอนนี้กำลังทำอยู่นั่นคือสิ่งที่ใกล้ตัวประชาชน 60-70 ล้านคน คนจะรวยจะจนก็คือเรื่องของเศรษฐกิจอยู่แล้วแต่จะเป็นเศรษฐกิจในบริบทไหนแน่นอน ไพออริตี้หลักคือคนที่ฐานะปานกลางถึงต่ำ เช่นอย่างตอนนี้ที่เขาลงไปภูเก็ตนั่นหมายความว่าเขาจะเอาจริงเอาจังในเรื่องของการปลุกท่องเที่ยวเพราะเป็นเรื่องแรกที่ทำได้เลยไม่ต้องรออะไรทั้งสิ้น เพราะเขาคิดว่าการที่นักท่องเที่ยวจีนเข้ามาเศรษฐกิจก็คงไปได้
ด้านผศ.ดร.เอกก์ ภทรธนกุล หัวหน้าภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลใหม่ควรดำเนินการเกี่ยวกับอุตสาหกรรมค้าปลีก คือ การดึงเอกชนที่มีความเข้าใจเรื่องค้าปลีกเข้ามาช่วยในการกำหนดนโยบายและเปลี่ยนแนวคิดที่ยังผูกติดกับมุมมองเดิมๆ เช่น ภาษี ซึ่งจะเห็นบริษัทต่างชาติที่ใช้ช่องว่างทางภาษีบางอย่าง และคนไทยเองเสียเปรียบในเรื่องนี้ซึ่งพบเห็นมากในออนไลน์ ซึ่งผู้ที่จะเข้ามาต้องเข้าใจในเทคโนโลยี และโลกที่เปลี่ยนแปลง สิ่งนี้เป็นประเด็นสำคัญ
การบ้านที่อยากฝากรัฐบาลใหม่ คือ การให้ความสำคัญใน 3 กระทรวงได้แก่
1.กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งวันนี้ “ท่องเที่ยว” มีความสำคัญมาก เพราะขาอื่นได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกมากพอควร ขณะที่การท่องเที่ยวไทยแข็งแรง ราคาถูกและมีคุณภาพซึ่งเป็นที่ต้องการของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก
2. กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งควรจะเข้ามาดูแลลดความขัดแย้งในสังคม และมุ่งเดินไปข้างหน้า
3. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเป็นกระทรวงที่มีความสำคัญ เพราะทุกวันนี้ดิจิทัลเข้ามามีบทบาทมาก จึงควรมีผู้ดูแล เพื่อสร้างผลประโยชน์ เพิ่มโอกาสให้กับประเทศ
หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,919 วันที่ 3 - 6 กันยายน พ.ศ. 2566