“เศรษฐา” เมินตั้ง ครม.เศรษฐกิจ สั่งแยกตัวทำงานสื่อสารให้ดี

07 ก.ย. 2566 | 11:54 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ก.ย. 2566 | 12:03 น.
1.3 k

นายกฯ “เศรษฐา” เมินตั้ง ครม.เศรษฐกิจ รับไม่จำเป็น เสียเวลาเตรียมเอกสาร ขอให้แยกตัวกันทำงาน สื่อสารให้ดี เชื่อทำงานได้เร็วกว่า ส่วน ครม.สัญจร ยันมีแน่นอน ส่วนเมื่อไหร่จะขอแจ้งอีกครั้ง

วันนี้ (7 กันยายน) ที่พรรคเพื่อไทย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงแนวการตั้งคณะรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ หรือ ครม.เศรษฐกิจ ว่า ขณะนี้เห็นว่าการตั้งครม.เศรษฐกิจคงไม่มีความจำเป็น แต่การประชุมครม.นอกสถานที่ หรือ ครม. สัญจร จะมีแน่นอน ส่วนเมื่อไหร่จะขอแจ้งอีกครั้ง

“เรื่อง ครม.เศรษฐกิจ คิดว่า การทำงานสมัยนี้ ไม่จำเป็นต้องมานั่งล้อมวง เสียเวลาในการเตรียมเอกสารค่อนข้างมาก จึงใช้วิธีทำงานอย่างรวดเร็ว และจับกลุ่มพูดคุย แยกตัวกันทำงานดีกว่า ปัจจุบันมีวิธีการสื่อสารหลายวิธี จึงคิดว่า ครม.เศรษฐกิจ คงไม่จำเป็น แต่มั่นใจว่า เรื่องทุกเรื่องจะเดินหน้าได้เร็วกว่าที่ทำอยู่ทุกวันนี้” นายเศรษฐา ระบุ

 

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประชุมครม.

สำหรับการตั้งครม.เศรษฐกิจนั้น หากย้อนหลังไปในรัฐบาลก่อนหน้า ได้มีการตั้ง ครม.เศรษฐกิจ ขึ้นมาติดตามงานด้านเศรษฐกิจ และพิจารณาโครงการสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นการเฉพาะ โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เช่น ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีการตั้งครม.เศรษฐกิจ ซึ่งจะประชุมหลังจากวันประชุมครม.ชุดใหญ่แล้ว

ต่อมาในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีการประชุมครม.เศรษฐกิจในช่วงแรก แต่เป็นการทำงานผ่านการประชุมคณะทำงานกำกับการบริหารนโยบายเศรษฐกิจ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อพิจารณาโครงการ และมาตรการต่าง ๆ เกี่ยวกับเศรษฐกิจ

ส่วนในสมัยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีการตั้งคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ทำหน้าที่พิจารณากลั่นกรองเรื่องสำคัญที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม รวมทั้งประเด็นด้านการเงิน การคลัง การภาษีอากร การค้าการลงทุน เกษตรกรรม การคมนาคมและโลจิสติกส์ การท่องเที่ยว การพลังงาน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย นวัตกรรมและดิจิทัลเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรม โดยมีนายกฯ เป็นประธานเช่นกัน 

 

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประชุมครม.

นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า รัฐบาลปัจจุบัน คงไม่จำเป็นต้องมี ครม.เศรษฐกิจ เพราะ ครม.ก็มีเรื่องเศรษฐกิจเข้ามาหารืออยู่แล้ว แต่จะมีคณะกรรมการกลั่นกรอง ที่มีนายกฯ เป็นประธาน กลั่นกรองเรื่องต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นวิธีการทำงานที่เร็ว แทนที่จะมานั่งประชุมให้เสียเวลา โดยจะมีทั้งเรื่องเศรษฐกิจ และความมั่นคงด้วย

สำหรับกระทรวงสำคัญด้านเศรษฐกิจของไทยนั้น ปัจจุบันพบว่า มีด้วยกันอย่างน้อย 9 กระทรวงด้วยกัน ประกอบด้วย

  • กระทรวงการคลัง
  • กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
  • กระทรวงคมนาคม
  • กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
  • กระทรวงพลังงาน
  • กระทรวงพาณิชย์
  • กระทรวงแรงงาน
  • กระทรวงอุตสาหกรรม
  • กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา