สรุปมติครม.นัดแรก “รัฐบาลเศรษฐา” วางกรอบทำงานหลังแถลงนโยบาย

07 ก.ย. 2566 | 04:11 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ก.ย. 2566 | 09:13 น.
810

สรุปมติครม.นัดแรก “รัฐบาลเศรษฐา” วันที่ 6 กันยายน 2566 ซึ่งถือเป็นการประชุม ครม.นัดพิเศษ ก่อนการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา วางกรอบการทำงานของ ครม. การเสนอเรื่อง พร้อมวาระแต่งตั้ง รวมไว้ที่นี่ครบ

สรุปผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งแรกของรัฐบาล เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2566 ซึ่งถือเป็นการประชุม ครม.นัดพิเศษ ก่อนการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา โดยมีเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุม ครั้งแรก ที่ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล  

ทั้งนี้ในการประชุมใช้เวลาเพียงแค่สั้น ๆ ประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง โดยมีเรื่องเสนอเข้ามาบรรจุในวาระการประชุมเพียงแค่ 6 เรื่องเท่านั้น ฐานเศรษฐกิจ สรุปรายละเอียดดังนี้ 

1.การจัดทำคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา

ครม.มีมติเห็นชอบร่างคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา ตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เสนอ และมอบหมายให้ สลค. รับไปประสานรวมทั้งดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น การจัดพิมพ์ และแจกจ่ายเอกสารคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี  ต่อรัฐสภาต่อไป

โดยกำหนดวันแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา วันจันทร์ที่ 11 กันยายน 2566 พร้อมทั้งมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศแปลคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีเป็นภาษาอังกฤษ

 

สรุปผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งแรกของรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน

2.การกำหนดวิธีการประชุมครม.

ครม.มีมติเห็นชอบการกำหนดวิธีการประชุมคณะรัฐมนตรี ตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เสนอ สาระสำคัญของเรื่องกำหนดว่า การประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นเครื่องมือหลักในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลซึ่งตามนัยพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 มาตรา 8 วรรคสาม 

บัญญัติให้วิธีการประชุมคณะรัฐมนตรีจะดำเนินการโดยเชิญรัฐมนตรีมาร่วมประชุม ณ สถานที่ที่กำหนด หรือโดยวิธีอื่นใดซึ่งผู้ร่วมประชุมสามารถปรึกษาหารือกันได้แม้จะมิได้อยู่ในสถานที่เดียวกันก็ได้ ทั้งนี้ ตามที่นายกรัฐมนตรีกำหนด 

ดังนั้น สลค. จึงขอเสนอวิธีการประชุมคณะรัฐมนตรีโดยยึดหลักความสอดคล้องกับพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและ การประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 โดยมีองค์ประกอบเช่น การกำหนดวัน เวลา และสถานที่ประชุมคณะรัฐมนตรี โดยจะจัดการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการกรณีปกติในทุกวันอังคาร ตั้งแต่เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล 

รวมทั้งกำหนดองค์ประกอบของการประชุมคณะรัฐมนตรี เช่น องค์ประชุมคณะรัฐมนตรี คือการประชุมคณะรัฐมนตรีในกรณีปกติให้ดำเนินการได้เมื่อมีรัฐมนตรีเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนคณะรัฐมนตรีทั้งหมดที่มีอยู่ โดยจำนวนผู้เข้าร่วมประชุมให้รวมถึงผู้เข้าร่วมประชุมโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศซึ่งสามารถปรึกษาหารือกันได้แม้จะมิได้อยู่ในสถานที่เดียวกัน

 

สรุปผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งแรกของรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน

3.การเสนอวาระต่าง ๆ เขามายัง ครม.

ครม.มีมติเห็นชอบ แนวทางปฏิบัติของหน่วยงานของรัฐในการเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี และการจัดวาระ เพื่อเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีเป็นวาระเพื่อทราบ หากไม่มีข้อทักท้วงให้ถือเป็นมติคณะรัฐมนตรีตามที่เสนอ

4.การมอบหมายงานกลั่นกรองเรื่องเสนอนายกฯ

ครม.มีมติเห็นชอบ การมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ตรวจพิจารณา  ร่างมติคณะรัฐมนตรี และให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเสนอเรื่องผ่านรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลด้านกฎหมายเป็นผู้พิจารณากลั่นกรองเสนอก่อนเสนอนายกรัฐมนตรีในเรื่องต่อไปนี้

  • เรื่องการดำเนินคดีในศาลปกครองในกรณีที่คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีถูกฟ้องในคดีปกครอง
  • เรื่องการดำเนินคดีในศาลรัฐธรรมนูญในกรณีคณะรัฐมนตรีเป็นผู้ถูกร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ
  • เรื่องเกี่ยวกับกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ

 

สรุปผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งแรกของรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน

 

5.การมอบหมายให้รัฐมนตรีเป็นผู้รักษาราชการแทน

ครม.รับทราบ แนวทางการมอบหมายให้รัฐมนตรีเป็นผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวง หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ประกอบด้วย

  • กรณีที่มีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง ให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเป็นผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวง
  • กรณีที่มีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงหลายคน ให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณามอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวง
  • กรณีที่ไม่มีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณามอบหมายให้รัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวง

6.การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง

ครม.มีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอการแต่งตั้ง นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2566 เป็นต้นไป