สศช. เปิดตัวเลขหนี้ภาคเอกชนไทย ยังพุ่งทะยาน 171.2% ต่อจีดีพี

28 ส.ค. 2566 | 04:21 น.
678

สศช. เปิดรายงานตัวเลขหนี้เอกชนไทย ยังพุ่งสูงกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด โดยอยู่ที่ระดับ 171.2% ต่อจีดีพี สูงกว่าค่าเฉลี่ยภูมิภาค พร้อมจับตาหนี้เสีย ยังอยู่ในระดับสูง เช็คข้อมูลทั้งหมดรวมไว้ที่นี่

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานข้อมูลหนี้สินภาคครัวเรือนและมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้อย่างยั่งยืน พบว่า หนี้สินภาคเอกชน ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (Gross Domestic Product : GDP) ของไทย ณ สิ้นไตรมาสแรกของปี 2566 อยู่ที่ 171.2%

ทั้งนี้แม้สัดส่วนจะลดลงจาก 178.6% ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่ยังคงสูงกว่าระดับเฉลี่ยของประเทศในภูมิภาค 131.5% และประเทศที่พัฒนาแล้ว 126% และอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับ 153.8% ต่อ GDP ในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ณ สิ้นไตรมาสแรกของปี 2562

ส่วนข้อมูล ณ สิ้นไตรมาสแรกของปี 2566 หนี้สินภาคครัวเรือนของไทยมีสัดส่วนคิดเป็น 90.6% ต่อ GDP แม้จะปรับตัวลดลงจากระดับสูงสุด 95.5% ต่อ GDP ณ สิ้นไตรมาสแรกของปี 2564 แต่ยังคงอยู่ในระดับสูง โครงสร้างหนี้สินภาคครัวเรือน ประกอบด้วย 

  • การกู้ยืมเงินเพื่อจัดหาที่อยู่อาศัย (33.5% ของสินเชื่อครัวเรือน) 
  • เพื่อการอุปโภคบริโภค (26.8% ของสินเชื่อครัวเรือน) 
  • เพื่อประกอบอาชีพ (18.2% ของสินเชื่อครัวเรือน) 
  • เพื่อซื้อ/เช่าซื้อ รถยนต์และจักรยานยนต์ (11.3% ของสินเชื่อครัวเรือน) 
  • อื่น ๆ (10.1% ของสินเชื่อครัวเรือน) 

ทั้งนี้ หนี้ที่ควรต้องให้ความสำคัญและเร่งแก้ไข คือหนี้ที่ค้างชำระเป็นระยะเวลานานหรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้

 

หนี้สินภาคเอกชนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (Gross Domestic Product : GDP) ของไทย ณ สิ้นไตรมาสแรกของปี 2566

NPL สิ้นไตรมาสแรกปี 66 แตะ 9.5 แสนล้าน

จากฐานข้อมูลของบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ พบว่า บัญชีลูกหนี้ที่ค้างชำระเกิน 90 วัน (Non-Performing Loans : NPLs) ณ สิ้นไตรมาสแรก ของปี 2566 มีมูลค่า 9.5 แสนล้านบาท (จำนวน 9.4 ล้านบัญชี) เทียบกับ 7.8 แสนล้านบาท (จำนวน 5.7 ล้านบัญชี) ในไตรมาสแรกของปี 2562 

ในจำนวน นี้เป็น NPLs ในระบบธนาคารพาณิชย์ 5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 2.7% ของสินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์ทั้งหมด เทียบกับมูลค่า 4.5 แสนล้านบาท ในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ณ สิ้นไตรมาสแรกของปี 2562 

สำหรับ NPLs ในสาขาที่สำคัญ ประกอบด้วย 

  • สาขาการอุปโภค บริโภคส่วนบุคคล สัดส่วน 29% ของ NPLs ทั้งหมด อาทิ การจัดหาที่อยู่อาศัย และการเช่าซื้อรถยนต์ 
  • สาขาการขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ สัดส่วน 24% ของ NPLs ทั้งหมด
  • สาขาการผลิต สัดส่วน 20.4% ของ NPLs ทั้งหมด 

 

หนี้สินภาคเอกชนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (Gross Domestic Product : GDP) ของไทย ณ สิ้นไตรมาสแรกของปี 2566

NPL ในระบบแบงก์รัฐ 2.8 แสนล้าน

สำหรับ ในระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) NPLs มีมูลค่า 2.8 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 4.2% ของสินเชื่อในระบบ SFIs ทั้งหมด เทียบกับมูลค่า 2.0 แสนล้านบาท ในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ณ สิ้นไตรมาสแรกของปี 2562 โดยสาขาที่สำคัญ ประกอบด้วย 

  • สาขาการอุปโภคบริโภค ส่วนบุคคล สัดส่วน 44.9% ของ NPLs ทั้งหมด อาทิ การจัดหาที่อยู่อาศัย และการอุปโภคบริโภคอื่น ๆ ที่ไม่มีหลักประกัน 
  • สาขาเกษตรกรรม การป่าไม้ และการประมง สัดส่วน 31.2% ของ NPLs ทั้งหมด
  • สาขาการขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และ จักรยานยนต์ สัดส่วน 5.9% ของ NPLs ทั้งหมด

 

ภาพประกอบข่าว หนี้สินครัวเรือน และ สัดส่วน NPL

 

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา ภาครัฐโดยเฉพาะธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลภาคการเงินได้ร่วมกับสถาบันการเงินต่าง ๆ แก้ไขปัญหาหนี้สินในภาคครัวเรือนมาอย่างต่อเนื่อง แบ่งเป็น 2 ส่วนสำคัญ ประกอบด้วย 

1. การแก้ไขปัญหาหนี้สินเดิม อาทิ มาตรการสนับสนุน การรีไฟแนนซ์ มาตรการสนับสนุนการรวมหนี้ โครงการคลินิกแก้หนี้ เป็นต้น 

2. การเสริมสภาพคล่อง อาทิ การลดค่างวดสินเชื่อส่วนบุคคลประเภท ต่าง ๆ การพักชำระหนี้ การลดอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำบัตรเครดิต การขยายวงเงินและระยะเวลาชำระหนี้ เป็นต้น 

อย่างไรก็ดี มาตรการที่ผ่านมายังอาจไม่เพียงพอให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนลดลงต่ำกว่าระดับที่เฝ้าระวัง (ต่ำกว่า 80% ของ GDP) แม้ว่าในปัจจุบันภาวะเศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง และ ระดับรายได้ครัวเรือนเริ่มกลับมามากขึ้น แต่ยังมีบางกลุ่มที่ระดับรายได้ฟื้นตัวได้ช้าหรือระดับรายได้ยังมีความเปราะบาง 

 

ภาพประกอบข่าว หนี้สินครัวเรือนของไทย ปี 2566

 

มาตรการแก้ไขหนี้ครัวเรือน

ดังนั้น เพื่อให้การแก้ไขปัญหา หนี้สินในระยะต่อไปเป็นไปอย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพ ธปท. จึงได้ออกมาตรการแก้ไขหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับการยกระดับ วงจรการก่อหนี้ทั้งหนี้ในและนอกระบบ ตั้งแต่ก่อนเป็นหนี้ กำลังจะเป็นหนี้ ระหว่างเป็นหนี้ เมื่อหนี้มีปัญหา และเมื่อมีการขาย/ฟ้องหนี้ โดยในระยะแรก จะเร่งออกหลักเกณฑ์ ดังนี้ 

1. การออกหลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ หรือ Responsible Lending (RL) โดยกำหนดให้เจ้าหนี้ให้สินเชื่อ อย่างรับผิดชอบและเป็นธรรมตลอดวงจรหนี้ อาทิ ไม่กระตุ้นให้เกิดการก่อหนี้เกินควร เงื่อนไขสัญญามีความเป็นธรรม มีแนวทางการดูแลลูกหนี้เรื้อรัง (persistent debt) ให้สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ เป็นต้น 

2. การส่งเสริมกลไกกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกหนี้แต่ละราย หรือ Risk-based pricing (RBP) เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ โดยให้ผู้กู้จ่ายดอกเบี้ยตามความเสี่ยง ลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำควรมีภาระดอกเบี้ยที่ต่ำ ขณะเดียวกัน RBP จะช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อในระบบสำหรับลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงสูง 

3. การกำหนดภาระหนี้ต่อรายได้ (Debt Service Ratio : DSR) เพื่อดูแลการก่อหนี้ใหม่ที่ไม่พึงประสงค์ โดยดูแลให้การปล่อยสินเชื่อสอดคล้องกับศักยภาพในการชำระหนี้ ไม่นำไปสู่การก่อหนี้สินเกินตัว

นอกจากการดำเนินการตามแนวทางแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนข้างต้นแล้ว การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืน ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องด้วย ทั้ง การให้ความรู้และสร้างวินัยทางการเงิน การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบของเจ้าหนี้ทุกประเภท การมีกลไกให้คำปรึกษาและไกล่เกลี่ยหนี้เป็นระบบ 

รวมทั้งการวางรากฐานให้กับประเทศ ทั้งการพัฒนาฐานข้อมูลเครดิตและข้อมูลทางเลือกที่ใช้ประเมินและติดตามหนี้ให้มีความยืดหยุ่นและสอดคล้องกับรูปแบบกระแสเงินสดรับ-จ่ายของประชาชน เพื่อลดการพึ่งพาเงินกู้นอกระบบ และให้ความสำคัญกับการสร้างรายได้ไปพร้อมกับการแก้ปัญหาหนี้ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อไป

 

ภาพประกอบข่าว หนี้สินครัวเรือนของไทย ปี 2566

 

นอกจากนี้ ในวันที่ 28 สิงหาคม 2566 เวลา 9.30 น. เลขาธิการ สศช. ยังเตรียมแถลงข่าว เรื่อง รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 2 ปี 2566 โดยจะมีรายงานพิเศษที่น่าสนใจเรื่อง “หนี้สินคนไทย : ภาพสะท้อนจากข้อมูลเครดิตบูโร” พร้อมทั้งรายงานภาพรวมของสังคมไทยในช่วงไตรมาสที่ 2 ทั้งการจ้างงาน การว่างงาน และภาวะหนี้สินภาคครัวเรือนด้วย

โดยสามารถติดตามการ ถ่ายทอดสด การแถลงรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 2 ปี 2566 ได้ที่ลิ้งค์ด้านล้างนี้

คลิกชมถ่ายทอดสดภาวะสังคมไทยไตรมาส 2 ปี 2566