เปิดนโยบายรัฐบาลใหม่ เพื่อไทย 3 เร่ง 3 สร้าง พลิกฟื้นเศรษฐกิจ

20 ส.ค. 2566 | 15:34 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ส.ค. 2566 | 10:08 น.
1.8 k

น.พ.พรหมินทร์ เปิดนโยบายรัฐบาลเพื่อไทย ชู 3 เร่ง 3 สร้าง พลิกฟื้นเศรษฐกิจ เร่งแก้รัฐธรรมนูญ หนี้สินประชาชน  ลดราคาพลังงาน สร้างรายได้ท่องเที่ยว ส่งออก แปรพื้นที่นาข้าวเป็นการปลูกพืชเพื่อการปศุสัตว์ แจกโฉนดที่ดิน 50 ล้านไร่ ประกาศยึดทรัพย์ผู้ผลิต ผู้ค้า แก้ปัญหายาเสพติด

น.พ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ประธานคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ฐานเศรษฐกิจ” เกี่ยวกับ"นโยบายรัฐบาล"ภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย ว่า พรรคเพื่อไทยมุ่งหมายที่จะฟื้นและทวงคืนประชาธิปไตย เราจึงดำรงความมุ่งหมายที่จะจัดตั้งรัฐบาล และต้องยอมในหลายเรื่อง เพื่อให้บรรลุผลในการที่เราจะได้จัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ

น.พ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ประธานคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย

“ความมุ่งหมายเหล่านี้ในระยะสั้นเรายังได้ประชาธิปไตยที่กินได้ หมายความว่ารัฐบาลที่เกิดขึ้นจะต้องทำให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เมื่อเราเข้ามาเป็นรัฐบาลแล้วสิทธิเสรีภาพต่างๆของประชาชนจะมีมากขึ้น มีโอกาสสร้างรายได้อย่างมีศักดิ์ศรี แปลความว่าคุณมีเสรีภาพ คุณมีโอกาสหารายได้ หาเงินได้เอง เป็นไทต่อตัวเอง”นพ.พรหมินทร์กล่าว

นพ.พรหมินทร์ ระบุว่า ในส่วนของนโยบายกระตุ้นที่เคยประกาศไว้ว่าจะมีการกระตุ้นด้วยการใช้ กระเป๋าเงินดิจิทัล "Digital wallet 10,000 บาท" นั้น คาดว่าต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง เชื่อว่าขั้นต่ำจะสามารถทำได้ใน 6 เดือน เพราะต้องจัดทำระบบบล็อกเชน (blockchain) ให้สามารถกำหนดเงื่อนไขการใช้และพื้นที่การใช้จ่ายเงินให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งจะต้องหารือกับส่วนราชการต่างๆ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้หมายความว่าจะไปสร้างสกุลเงินใหม่เพียง แต่เป็นการหาวิธีกระจายงบประมาณส่วนหนึ่งจากงบที่มีอยู่ 3.3 ล้านล้านบาท มาจัดสรรมาเพื่อรองรับนโยบายเงินดิจิทัลให้พอจ่าย และเป็นหลักประกันการใช้จ่าย

“เราก็จะเร่งทำให้เม็ดเงินกระจายไปสู่ประชาชนอย่างทั่งถึง โดยเราจะสร้างให้ประชาชนทุกคนที่มีอายุเกินกว่า 16 ปี มีเงิน 10,000 บาทอย่างทั่วถึง และให้ไปใช้จ่ายในพื้นที่ของตัวเอง ใช้ให้จบภายใน 6 เดือน เพื่อให้เกิดการหมุนเวียน การกระตุ้นเศรษฐกิจจริงๆ”นพ.พรหมินทร์กล่าว

สำหรับนโยบายรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทยนั้นพ.พรหมินทร์ ระบุว่า มีนโยบายที่สำคัญคือ นโยบาย 3 เร่ง 3 สร้าง ดังนี้

น.พ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ประธานคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย

นโยบาย 3 เร่ง

1. นโยบายเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื่องจากรัฐธรรมนูญปัจจุบันทำให้เกิดปัญหาต่างๆในทุกวันนี้ เราก็ต้องไปปลดเปลื้อง ซึ่งการปลดเปลื้องเรื่องนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้บอกว่าถ้ามีการแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญจะต้องทำประชามติจากประชาชน เพราะฉะนั้นรัฐบาลที่เราตั้งขึ้นมาจึงต้องทำประชามติถามประชาชนว่าจะมีการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ นี่คือจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนของเราที่ต้องการทวงคืนประชาธิปไตยมาเป็นของประชาชน

2. นโยบายเร่งแก้หนี้ให้ประชาชน เพราะช่วงหลังจากโควิด-19 หนี้ครัวเรือนพุ่งสูงขึ้นถึง 90% ของจีดีพี ซึ่งหนี้ก้อนใหญ่ที่เป็นภาระอย่างมากคือ หนี้ของเกษตรกร ซึ่งเรามีแผนที่จะพักหนี้เกษตรกร ช่วยผ่อนปรนในเรื่องของดอกเบี้ย โดยรัฐบาลจะจ่ายดอกเบี้ยให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. แทนเกษตรกร 3ปี อย่างที่เคยทำประสบความสำเร็จมาแล้วเมื่อ 20 ปีก่อนในสมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทย

การแก้หนี้สินอีกส่วนคือภาค SME ที่มีปัญหาจากโควิด รัฐบาลจะช่วยในการพักหนี้ SME แต่การแก้ไขปัญหาหนี้สินที่ดีที่สุดก็คือการสร้างรายได้ ซึ่งเราต้องหาทางออกจากทุกข์ให้ได้จากนโยบาย 3 สร้าง

3. นโยบายเร่งแก้ไขปัญหาราคาพลังงาน เนื่องจากเรื่องพลังงานเป็นต้นทุนพื้นฐานในการดำรงชีวิต และเศรษฐกิจ ซึ่งเราจะลดภาระนี้ลงมา โดยดูช่องทางต่างๆไว้แล้วว่าจะต้องจัดการอย่างไรให้ลดภาระราคาพลังงานลงมาให้ได้ เมื่อเข้ามาเป็นรัฐบาลก็จะดำเนินการในเรื่องนี้

นโยบาย 3 สร้าง

1. นโยบายสร้างรายได้ เนื่องจากปัญหาโควิดที่ผ่านมาสิ่งที่เกิดการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดคือเรื่องการท่องเที่ยว เราคิดว่าการสร้างรายได้ได้เร็วที่สุดคือการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว ด้วยการเปิดท่อขยายการท่องเที่ยวให้เร็วขึ้น การจัดการที่เร่งด่วน คือ การเจรจากับต่างประเทศ เช่น จีน อินเดีย เพื่อลดเงื่อนไขในเรื่องวีซ่า ให้เกิดการเดินทางเข้าประเทศได้ง่ายขึ้น ควบคู่กับการจัดการคอคอดในเรื่องสนามบินและการตรวจคนเข้าเมือง เชื่อว่าจะสามารถทำได้โดยเร็ว

นอกจากนี้ยังมีปัญหาท้าทายที่สำคัญทั้งโลกไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ จีน ที่เศรษฐกิจมีปัญหา ทำให้ความมั่นใจในการท่องเที่ยวลดลง แต่เราก็ต้องไม่ละเลย ต้องวิ่งหาโอกาสตลาดใหม่ๆ เช่น อินเดีย ตะวันออกกกลาง และอเมริกาใต้ เป็นต้น

อีกเรื่องหนึ่งคือการสร้างรายได้จากการค้าการลงทุน ด้วยการส่งเสริมการเจรจาการค้าและการลงทุน เพราะการค้าและการลงทุนเป็นเส้นชีวิต เราจึงต้องทำให้การค้าเติบโตรวดเร็วขึ้นด้วยการเจรจาและเปิดตลาดใหม่ๆ โดยกระทรวงต่างๆไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ต้องมาทำงานร่วมกันหมด

น.พ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ประธานคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย

“เชื่อว่าภาวะการนำของนายกรัฐมนตรีที่มาจากพรรคเพื่อไทยจะสามารถนำเรื่องนี้ไปได้ โดยมีหลักยึดสำคัญ คือ การต่างประเทศเชิงรุก การต่างประเทศเพื่อเศรษฐกิจ เราจะเป็นผู้ทำงานภาครุก เร่งรัดในการสร้างสันติภาพและความมั่งคั่งร่วมกันกับประเทศต่างๆ ตรงนี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการที่เราจะใช้เจรจากับต่างประเทศ และเราจะชี้เป้าด้วยว่าประเทศไหนเขาอยากได้อะไร ซึ่ง ณ วันนี้เราได้ทำไว้ล่วงหน้าแล้ว”นพ.พรหมินทร์กล่าว

นพ.พรหมินทร์ บอกว่า ขณะนี้มีนักลงทุนรายใหญ่ระดับโลกสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยแข่งกับประเทศใกล้ๆบ้านเรา เราจึงต้องใช้นโยบายการต่างประเทศเชิงรุก อย่างเวียดนาม อินโดนีเซีย ผู้นำของเขาบุกไปหานักลงทุนถึงที่ เรื่องแบบนี้ทำไมเราทำไม่ได้ การเจรจาต้องถามเขาเลยว่าเขาอยากได้อะไร เราให้ได้หรือไม่ได้ ต้องทำแบบนี้จะได้จบได้เร็ว

นอกจากการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว การค้า การลงทุนแล้ว รัฐบาลภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย จะพลิกฟื้นสิ่งที่เป็นภาระให้เป็นพลัง คือภาคเกษตรกรที่มีอยู่ 40% ของประชากรมีรายได้เพียง 8% ของจีดีพี ถ้าเราสามารถสร้างรายได้เกษตรกร 40%ของประชากร ให้เพิ่มขึ้น โดยตั้งเป้าว่าในสมัยที่เราเป็นรัฐบาลเราจะเพิ่มรายได้เกษตรกรเป็น 3 เท่า ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทาย แต่หากวิเคราะห์สิ่งที่เป็นปัญหาภาคเกษตรตอนนี้พบว่าเรามีพื้นที่ภาคเกษตรอยู่ 140 ล้านไร่ ครึ่งหนึ่ง 70 ล้านไร่ไปปลูกข้าว ด้วยการหวังว่าจะปลูกข้าวเพื่อการส่งออก แต่เรากลับเสียแชมป์

ขณะที่การผลิตข้าวของเราก็ให้ผลผลิตต่ำ แม้แต่ในพื้นที่ชลประทานผลิตได้ 600 กิโลกรัมต่อไร่ แต่คู่แข่งของเราผลิตได้ 1,000 กิโลกรัมต่อไร่ มากกว่าเกือบเท่าตัว  เพราะฉะนั้นการปลูกข้าวไม่ใช่ทางเลือกเดียวแล้ว

นอกจากนี้ยังมีความท้าทายที่สำคัญ 3 ปีจากนี้ไปคือ เอลนีโญ ที่ก่อให้เกิดปัญหาภัยแล้ง เราจึงต้องปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวมาปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย ด้วยการแปรเปลี่ยนพืชเหล่านี้เป็นพืชเพื่อการปศุสัตว์ หรือพืชเพื่อการเลี้ยงสัตว์ ซึ่งที่ผ่านมาเรานำเข้าพืชเพื่อการเลี้ยงสัตว์ปีละกว่า 3 แสนล้านบาท

"ที่ผ่านมาการแก้ปัญหาการเกษตรหน่วยงานราชการใส่เงินประมาณ 2 แสนล้านบาทต่อปี แต่เกษตรกรยังมีหนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 2.6 แสนบาทต่อครัวเรือน ถ้าเราทำกลับข้าง แทนที่ไปซื้อพืชเพื่อการเลี้ยงสัตว์จากต่างประเทศ มาซื้อภายในประเทศกันเอง เราก็จะประหยัดเงิน แถมรัฐบาลไม่ต้องออกเงินด้วย ดังนั้นเราต้องผลิตของที่ตลาดต้องการ ได้แก่ข้าวโพด หรือถั่วเหลือง เป็นต้น"

นอกจากนี้ยังมีโอกาสใหม่ๆ คือ การแปรพื้นที่ของคนที่ปลูกข้าวเป็นปลูกอาหารสัตว์ เช่นปลูกหญ้า เพื่อเลี้ยงวัวส่งออก ซึ่งวันนี้เราทำงานล่วงหน้า พบว่าประเทศจีนต้องการวัว 1 ล้านตัวต่อปี ตะวันออกกลางต้องการ 3 ล้านตัวต่อปี ขณะที่ประเทศไทยผลิตได้ 9 ล้านตัวต่อปี บริโภคประมาณ 7 ล้านตัว ที่เหลือ 2 ล้านตัวนำมาเพาะพันธุ์ใหม่ ถ้าปรับมาทำตรงนี้เชื่อว่าจะสามารถเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรเพิ่มขึ้น จากเดิมที่เราสามารถผลิตได้ 1 หมื่นบาทต่อไร่ เป็น 5 หมื่นบาทต่อไร่ ตรงนี้คือโอกาส และเป็นการเปลี่ยนจากสิ่งที่เคยเป็นภาระให้เป็นพลังของประเทศ

2. นโยบายสร้างโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยการให้โฉนดที่ดินแก่เกษตรกร โดยตั้งเป้าว่าสามารถทำได้ถึง 50 ล้านไร่ ตามที่เคยหาเสียงไว้ เพราะเราเห็นว่าพื้นที่เกษตรส่วนหนึ่งเกษตรกรไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดิน มีที่ดิน ส.ค.1 ที่ยังไม่เป็นโฉนดอยู่ประมาณ 1 ล้านรายที่สามารถแปรเปลี่ยนเป็นโฉนดได้ ตอนนี้สมัครไว้แล้ว แต่ยังค้างอยู่ในท่อ 2.5 แสนราย ซึ่งเราคิดว่าปีแรกจะทำได้เสร็จ ตรงนี้ต้องอาศัยกรมที่ดิน ที่กระทรวงมหาดไทย

ส่วนที่ 2 คือที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ที่เดิมเราเคยกำหนดเงื่อนไขให้ใช้พื้นที่แต่รัฐเป็นเจ้าของ หากแปรเปลี่ยน ส.ป.ก.4-01 เป็นโฉนด ก็จะมีมูลค่าขึ้นมาทันที เพราะจะนำไปกู้แบงก์ได้ ซึ่งจะต้องแก้กฎหมาย ส.ป.ก.ให้มีเงื่อนไขการใช้ ไม่ใช่ให้ของฟรี การดำเนินการตรงนี้ต้องใช้เวลา เช่นถ้าอยากได้โฉนดจากส.ป.ก.ก็ต้องทำเกษตรกรรมตามเจตนารมย์เดิมเท่านั้น หรือจะเปลี่ยนมือก็ต้องทำเกษตรกรรมเท่านั้น

“โลกวันนี้ต้องการ green economy คุณต้องปลูกพืชยืนต้น เพื่อเป็นคาร์บอนด์เครดิตขายกลับเข้าไป และทำให้การเจรจาการค้าง่ายขึ้น เท่ากับยิงกระสุนนัดเดียวได้นกทั้งฝูง นี่คือโอกาสในการแปลงสินทรัพย์ที่ดูเหมือนไร้ค่าให้มีมูลค่าแล้วไม่ต้องใช้เงินของรัฐ เพราะสามารถไปเอาเงินจากในระบบได้ ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยสูง ถ้าเราทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มอย่างนี้จะทำให้ต้นทุนที่มีอยู่ก็จะกลับมาให้เกษตรกรได้ใช้”นพ.พรหมินทร์กล่าว

นโยบายสร้างโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำอีกเรื่อง คือ การปรับปรุงระบบประกันสุขภาพ 30 บาท ด้วยการนำระบบเทคโนโลยีมายกระดับการให้บริการทำให้ประชาชนสะดวกสบายมากขึ้น

ขณะเดียวกันก็จะแปรเปลี่ยนรัฐที่มีกฎหมาย กฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคในการค้าขาย เป็นรัฐที่ส่งเสริม เช่น การขอใบอนุญาตต่างๆที่มีความยุ่งยาก จะต้องทำให้โปร่งใสด้วยการทำรัฐบาลดิจิทัล โปร่งใส ตรวจสอบได้ ประชาชนได้บริการที่ดีขึ้น ประหยัดเงิน ประหยัดเวลา เช่น คนสามารถเข้ามาสมัครหรือขอใบอนุญาตต่างๆผ่านระบบดิจิทัล รวมทั้งจะต้องขจัดคอคอดด้านกฎหมายกฎระเบียบต่างๆที่มีปัญหา ทำแรงงานที่ผิดกฎหมายให้ถูกกฎหมาย

3. นโยบายสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เราจะแก้ปัญหายาเสพติดอย่างที่เคยประสบความสำเร็จมาแล้ว ด้วยการแบ่งคนออกเป็น 3 กลุ่ม คือ ผู้ค้า ผู้ผลิต ต้องจัดการลงโทษ ผู้เสพ คือผู้ป่วย ต้องดูแลรักษา ฟื้นฟูให้มีอาชีพกลับเข้าไปทำงานให้ได้ ที่สำคัญกว่านั้นที่เป็นไฮไลท์ในงวดนี้เรามีเครื่องมือสำคัญ เราจะจัดการผู้ค้า ผู้ผลิต ที่ไม่กลัวติดคุก แต่กลัวถูกยึดทรัพย์ ด้วยการนำกฎหมายยึดทรัพย์มาเป็นเครื่องมือสำคัญในการหยุดยั้งยาเสพติด

อีกด้านคือเรื่องการศึกษา หลักปรัชญาใหญ่เรื่องการศึกษาที่จะต้องทำคือ “เรียนรู้เพื่อรายได้” ด้วยการปรับหลักสูตรต่างๆที่สอดคล้องกับการสร้างรายได้ สร้างกลไกพิเศษให้ภาครัฐและเอกชนทำงานร่วมกันได้ เพราะวันนี้เป็นเรื่องตลกมาก เมื่อโรงเรียนอาชีวะฝากคนเข้าไปทำงานในโรงงานเพื่อให้ได้อาชีพจริงๆ ซึ่งนักเรียนเหล่านี้มีโอกาสได้เบี้ยเลี้ยง แต่กระทรวงแรงงานกลับไปเก็บค่าประกันสังคม สร้างภาระโดยไม่จำเป็นให้กับผู้ประกอบการ แทนที่จะปล่อยให้เขาทำ ให้เด็กได้เรียนรู้ ได้ทำงาน แก้ปัญหาแรงงานที่เราขาดแคลน เพราะโครงสร้างประชากรของงไทยหลังจากนี้จะเป็นสังคมผู้สูงอายุ

นอกจากนี้จะนำ soft power มาสร้างรายได้จากสมองและสองมือ ไม่ว่าจะเป็นการปรุงอาหาร ศิลปิน นักร้อง เราจะมีหลาย 10 ลิซ่า และหลาย 10 มิลลี่ รวมทั้งจะมีการส่งเสริมกีฬาเพื่อสุขภาพและสร้างรายได้ เปลี่ยนโรงเรียนอาชีวะที่มี 800 แห่งทั่วประเทศให้เป็นศูนย์บ่มเพาะ

น.พ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ประธานคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย

ส่วนงบประมาณปี 2567 ที่จะต้องใช้จ่ายในปีแรกอาจมีปัญหาจากการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้านั้น น.พ.พรหมินทร์ยอมรับว่า วันนี้การลงทุนต่างๆหยุดชะงัก รวมไปถึงการจ้างงาน เพราะความไม่แน่นอนทางการเมืองจากการจัดตั้งรัฐบาลช้า จึงต้องฟื้นความมั่นใจขึ้นมา สิ่งใดๆที่ยังค้างอยู่ อนุมัติไม่ได้ เช่นการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอที่ยังค้างอยู่ เมื่อเข้าไปเป็นรัฐบาลแล้ว ก็จะต้องเร่งรัดให้มีการลงทุน ทำให้กระบวนการต่างๆสั้นลง เงินงบประมาณต่างๆของส่วนราชการ หรือรัฐวิสาหกิจที่ค้างอยู่ 2-3 แสนล้านบาท พอตั้งรัฐบาลเสร็จก็จะเร่งอนุมัติให้ใช้เลย สิ่งเหล่านี้จะค่อยๆฟื้น แต่ช่วงแรกมีเท่าไหร่ใช้เท่านั้น และใช้ให้มีประสิทธิภาพ ให้เป็นรัฐที่มีประสิทธิภาพ

อีกประเด็นสำคัญงบประมาณของเรามีอยู่ 3.3 ล้านล้านบาท แต่จีดีพีของประเทศคือ 17 ล้านล้านบาท หน้าที่ของรัฐบาลในการใช้งบประมาณ คือการให้บริการเพื่อจัดการให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้น จึงต้องใช้งบประมาณให้เกิดการเจริญเติบโตให้เร็วที่สุดและเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การตั้งงบประมาณแทนที่จะตั้งเพื่อไปสร้างเขื่อนใหญ่ๆที่ใช้เวลาหลายปี เราก็ปรับมาสร้างพื้นที่เก็บกักน้ำขนาดเล็ก เพื่อเพิ่มพื้นที่ชลประทานก็ได้ ซึ่งคำใหญ่ของเราคือ "ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ รู้เรื่องการควานหาทรัพยากรที่มีอยู่มาใช้ให้เป็นประโยชน์ คิดแบบยุทธศาสตร์เชิงรุก"

ส่วนความกังวลว่ารัฐบาลภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทยที่มีพรรคร่วมรัฐบาลหลายพรรคจะทำให้การทำงานมีปัญหา นพ.พรหมินทร์มองว่า

"ข้อแตกต่างที่สำคัญ คือ การที่นายกรัฐมนตรีมาจากพรรคเพื่อไทย เมื่อเรากำหนดแผน กำหนดเป้าหมายเหล่านี้ไว้ ซึ่งเป้าหมายเหล่านี้ไม่ได้ขัดแย้งกับแนวทางของพรรคใด และเราในฐานะผู้นำรัฐบาลมั่นใจว่าสามารถบริหารจัดการได้ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น ในสมัยพรรคไทยรักไทยในอดีตก็เป็นรัฐบาลผสม แต่เราก็สามารถทำงานไปได้ เราจึงเชื่อว่าด้วยภาวะการนำ ด้วยเป้าหมายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ทุกคนต้องเร่งสร้างผลงานตามแนวทางที่เราหารือร่วมกัน"