4 คำถาม เงินดิจิทัล 10,000 บาท พรรคเพื่อไทย กับผลกระทบทางเศรษฐกิจ

20 ส.ค. 2566 | 12:18 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ส.ค. 2566 | 12:30 น.
4.9 k

นักวิชาการ วิเคราะห์นโยบายเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทของพรรคเพื่อไทย เป็นนโยบายที่ดี แต่ยังคงมีคำถามเกี่ยวกับกับผลกระทบทางเศรษฐกิจ 4 ข้อสำคัญ

จากกรณีที่ ‘พรรคเพื่อไทย’ ประกาศว่าจะผลักดัน นโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ทันทีหลังจากจัดตั้งรัฐบาลแล้วเสร็จ ให้กับคนไทยที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปแบบถ้วนหน้า โดยไม่จำกัดว่าจะเป็นผู้พิการ คนชรา ก็จะได้เต็มจำนวนเท่ากัน ทำให้จะมีผู้ได้รับเงินประมาณ 50 ล้านคน ใช้งบประมาณสูงถึง 5 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทย เชื่อมั่นว่า มาตรการนี้จะสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระยะสั้นอย่างแน่นอน เม็ดเงิน 5 แสนล้านบาทจะหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ เพิ่มมูลค่าได้ถึง 6 เท่า หรือ 3 ล้านล้านบาท ซึ่งจะเริ่มดำเนินนโยบายทันทีในวันที่ 1 มกราคม 2567 ช่วยดันให้เศรษฐกิจไทยโตได้ 5-6% และรัฐบาลสามารถจัดเก็บภาษีได้มากขึ้นอีกด้วย

 

‘ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล’ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ให้สัมภาษณ์กับฐานเศรษฐกิจ โดยยืนยันว่า เป็นนโยบายที่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง แต่ว่าจะมากหรือน้อย ต้องรอดูเงื่อนไขของการใช้เงิน และปัจจัยสนับสนุนอื่น ๆ โดยได้ตั้งคำถามในประเด็นสำคัญไว้ 4 ข้อ 

ข้อที่ 1 พรรคเพื่อไทย เร่งออกนโยบายดังกล่าวมานั้น เป็นประชานิยม หรือ มีเป้าหมายเพื่อสร้าง Digital Economy หากเป็นประชานิยม แล้วไม่ได้คำนึงถึงผลลัพธ์ที่ตามมา ก็อาจไม่ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้นได้มากเท่าที่ควร ดังนั้น ตัวชี้วัดคือผลลัพธ์ของนโยบาย ซึ่งคาดเดาได้ยาก เพราะปัจจุบัน ยังไม่มีรายละเอียดหลายส่วนของนโยบายนี้ออกมาอย่างเป็นทางการ

“พรรคเพื่อไทย ประกาศว่า ผลลัพธ์ของโครงการนี้ จะทำให้เกิดการหมุนเวียนเงินในระบบเศรษฐกิจได้ถึง 6 รอบ สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนได้ 3 ล้านล้านบาท ซึ่งถ้ามองจากปัจจุบันที่เงื่อนไขยังไม่ชัดเจน ส่วนตัวมองว่าอาจจะทำได้ประมาณ 2-3 รอบเท่านั้น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับวิธีการใช้เงิน และเงื่อนไขต่าง ๆ ที่จะออกมา เชื่อว่าเพื่อไทยน่าจะเตรียมการไว้แล้ว”

ข้อที่ 2 ปัจจุบัน พรรคเพื่อไทย ออกแนวคิดนี้มาโดยประกาศเงื่อนไขของการใช้เงินไว้ยังไม่ชัดเจน ว่าจะจ่ายเงินผ่านช่องทางใด? ใช้จ่ายอย่างไร? จะสร้างความสับสนให้ประชาชนหรือไม่? เบื้องต้นมีเพียงข้อมูลที่ระบุว่า จะใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในการจ่ายเงิน แต่จะดีกว่าหรือไม่ หากพรรคเพื่อไทย ลองใช้ช่องทางที่ประชาชนคุ้นชิน อย่างแอปฯเป๋าตัง ที่มีอยู่แล้ว

“เรื่องของเงื่อนไข ต้องดูว่าเพื่อไทยจะทำตามที่ประกาศออกมาหรือไม่ ที่จะให้ประชาชน สามารถจับจ่ายได้ในรัศมี 4 กิโลเมตร หากเป็นจริง ก็จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจระดับชุมชน แต่ส่วนสำคัญคือวิธีการใช้เงิน ต้องชัดเจนและง่ายที่สุด และต้องระบุให้ชัดว่าสามารถใช้ซื้ออะไรได้บ้าง และซื้ออะไรไม่ได้บ้าง? เพราะจะส่งผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเป้าหมายหลัก”

ข้อที่ 3 งบประมาณที่พรรคเพื่อไทย จะนำมาใช้เพื่อแจกเงิน มีมูลค่าสูงถึง 5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 2.8% ของจีดีพี ซึ่งไม่ใช่จำนวนที่น้อย สิ่งสำคัญคือแหล่งที่มาของเงินนั้น จะมาจากส่วนใด หากนำมาจากการจัดสรรค์งบประมาณรายจ่ายประจำปี ก็ต้องดูในรายละเอียดว่าจะสามารถทำได้หรือไม่ แต่ส่วนตัวมองว่า ไม่น่าจะเพียงพอหากจะนำมาใช้ ส่วนการจะกู้เงินเพิ่มนั้น สามารถทำได้ แต่ควรทำในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น เหมือนกับการกู้เงินมาเพื่อเยียวยาสถานการณ์โควิด19 

“แม้เราจะปรับเพดานหนี้สาธารณะเป็น 70% ต่อจีดีพีแล้ว แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะสามารถกู้ได้ตามต้องการ เพราะที่ผ่านมาไทยกู้เงินมากพอสมควร ทำให้พื้นที่การคลังแคบลงมากในช่วงโควิด19 ที่ผ่านมา ถ้ามีเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้นอีกในอนาคตก็จะมีความสามารถในการต่อสู้วิกฤติน้อยลง ท้ายที่สุดถ้าทำจริงแล้วได้ผล ก็ถือว่าดี แต่ถ้าไม่ได้ผล ก็แลกมาด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ฟื้นตัวตามที่หวังไว้ ซึ่งเชื่อว่าพรรคเพื่อไทย น่าจะทราบเรื่องนี้ดี และเตรียมการรับมือไว้แล้ว”

 

ข้อที่ 4 การออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นลักษณะนี้ ส่วนมากรัฐบาลจะใช้ในยามวิกฤติ เช่น สถานการณ์โควิด19 ที่ผ่านมา ดังนั้นการออกนโยบายในช่วงต้นปี 2567 นั้น ทำให้ไม่แน่ใจว่าจะช่วงเวลาที่เหมาะสมหรือไม่? แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าพรรคเพื่อไทย น่าจะคิดและทบทวนทั้งหมดนี้มาเป็นอย่างดีแล้ว

อย่างไรก็ตาม มาตรการเร่งด่วนในลักษณะนี้คือสิ่งที่ต้องเร่งลงมือทำไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชุดใด เพราะสิ่งสำคัญคือการลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน ทั้งค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ที่มีแนวโน้มจะปรับตัวสูงขึ้นอีก ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน โดยเฉพาะจากจีน ที่ประเทศไทย ประกลุ่มประเทศอาเซียนมีความเชื่อมโยงด้วยสูงมาก ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่สิ่งที่อยากฝากไว้ คือมาตรการที่จะออกมานั้น ต้องทำได้ง่าย รวดเร็ว และสร้างภาระทางการคลังให้น้อยที่สุด