ผ่างบ "สวัสดิการรัฐ" 6 มาตรการ วงเงินรวม 4.2 แสนล้าน

16 ส.ค. 2566 | 03:50 น.
1.0 k

รายงานพิเศษ : เปิดงบประมาณ "สวัสดิการของรัฐ" รวม 6 มาตรการ วงเงินรวม  4.2 แสนล้าน ที่ยังไม่รวมเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญข้าราชการอีก 3.2 แสนล้านบาท 

กลายเป็นประเด็นร้อนซัดกันนัว สำหรับ "เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ" หนึ่งในมาตรการสวัสดิการรัฐ หลังราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกระทรวงมหาดไทย ปรับหลักเกณฑ์จ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ พ.ศ. 2566 ใหม่ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 12 สิงหาคม 2566 เป็นต้นไป

จากเดิมก่อนหน้านี้จ่ายแบบถ้วนหน้าตามขั้นบันไดโดยผู้ที่มีอายุ 60 ขึ้นไปทุกคนจะได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตามอายุของผู้รับสิทธิ์ ดังนี้

  • อายุ 60 – 69 ปี ได้ 600 บาทต่อเดือน
  • อายุ 70-79 ปี ได้ 700 บาทต่อเดือน
  • อายุ 80-89 ได้ 800 บาทต่อเดือน
  • อายุ 90 ปีขึ้นไป ได้ 1,000 บาทต่อเดือน

ประกาศมหาดไทยฉบับดังกล่าวทำเอาผู้ที่ได้รับสิทธิ์เบี้ยผู้สูงอายุในปัจจุบัน และคนสูงอายุที่รอจะได้รับสิทธิ์บ้างในอนาคตมีความกังวลว่า สรุปแล้วเบี้ยผู้สูงอายุจะจ่ายกันอย่างไรกันแน่

ปลัด พม. ยืนยัน ไม่กระทบผู้รับเบี้ยปัจจุบัน ขอรอ คกก.รัฐบาลใหม่เคาะ

ทำเอาทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงมหาดไทย รวมทั้งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ อย่าง "นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงพม.ต้องออกมาชี้แจงถึงประเด็นการจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุตามหลักเกณฑ์ใหม่ ว่า

ย้อนไป 2 ปี ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยเดิม ถูกทักท้วงและกรมบัญชีกลางเรียกเงินคืน ซึ่งเชื่อมโยงมาจากนิยามในรัฐธรรมนูญ กับ นิยามใน พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ ที่มีความเข้าใจแตกต่างกัน จึงเป็นที่มาให้กระทรวงมหาดไทยปรับแนวทาง 

พร้อมยืนยันว่า สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ส่งผลกระทบต่อผู้รับเบี้ยผู้สูงอายุอยู่ในขณะนี้แน่นอน โดยต้องรอการคำนวณหลักเกณฑ์จากคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ซึ่งจะต้องพิจารณาจากภาวะเศรษฐกิจ จำนวนเงินที่มีความเหมาะสมกับการดูแลผู้สูงอายุ ตลอดจนสถานะการคลังของประเทศ หรือหลักเกณฑ์อื่นๆที่ต้องสอดคล้องกับบริบท โดยต้องมีผู้ทรงคุณวุฒิเข้ามาร่วมวิเคราะห์ 

ทั้งนี้ อยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล  จึงต้องรอดูว่าจะมีนโยบายเกี่ยวกับสวัสดิการผู้สูงอายุอย่างไร เพื่อนำไปออกแบบ เกณฑ์การดูแลผู้สูงอายุต่อไป เพราะเนื่องจากเป็นนโยบายของรัฐบาล ที่ใช้กลไกของคณะกรรมการ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งอาจจะเป็นหลักเกณฑ์เดิมหรือหลักเกณฑ์ที่เข้มข้นขึ้น 

ส่วนกรณีที่หลายคนกังวลว่าการออกระเบียบดังกล่าวเป็นการ ถอยหลังกลับไปในอดีตนั้น นายอนุกูล ยอมรับว่า อาจเป็นเพราะการจัดเก็บข้อมูลในประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง มีข้อมูลคนไทยที่เป็นผู้ควรได้รับการช่วยเหลือไม่ชัดเจน ซึ่งทำให้สังคมเกิดความกังวล ว่าจะได้รับผลกระทบหรือเสียสิทธิ์หรือไม่ จากการพิสูจน์สิทธิ์ในอดีต แต่ ขณะนี้ประเทศมีความก้าวหน้าอย่าง ในปัจจุบันในสหรัฐอเมริกาหรือยุโรปมีการใช้ฐานข้อมูล ที่มีประสิทธิภาพในการดูแล จึงไม่น่าจะ กระทบสิทธิ์ ซึ่งจะต้องนำทุกเรื่องที่ยังมีข้อกังวลเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการ ผู้สูงอายุแห่งชาติต่อไป

 

เปิดข้อมูล "งบสวัสดิการภาครัฐ" 6 มาตรการ วงเงิน 4 แสนล้าน

ฐานเศรษฐกิจ รวบรวมข้อมูลที่น่าสนใจจากข้อมูลของกระทรวงการคลัง พบว่า นอกจากเบี้ยผู้สูงอายุแล้ว ยังมี "งบสวัสดิการภาครัฐ" มาตรการอื่นๆ ที่จัดสรรให้กับกลุ่มต่างๆ

พบว่างบประมาณในส่วนของงบสวัสดิการภาครัฐในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2557-2567) เพิ่มขึ้น 116% จาก 549,967 ล้านบาทในปี 2557 เพิ่มเป็น 1,186,183 ล้านบาท ในปี 2567 หรือเพิ่มขึ้น 636,200 ล้านบาท

หากไม่รวมวงเงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญข้าราชการ 322,790 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2566 รัฐบาลจัดสรรงบประมาณด้านสวัสดิการที่สำคัญ 6 เรื่องวงเงินรวม  428,683.77 ล้านบาท ดังนี้

  • เบี้ยเด็กแรกเกิด(0 –6 ปี) 2.58 ล้านคน 16,321.18 ล้านบาท
  • เรียนฟรี 15 ปี 10.8 ล้านคน 79,151 ล้านบาท
  • บัตรสวัสดิการแห่งรัฐฯ 13.4 ล้านคน 35,514.62 ล้านบาท
  • ระบบประกันสังคม 24.34 ล้านคน 48,514.2 ล้านบาท
  • ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า 47.73 ล้านคน 161,602.67 ล้านบาท
  • เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 11.03 ล้านคน87,580.10 ล้านบาท

งบสวัสดิการรัฐ 6 มาตรการ วงเงินรวม 4.2 แสนล้านบาท

 

นายกฯ แจงอยู่ระหว่างการเตรียมการเพื่อหางบประมาณให้เพียงพอในอนาคต

ด้าน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า วันนี้อยู่ระหว่างการเตรียมการว่า ในอนาคตเราจะใช้งบประมาณอย่างไรให้เพียงพอในวันข้างหน้า ซึ่งรัฐบาลใหม่สามารถดำเนินการต่อได้ทันทีหากงบประมาณเพียงพอ การดำเนินการทุกอย่างเป็นสิ่งที่รัฐบาลจะต้องทำช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ดังนั้นอย่าไปฟังข้อมูลจากคนที่ไม่เคยเป็นรัฐบาล และไม่อยากจะตอบโต้เรื่องนี้

ส่วนเรื่องหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ชี้แจงไปแล้ว เป็นไปตามหลักการ ที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ กำหนด ซึ่งประเด็นที่อาจยังไม่เข้าใจ คือ ผู้ที่ได้รับเบี้ยยังชีพอยู่แล้ว ยังได้รับเหมือนเดิม