ราคาข้าวปีนี้ ชาวนายิ้มรับเงินเต็มกระเป๋า แต่ไม่มีน้ำปลูกปีหน้า

12 ส.ค. 2566 | 10:08 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ส.ค. 2566 | 12:55 น.

“แล้ง”ราคาข้าวดีแต่ไม่มีน้ำปลูกทุกข์ของชาวนา แต่ปีนี้ชาวนายิ้มรับเงินเต็มกระเป๋า ราคาข้าวเปลือกเฉลี่ยกว่า 1 หมื่นบาทต่อตัน อานิสงส์อินเดียสั่งห้ามนำเข้าข้าว ความต้องการข้าวพุ่งลุ้นปีหน้ามีน้ำปลูกข้าว

ช่วงนี้ชาวนาหลายพื้นที่อาจจะได้ยิ้มออกหลังราคาข้าวเปลือกปรับตัวสูงขึ้นโดย ราคาข้าวเปลือกล่าสุด ณ วันที่ 4 ส.ค.2566 ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 14,500-16,000 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 12,000-13,000 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 11,000-12,000 บาท เป็นราคาสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 13,500-14,700 บาท ราคาสูงกว่าประกันรายได้แล้ว

ราคาข้าวปีนี้ ชาวนายิ้มรับเงินเต็มกระเป๋า แต่ไม่มีน้ำปลูกปีหน้า

  • “ข้าวถุง”ราคาทรงตัว

ส่วนราคาข้าวถุง กรมการค้าภายในรายงานว่า ข้าวหอมมะลิ ถุง 5 กิโลกรัม (กก.) เฉลี่ยปีที่แล้ว 209 บาท ขณะนี้ 210 บาท ข้าวขาว 100 % ปีที่แล้วเฉลี่ย 119 บาท ปีนี้ 118 บาท

ในขณะที่ด้านผลผลิตข้าวเปลือก กรมการข้าว รายงานว่า ปี 2565 มีปริมาณ 34.3 ล้านตัน ปี 2566 คาดการณ์ว่า จะมีปริมาณ 32.35 ล้านตัน ลดลงประมาณ 2 ล้านตัน หรือลดลง 5.6 % เพราะได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง และต้องมีการประเมินสถานการณ์ต่อไป ทั้งระดับภัยแล้งจะรุนแรงขึ้นหรือไม่ และน้ำต้นทุน จะมีเพียงพอเพาะปลูกหรือไม่

ราคาข้าวปีนี้ ชาวนายิ้มรับเงินเต็มกระเป๋า แต่ไม่มีน้ำปลูกปีหน้า

  • นายกฯผู้ส่งออกข้าวชี้ปีนี้ปีทองชาวนาไทย

นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ปีนี้มีแนวโน้มเป็นปีทองของเกษตรกร เพราะขณะนี้ข้าวเปลือกเจ้าเกี่ยวสด อยู่ที่ตันละ 12,000 บาท ไม่เคยปรากฏ ไม่เคยเห็นมาก่อน ส่วนราคาข้าวตลาดโลก เฉพาะข้าวขาว ขึ้นมาเป็น 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตันแล้ว นับตั้งแต่อินเดียห้ามส่งออก แต่ก็ยังไม่แน่นอน เพราะไม่รู้ว่าอินเดียจะเอายังไงต่อ จะห้ามนานหรือไม่ เพราะแม้จะห้าม ก็ยังเปิดช่องให้หลายประเทศซื้อได้ เพื่อความมั่นคงด้านอาหาร

นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

  • ผู้ส่งออกยิ้มออเดอร์พุ่ง

ขณะที่แหล่งข่าวจากจากผู้ส่งออกแถวภาคอีสานกล่าวว่า ตอนนี้ต้องเร่งสีข้าวหอมมะลิ และข้าวไรซ์เบอรี่อินทรีย์ เพื่อส่งออกไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งช่วงนี้มีการสั่งซื้อเพิ่มมากขึ้น เพราะผู้บริโภคต้องการซื้อข้าวกักตุน จากกระแสการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ หรือ climate change รวมทั้งผลกระทบปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่กระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร โดยเฉพาะข้าวไรซ์เบอรี่อินทรีย์ ราคาข้าวเปลือกที่ซื้อจากชาวนาสูงถึงกิโลกรัมละ 27 บาท

 

 

 

ข้อมูลจากเครือข่ายผู้ประกอบการโรงสีข้าวในภาคอีสาน ยังชี้ให้เห็นว่า ข้าวไทยแข่งขันในตลาดโลกได้เพราะคุณภาพ เพราะผลผลิตต่อไร่และการลดต้นทุนการผลิต ยังสู้ประเทศคู่แข่งไม่ได้ ไทยจึงต้องเน้นผลิตข้าวคุณภาพ สร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า

ราคาข้าวปีนี้ ชาวนายิ้มรับเงินเต็มกระเป๋า แต่ไม่มีน้ำปลูกปีหน้า

  • ของไม่มี-น้ำไม่พอสวนทางความต้องการข้าวพุ่ง

ขณะที่ผู้ประกอบการโรงสีข้าวในภาคอีสาน ก็มองว่า สถานการณ์ราคาข้าวผันผวน ราคาข้าวเปลือกปรับสูงขึ้นกว่าร้อยละ 30-40 กำลังส่งผลกระทบต่อโรงสี และผู้ส่งออก โดยเฉพาะโรงสีในภาคกลางที่มีการตกลงขายข้าวล่วงหน้า และไม่มีข้าวในสต็อก ต้องรอรับซื้อข้าวจากชาวนาที่เกี่ยวช่วงนี้ จนเกิดการแย่งซื้อ

ราคาข้าวปีนี้ ชาวนายิ้มรับเงินเต็มกระเป๋า แต่ไม่มีน้ำปลูกปีหน้า

อย่าไรก็ตามสาเหตุที่ทำให้ราคาข้าวเปลือกในประเทศปรับตัวสูงขึ้นส่วนหนึ่งมาจาก ปริมาณข้าวในประเทศที่มีไม่มากนักและปัญหาขาดแคลนน้ำเพาะปลูก สวนทางกับความต้องการข้าวของตลาดโลก หลังอินเดียประกาศงดส่งออกข้าวเพื่อกักเก็บไว้บริโภคภายในประเทศ ทำให้ราคาข้าวปรับสูงขึ้นตามกลไกตลาด

  • “พาณิชย์” สั่งมอนิเตอร์ภัยแล้งใกล้ชิด

ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ตั้งวอร์รูม เกาะติดผลกระทบจากเอลนีโญ ที่มีต่อสินค้าข้าว และพืชเกษตร ทั้งด้านผลผลิต การตลาด ราคา และทำแผนรับมือ ล่าสุดราคาข้าวเปลือกขยับแล้ว ข้าวเจ้าทะลุตันละ 12,000 บาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ส่วนข้าวถุงยังนิ่ง ย้ำต้องหาจุดสมดุล ให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน 

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงสถานการณ์ภัยแล้ง การผลิต และการตลาดสินค้าเกษตร ว่า ที่ประชุมได้มีมติให้จัดตั้งวอร์รูม ติดตามสถานการณ์เอลนีโญ ที่ก่อให้เกิดภาวะภัยแล้งต่อโลกและไทย และติดตามการผลิต การตลาด ราคาข้าวและพืชผลการเกษตรอื่น