องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เปิดเผยเมื่อวันพฤหัสฯ (10 ส.ค.) ว่า ราคาข้าว ในตลาดโลกพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 12 ปี อันเป็นผลมาจากการที่ อินเดีย ระงับการส่งออกข้าว และ สภาพอากาศ ที่แปรปรวนซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการผลิต
ทั้งนี้ ดัชนีราคาข้าวทั่วโลก ซึ่งจัดทำโดย FAO พุ่งขึ้น 2.8% ในเดือนก.ค. สู่ระดับ 129.7 จุด ตัวเลขดังกล่าวพุ่งขึ้น 19.7% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี2565 และเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.ย. 2554 โดยราคาข้าวที่พุ่งขึ้นรุนแรงที่สุดนั้นมาจากประเทศไทย ซึ่ง รายงานของ FAO ระบุว่า ภายในช่วงระยะเวลาสองสัปดาห์ ราคาข้าวขาว 100% เกรด B ของไทย (ข้าวขาว 100% ชั้น2) ขยับสูงขึ้น 38 ดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ราคาเฉลี่ยเดือนก.ค.ไปอยู่ที่ 562 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ถือเป็นราคาสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. 2021 (พ.ศ.2564)
รายงานของ FAO ระบุว่า ความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของปรากฏการณ์เอลนีโญที่มีต่อการผลิตของบางประเทศที่เพาะปลูกข้าวนั้น เป็นสาเหตุที่ทำให้ราคาข้าวพุ่งขึ้น นอกจากนี้ ผลผลิตข้าวยังได้รับผลกระทบจากฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก และคุณภาพข้าวที่ไม่คงที่ของเวียดนามซึ่งยังคงอยู่ในระหว่างการเก็บเกี่ยวในฤดูร้อน-ฤดูใบไม้ร่วง
หลังจากนั้นยังมีปัจจัยซ้ำเติมคือ การที่รัฐบาลอินเดียประกาศห้ามส่งออกข้าวขาวยกเว้นข้าวพันธุ์บาสมาติ (Basmati) โดยมีผลบังคับใช้ทันทีเมื่อวันที่ 20 ก.ค.ที่ผ่านมา เพื่อสร้างหลักประกันว่าจะมีปริมาณข้าวอย่างเพียงพอต่อการบริโภคและป้องกันการพุ่งขึ้นของราคาข้าวภายในประเทศ
เรื่องนี้มีผลต่อตลาดโลกเนื่องจาก อินเดีย ผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับหนึ่งของโลก มีการส่งออกข้าวในอัตราส่วนสูงกว่า 40% ของการค้าข้าวทั่วโลก โดย FAO ระบุว่า การที่อินเดียระงับการส่งออกนั้น ได้สร้างความวิตกกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหารของประชากรทั่วโลก
ราคาข้าวยังมีแนวโน้มพุ่งขึ้นอีก
นายออสการ์ จาครา นักวิเคราะห์อาวุโสจากบริษัทโรโบแบงก์เปิดเผยกับซีเอ็นบีซี สื่อใหญ่ของสหรัฐว่า ราคาข้าวยังมีแนวโน้มพุ่งขึ้น โดยคาดว่าดัชนีราคาข้าวโลกของ FAO ในเดือนส.ค.ปีนี้ จะพุ่งขึ้นสูงกว่าระดับของเดือนก.ค.ขึ้นไปอีก
นอกจากนี้ ยังเชื่อว่า การที่อินเดียระงับส่งออกข้าวขาวยกเว้นข้าวพันธุ์บาสมาตินั้น เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่สต็อกข้าวของกลุ่มผู้ผลิตรายใหญ่ทั่วโลกอยู่ในระดับที่ต่ำมาก โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย
ความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับนายซามาเรนดู โมฮานตี ผู้อำนวยการฝ่ายภูมิภาคเอเชียของ International Potato Center ที่คาดการณ์ว่า ราคาข้าวมีแนวโน้มพุ่งขึ้นอีก หากประเทศผู้นำเข้าพยายามที่จะสต็อกข้าวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารภายในประเทศของตนเอง และหลายประเทศที่ส่งออกข้าวตัดสินใจใช้มาตรการควบคุมการส่งออกข้าวเช่นเดียวกับอินเดีย
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า ประเทศไทยซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก(รองจากอินเดีย) กำลังเรียกร้องให้เกษตรกรภายในประเทศเพาะปลูกข้าวให้น้อยลงเพื่อสงวนน้ำไว้ใช้ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะยิ่งส่งผลกระทบต่อตลาดข้าวทั่วโลก หลังจากที่อินเดียสั่งระงับการส่งออกข้าวเมื่อเดือนกรกฎาคม
สำรวจสต็อกข้าวโลก
ถึงแม้ว่าจะมีคาดการณ์เอลนีโญในปี 2566-2567 แต่รายงานสถานการณ์และแนวโน้มข้าวโลก(World Grain Situation and Outlook) ของกระทรวงเกษตรสหรัฐ (USDA) เดือน พ.ค.2566 ประเมินว่า ผลผลิตข้าวโลกปี 2566/67 อยู่ที่ 520.52 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 2.38% แต่การส่งออกปี 2566/67 ลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 55.80 ล้านตันข้าวสาร ซึ่งลดลงจากปีก่อนหน้า 0.54%
ขณะที่ สต็อกข้าวโลกปี 2566/67 อยู่ที่ 166.68 ล้านตันข้าวสาร ลดลง 8.56% แสดงให้เห็นว่าประเทศผู้ปลูกข้าวเก็บข้าวไว้มากขึ้น และล่าสุดอินเดียห้ามส่งออกข้าวตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค.2566 เพื่อสร้างความมั่นใจว่ามีข้าวเพียงพอในการบริโภคและทำให้ราคาข้าวสูงขึ้น โดยสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย รายงานว่าราคาข้าวขาว 5% ราคา FOB วันที่ 26 ก.ค.2566 ตันละ 572 ดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากวันที่ 12 ก.ค.2566 ที่อยู่ตันละ 534 ดอลลาร์
ข้อมูลอ้างอิง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง