เมื่อจีนเผชิญความเสี่ยงภาวะเงินฝืด แต่คนรุ่นใหม่ไม่อยากทำงานหนัก

11 ส.ค. 2566 | 15:15 น.

ในขณะที่เศรษฐกิจจีน กำลังเผชิญความเสี่ยงภาวะเงินฝืด การว่างงานเพิ่ม แต่คนรุ่นใหม่มองหาสมดุลในการทำงาน ไม่อยากทำงานหนัก ต่างจากสังคมการทำงานของจีนในสมัยก่อน ที่ทำงานชนิดถวายชีวิตให้กับองค์กร

สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน(NBS) รายงานว่า จากตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค(CPI)  ของจีน ในเดือนกรกฎาคม 2566 ที่ปรับตัวลดลง 0.3% เมื่อเทียบเป็นรายปี ผู้ประกอบการและโรงงานจำเป็นต้องปรับลดราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคลง เหตุเพราะผู้คนออกมาจับจ่ายใช้สอยกันลดลง นั่นอาจแสดงว่ากำลังซื้อของประชาชนภายในประเทศเข้าสู่ภาวะเงินฝืด ซึ่งมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของจีนที่ปัจจุบันก็ยังคงชะลอตัว

อัตราคนรุ่นใหม่จีนว่างงานเพิ่มขึ้น
อัตราการว่างงานของคนรุ่นใหม่จีนถือเป็นปัจจัยที่บ่งชี้ว่าอาจก่อให้เกิดภาวะเงินฝืดได้เช่นกัน เพราะนั่นอาจหมายถึงในประเทศกำลังมีอัตราการจ้างงานที่ลดลง เนื่องจากผู้ประกอบการมีการลงทุนน้อยลง ทำให้การกระจายรายได้แย่ลงไปด้วย

บีบีซี นิวส์ (BBC NEWS) เผยข้อมูลอัตราการว่างงานของคนรุ่นใหม่ในจีนอย่างเป็นทางการที่แสดงให้เห็นว่า เยาวชนช่วงอายุ 16 - 24 ปีในเขตเมือง มีอัตราการว่างงานอยู่ที่ 21.3% เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา นั่นเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่แสดงให้เห็นว่าจีนอาจจะกำลังเข้าสู่ช่วงภาวะเงินฝืดในอนาคต 

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น สาเหตุที่นักศึกษาจีนจบใหม่ว่างงานหรือยังไม่ก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงาน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะตำแหน่งงานหรือสายอาชีพที่รองรับในปัจจุบันไม่ตรงกับสายงานที่เรียนจบมา รวมถึงคนรุ่นใหม่มองหาสมดุลในการทำงานกันมากขึ้น เพราะอยากมีเวลาในการดำรงชีวิตด้านอื่นๆ ซึ่งต่างจากสังคมการทำงานของจีนในสมัยก่อน ที่ทำงานชนิดถวายชีวิตให้กับองค์กร ประกอบกับผู้ปกครองที่มีฐานะมั่นคงก็ให้การสนับสนุน เพราะไม่อยากให้ลูกของตัวเองต้องอดทนทำงานที่หนักเกินไป

แม้จะยังมีคนรุ่นใหม่ตัดสินใจก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงาน แต่นั่นอาจเป็นการต้องยอมทำงานในตำแหน่งที่มีรายได้และสายงานต่ำกว่าระดับความสามารถที่มี เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะตกงานและไม่ต้องไปแข่งขันกับจำนวนนักศึกษาที่มีการจบการศึกษาเพิ่มขึ้นทุกปี รวมถึงความจำเป็นในการเร่งสร้างเนื้อสร้างตัวจากปัจจัยในชีวิตที่ต่างกันไป อาทิ ครอบครัว เศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ คุณภาพชีวิต ภาระหน้าที่ และสังคม

ก่อนหน้านี้รัฐบาลจีนได้แก้ไขปัญหาคนรุ่นใหม่ว่างงาน ด้วยการแนะนำให้อดทนทำสายงานที่ทำได้ ไม่เลือกงาน รวมถึงออกมากระตุ้นให้คนรุ่นใหม่ไปลงหลักปักฐานสร้างรายได้ตามชนบทกันมากขึ้น โดยรัฐบาลจีนได้ออกมาให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนการทำธุรกิจส่วนตัวของประชาชน

แต่กระแสตอบรับจากคนรุ่นใหม่กลับสวนทาง ซ้ำยังออกมาแสดงความคิดเห็นเชิงลบกันว่อนโซเชี่ยลมีเดีย แสดงถึงความไม่พอใจในชุดความคิดการทำงานที่ล้าสมัย ซึ่งเน้นกล่าวถึงการให้อดทนต่อความยากลำบากในการทำงานหนัก

แต่คนรุ่นใหม่ได้ออกมาตั้งคำถามว่า ในยุคสมัยที่มีความเจริญก้าวหน้าไปแทบทุกด้าน ทั้งเทคโนโลยีและสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างในปัจจุบัน พวกเขาไม่จำเป็นที่จะต้องเผชิญเรื่องเหล่านี้แล้วหรือไม่? 
 

เนื่องจากพวกเขามองว่าการเลือกเรียนในสายงานที่เกี่ยวกับด้านเทคโนโลยีหรือด้านออนไลน์จะตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงาน เพื่อเป็นประโยชน์ในการพิจารณาจ้างงาน แต่รัฐบาลได้มีการเข้ามาแทรกแซงและจัดระเบียบอย่างเข้มงวดกับบริษัทด้านเทคโนโลยีต่างๆ ที่พร้อมเปิดรับคนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานมากขึ้น

การที่พวกเขาตั้งใจเรียนให้สูง พยายามสอบเข้ามหาวิทยาลัยดีๆ เลือกเรียนในสิ่งที่คิดว่าจะเป็นที่ต้องการในตลาด ก็เพื่อหน้าที่การงานที่มั่นคงและสามารถรองรับภาระของพวกเขาได้ แต่กลับถูกมองว่าเป็นการยึดติดกับความต้องการที่จะทำงานในสายที่อยากทำมากเกินไป

เมื่อเยาวชนคนรุ่นใหม่ต้องประสบความกดดันในชีวิตหลายด้าน ทำให้มีอัตราที่พวกเขาหันไปพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์และไหว้พระขอพรเรื่องหน้าที่การงาน และการเงินกันมากขึ้น นั่นอาจสะท้อนให้เห็นถึงความสิ้นหวังในประเทศก็เป็นได้

ทางการจีนออกมายอมรับว่า การว่างงานของเยาวชนอาจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า และมีแนวโน้มว่าจะพุ่งสูงสุดในช่วงเดือนสิงหาคมนี้ จนอาจส่งผลกระทบถึงความเชื่อมั่นในภาพรวมของเศรษฐกิจจีน และอุปสงค์ภายในประเทศก็จะลดลงหรือย่ำอยู่กับที่ เนื่องจากข้อจำกัดต่างๆที่มาฉุดรั้งการหางานและการจ้างงาน ซึ่งต้องรอติดตามต่อไปว่า รัฐบาลจีนจะออกนโยบายที่ตรงจุดและแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร

การพิจารณาเลือกงานของคนรุ่นใหม่ประเทศเวียดนาม
ในขณะที่คนรุ่นใหม่ของเวียดนามเน้นทำงานที่ได้ผลตอบรับดี โดยไม่สนใจว่าตำแหน่งงานจะสูงหรือไม่ มองเพียงว่าตัวเองจะมีประโยชน์ต่อการเติบโตและการพัฒนาขององค์กรหรือไม่ เนื่องจากคนเวียดนามให้ความสำคัญกับความเป็นเวียดนามสูงมาก พวกเขาจึงมุ่งเน้นการทำงานที่สร้างสมดุลให้กับประเทศ

แต่ปัจจุบันคนรุ่นใหม่ได้มีการมองหาวัฒนธรรมการทำงานในรูปแบบ Work - Life Balance กันมากขึ้น และมีการจัดอันดับความสำคัญไปที่ครอบครัวและการใช้ชีวิตเป็นหลัก พวกเขาเล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องของความเป็นอยู่ สุขภาพ และเวลาว่างในการทำสิ่งต่างๆ บางบริษัทจึงได้เปิดให้ลูกจ้างมีการบริหารจัดการงานที่ยืดหยุ่นขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเวลาการทำงานที่ยืดหยุ่น หรือช่วงเวลาอิสระในการเข้าร่วมกิจกรรมกับคนในสังคม เพื่อรองรับต่อความต้องการส่วนบุคคลของลูกจ้าง 

องค์กรจึงได้มีการนำเสนอการทำงานแบบ Work - Life Balance รวมถึงมีการปรับตัวให้ลูกจ้างมองเห็นว่าตัวเองสามารถใช้ทักษะที่มีอยู่เพื่อพัฒนาตัวเองไปพร้อมกับองค์กร เพื่อดึงดูดลูกจ้างในการตัดสินใจเลือกงาน 

การพิจารณาเลือกงานของคนรุ่นใหม่ประเทศไทย
ไม่ต่างจากประเทศไทย ที่ปัจจุบันคนรุ่นใหม่และคนวัยทำงานให้ความสำคัญกับการทำงานแบบ Work - Life Balance โดยพิจารณาเลือกงานจากรูปแบบการทำงาน และภาระหน้าที่ในการทำงานว่าตอบโจทย์ขีดจำกัดความสามารถที่มี รวมถึงเงินเดือนที่จะได้รับหรือไม่ เพราะต้องยอมรับว่าไทยยังคงไม่มีการปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำให้เพิ่มขึ้นอย่างทั่วถึง ทำให้เด็กจบใหม่ต้องเลือกทำงานในสายที่ไม่ตรงกับที่จบมา หรือต้องยอมทำงานที่ได้เงินเดือนไม่สูง เพื่อหลีกเลี่ยงการเป็นบุคคลว่างงานเช่นกัน 

ประกอบกับอุปสงค์หรือความต้องการของคนรุ่นใหม่ที่มีมากขึ้นตามกระแสสังคม ทำให้คนรุ่นใหม่เริ่มมองหาการทำงานแบบเป็นเจ้านายตัวเองกันมากขึ้น เนื่องจากอยากทำในสายงานหรือทำในสิ่งที่ชอบ จึงได้มีการประกอบอาชีพอื่นเพื่อหารายได้เพิ่มเติมให้ตอบสนองความต้องการและภาระในชีวิต รวมถึงริเริ่มงัดความสามารถที่ตัวเองมี ควบคู่ไปกับการใช้สื่อโซเชี่ยล อาทิ การเป็น influencer นักรีวิว และยูทูปเบอร์ ในการสร้างสรรค์งานในแบบที่เป็นตัวเอง 
 

แหล่งที่มา : BBC NEWS