เศรษฐกิจจีน Q2 โตต่ำกว่าคาด อสังหาชะลอตัว ส่อกระทบการจ้างงาน

19 ก.ค. 2566 | 15:46 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ก.ค. 2566 | 15:53 น.

เศรษฐกิจจีน ที่มีอัตราการเจริญเติบโตต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ในไตรมาสที่สองของปีนี้ ก่อให้เกิดความกังวลต่อปัญหาการจ้างงานคนหนุ่มสาว และการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์

 

อัตราการขยายตัวรายปี ของ เศรษฐกิจจีน ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลก อยู่ที่ระดับ 6.3% ในช่วงไตรมาสที่สองของปีนี้ (ระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน 2566) นับเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำกว่าระดับ 7% ที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้

อย่างไรก็ตาม การขยายตัวดังกล่าวแม้ว่าจะต่ำกว่าคาด แต่ก็ยังสูงกว่าระดับ 4.5% ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ และสูงกว่าอัตรา 0.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เนื่องจากในช่วงเวลานั้น มีมาตรการล็อกดาวน์ที่รัฐบาลจีนนำมาใช้อย่างเข้มงวด

ส่วน อัตราการว่างงาน ของคนหนุ่มสาวชาวจีนอายุ 16 - 24 ปี เพิ่มขึ้นถึงระดับ 21.3% ในเดือนมิ.ย.ปีนี้ ขณะที่ การลงทุนในภาคอสังริมทรัพย์ ลดลง 739% ในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ ซึ่งเป็นสัญญาณของความอ่อนแอในภาคการก่อสร้างที่อยู่อาศัยที่เริ่มเห็นเค้ามาตั้งแต่ก่อนการระบาดของโควิด-19

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่จีนยังคงเชื่อว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะเป็นไปตามเป้าหมายที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนวางไว้ในปีนี้(2566) คือ 5%

การลงทุนในภาคอสังริมทรัพย์ ลดลง 739% ในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้

แต่นักวิเคราะห์กลับมองว่า การอ่อนแอลงของเศรษฐกิจจีน โดยเฉพาะในภาคการส่งออกและความต้องการสินค้าจีนที่ลดลงในหลายประเทศ อาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจโลกได้

แฮรี เมอร์ฟี ครูซ นักเศรษฐศาสตร์ของสถาบันมูดีส์ (Moody's) กล่าวว่า หลังจากการอัดฉีดเงินเข้าสู่เศรษฐกิจเมื่อต้นปี ขณะนี้เศรษฐกิจจีนยังคงไม่หาย “เมาค้าง” จากผลกระทบจากช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19 และว่า การใช้จ่ายของรัฐบาลจีนน่าจะช่วยกระตุ้นภาคอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น อสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้างได้ แต่มาตรการเช่นนั้น ไม่ใช่ "กระสุนเงิน" ที่จะช่วยให้เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวขึ้นได้อย่างทันทีทันใด

ทั้งนี้ จีนไม่ได้เผชิญอัตราเงินเฟ้อเหมือนประเทศอื่น แต่อาจกำลังประสบภาวะ “เงินฝืด” เนื่องจากความต้องการสินค้าลดลงซึ่งทำให้ราคาสินค้าลดลงด้วย ทำให้รัฐบาลต้องพยายามหามาตรการต่าง ๆ มาใช้เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชน

มาร์เซลลา โจว นักวางแผนการตลาดของ J.P. Morgan Asset Management ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า นอกจากการเพิ่มการใช้จ่ายแล้ว รัฐบาลจีนอาจต้องใช้วิธีลดอัตราดอกเบี้ยลง และเพิ่มปริมาณเงินกู้มากขึ้น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง