คมนาคมจัดหนัก 2.24 ล้านล้าน ลุยรถไฟฟ้า มอเตอร์เวย์ แลนด์บริดจ์

09 ส.ค. 2566 | 11:18 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ส.ค. 2566 | 11:36 น.
6.1 k

คมนาคม เดินหน้าโหมเมกะโปรเจ็กต์ 2.24 ล้านล้านบาท ลุยพัฒนารถไฟฟ้า 14 สาย ครอบคลุม 554 กม. เล็งปลุก M-MAP2 ดันมอเตอร์เวย์เชื่อมรถไฟ 10 เส้นทาง รุกแลนด์บริดจ์ 1.1 ล้านล้าน เชื่อมขนส่งทางน้ำ

การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานรัฐทั้งบก-ราง-นํ้า-อากาศ นอกจากเชื่อมโยงโครงข่ายการเดินทางให้ได้รับความสะดวกเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันแล้ว ยังสร้างความเจริญแผ่กระจายไปภูมิภาค กับเม็ดเงินลงทุนจำนวนมหาศาล สร้างการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน ทั้งอุตสาหกรรมก่อสร้าง แรงงาน วัสดุก่อสร้างและการเปิดทำเลทองพัฒนาเชิงพาณิชย์สำหรับการอยู่อาศัย

ปูพรมรถไฟฟ้า 554 กม.

นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ปัจจุบันกระทรวงคมนาคมมีแผนพัฒนาระบบรถไฟฟ้า ระยะทาง 554 กิโลเมตร (กม.) จำนวน 14 สาย คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 2575 โดยในปี 2572 จะต้องดำเนินการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าให้ได้ประมาณ 80% ของทั้งระบบ เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกในการใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะ จากที่เปิดบริการรถไฟฟ้าแล้ว ระยะทาง 241 กม.

รวมทั้งอยู่ระหว่างเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณา ประกอบด้วย รถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีแดง 3 เส้นทาง รวมวงเงิน 21,754 ล้านบาท ประกอบด้วย

  1. ช่วงตลิ่งชัน - ศาลายา ระยะทาง 14.8 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 10,670 ล้านบาท
  2. ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 4,616 ล้านบาท
  3. ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 6,468 ล้านบาท

นอกจากนี้อีก 1 เส้นทาง อยู่ระหว่างทบทวนเพื่อนำเสนอครม. คือ ช่วงบางซื่อ -พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง (Missing Link) ระยะทาง 25.9 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 47,000 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 90,508 ล้านบาท

 

ภาพประกอบข่าว การลงทุนเมกะโปรเจกต์ คมนาคม

M-MAP 2 ลุย 33 เส้นทาง

นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) กล่าวว่า ส่วนโครงการศึกษาเพื่อพัฒนาแบบจำลองการ คาดการณ์ความต้องการเดินทางด้วยระบบราง และการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขต กรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2” หรือ M-MAP 2

ปัจจุบันกรมฯ ได้ข้อสรุปออกมาเป็นแนวเส้นทางรถไฟฟ้าที่ประชาชนต้องการให้พัฒนารวม 33 เส้นทาง ซึ่งจะถูกนำมาคัดกรองทั้งด้านกายภาพและจำนวนผู้โดยสาร เพื่อให้ได้แนวเส้นทางระบบรางที่เลือก (Project Short List) นำมาจัดลำดับความสำคัญและทำแผนการพัฒนา

ก่อนนำเสนอต่อคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) และรัฐบาลชุดใหม่พิจารณาเพื่อเพื่อออกแผนแม่บทฯ (M-MAP2) ระยะเวลา 20 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2573-2592 หลังจากนั้นจะเริ่มกระบวนการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนต่อไป เพราะทุกโครงการได้ผ่านการศึกษาความเหมาะสมของแนวเส้นทางและรูปแบบการลงทุนแล้ว

สำหรับการจัดลำดับความสำคัญแผนการพัฒนา M-MAP 2 แบ่งเป็น 4 กลุ่ม โดยกลุ่ม A1 ถือเป็นเส้นทางที่มีความจำเป็น มีความพร้อมในผลการศึกษาต่างๆ และสามารถดำเนินการทันที รวมจำนวน 4 เส้นทาง วงเงินลงทุนรวมกว่า 63,474 ล้านบาท ประกอบด้วย

  1. รถไฟฟ้าสายสีแดง รังสิต-ธรรมศาสตร์ ระยะทาง 8.84 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 6,468 ล้านบาท
  2. รถไฟฟ้าสายสีแดง ตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.8 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 10,670 ล้านบาท
  3. รถไฟฟ้าสายสีแดง ตลิ่งชัน- ศิริราช ระยะทาง 5.7 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 4,616 ล้านบาท
  4. รถไฟฟ้าสายสีนํ้าตาลช่วงแคราย -บึงกุ่ม ระยะทาง 22.1 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 41,720 ล้านบาท

 

ภาพประกอบข่าว การลงทุนเมกะโปรเจกต์ คมนาคม

MR-MAP มอเตอร์เวย์เชื่อมรถไฟ 10 เส้นทาง

นายปิยพงษ์ จิวัฒนกุลไพศาล รองอธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า สำหรับแผนแม่บททางหลวงพิเศษระหว่างเมืองภายใต้การศึกษา MR-MAP ขณะนี้กรมฯ ได้จ้างบริษัทที่ปรึกษาราว 55 ล้านบาท ศึกษาร่างแผนดังกล่าวใน 10 เส้นทาง ระยะทางรวมประมาณ 7,003 กม. มีเส้นทางพัฒนาเป็นมอเตอร์เวย์รวมกับระบบราง 4,321 กม.

โดยจะเริ่มจากแผนระยะ 5 ปี (พ.ศ.2566-2570) ประกอบด้วย 9 โครงการ ระยะทาง 391 กิโลเมตร (กม.) มูลค่าลงทุนรวม 457,000 ล้านบาท คาดว่าจะมีการรับฟังความคิดเห็นอีกครั้งในเดือนสิงหาคมนี้ และจะได้ข้อสรุปทั้งหมดภายในช่วงปลายปี 2566 ก่อนจะเสนอกระทรวงคมนาคมให้พิจารณาเห็นชอบภายปี 2566 ต่อไป

ทางคู่เฟส 2 ใน 7เส้นทาง 2.74 แสนล้าน

ขณะที่โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 จำนวน 7 เส้นทาง วงเงิน 2.74 แสนล้านบาท ปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อยู่ระหว่างเตรียมการจัดทำข้อมูลเพื่อรอเสนออนุมัติโครงการแล้ว ประกอบด้วย

  • ช่วงปากนํ้าโพ-เด่นชัย
  • ช่วงขอนแก่น-หนองคาย
  • ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี
  • ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี
  • ช่วงสุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่- สงขลา
  • ช่วงชุมทางหาดใหญ่ -ปาดังเบซาร์

ส่วนโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงเด่นชัย -เชียงใหม่ อยู่ระหว่างทำการศึกษารายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) พร้อมจัดทำข้อมูลเพื่อเสนอขออนุมัติโครงการฯ

สปีดไฮสปีดไทย-จีน

ขณะที่โครงการความร่วมมือพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา) หรือไฮสปีดไทย-จีน ระยะทาง 253 กิโลเมตร(กม.) วงเงิน 179,400 ล้านบาท ปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จ 1 สัญญา อยู่ระหว่างก่อสร้าง 10 สัญญา อยู่ระหว่างรอลงนาม 2 สัญญา ประกอบด้วย สัญญาที่ 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.3 กม. และสัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.2 กม.

นอกจากนี้มีสัญญาที่ลงนามสัญญาแล้ว 1 สัญญา คือ สัญญา 3-1 งานโยธา ช่วงแก่งคอย–กลางดง และปางอโศก–บันไดม้า ระยะทาง 30.21 กม. ซึ่งตามแผนทั้งโครงการฯจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2570

อีอีซีเร่งเคลื่องไฮสปีด 3 สนามบิน

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน วงเงิน 224,544 ล้านบาท ขณะนี้รฟท. ได้ดำเนินการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างโครงการฯ ให้กับเอกชนตามที่ระบุไว้ในสัญญา โดยส่วนแรกได้ส่งมอบพื้นที่ช่วงสุวรรณภูมิ- อู่ตะเภา เรียบร้อยแล้ว

ขณะที่ช่วงพญาไท - บางซื่อ ปัจจุบันอยู่ในช่วงรื้อย้ายท่อส่งนํ้ามัน คาดว่าพื้นที่โครงการ ฯ พร้อมส่งมอบให้เอกชนครบทั้งหมด ภายในเดือน ต.ค.นี้ โดยภายในปี 2566 จะสามารถแจ้งให้เอกชนเริ่มการก่อสร้าง (Notice to Proceed : NTP) ส่วนการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโควิด 19 และปัญหาความขัดแย้งในประเทศรัสเซีย ยูเครน ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาแก้ไขปัญหา และมีความคืบหน้าเป็นลำดับ

 

คมนาคมจัดหนัก 2.24 ล้านล้าน ลุยรถไฟฟ้า มอเตอร์เวย์ แลนด์บริดจ์

 

เดินหน้าแลนด์บริจด์ 1 ล้านล้าน

นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า สำหรับโครงการแลนด์บริดจ์ ในพื้นที่ จ.ชุมพร และระนอง ปัจจุบันสนข.เตรียมเปิดรับฟังความคิดเห็น ภายในเดือนสิงหาคมนี้ และมีแผนเตรียมเดินทางไปโรดโชว์ ในต่างประเทศที่มีสายการเดินเรือขนาดใหญ่ 10 ประเทศ อาทิ ไต้หวัน จีน ญี่ปุ่น และฝรั่งเศส เพื่อดึงนักลงทุนจากต่างประเทศภายในเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2566

ก่อนเสนอครม.อนุมัติเพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการ ภายในเดือนมกราคม 2567 หลังจากนั้นจะเริ่มเปิดประมูลพร้อมกันทั้งโครงการฯ ภายในต้นปี 2568 คาดว่าจะทยอยเปิดโครงการในระยะแรกได้ ภายในปี 2573

สำหรับวงเงินในการลงทุนทั้งโครงการฯ อยู่ที่ประมาณ 1 ล้านล้านบาท แบ่งการก่อสร้างเป็น 4 ระยะ การก่อสร้างรวม 8 ปี โดยมีรูปแบบการก่อสร้างท่าเรือฝั่งชุมพร-ระนอง เป็นพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้าฝั่งชุมพร-ระนอง และลงทุนเส้นทางเชื่อมโยงท่าเรือ

  • ระยะที่ 1 วงเงินลงทุนรวมประมาณ 5.22 แสนล้านบาท
  • ระยะที่ 2 วงเงินลงทุนรวมประมาณ 1.64 แสนล้านบาท
  • ระยะที่ 3 วงเงินลงทุนรวมประมาณ 2.28 แสนล้านบาท
  • ระยะที่ 4 วงเงินลงทุนรวมประมาณ 8.51 หมื่นล้านบาท