กระทรวงคมนาคม ปูพรมโครงข่ายใหม่ 1.13แสนล้านขับเคลื่อนศก.

30 ก.ค. 2566 | 07:27 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ก.ค. 2566 | 09:20 น.
3.2 k

กระทรวงคมนาคมปูพรมโครงสร้างพื้นฐาน “บก-ราง-น้ำ-อากาศ” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ลากรถไฟฟ้า คลุม 14 เส้นทาง 554 กิโลเมตรในปี 75 ดัน 6 โปรเจ็กต์ 1.13 แสนล้าน เข้าครม.ชุดใหม่

 

กระทรวงคมนาคมมีเครื่องมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้ง 4 ด้าน ประกอบด้วย ทางบก ทางราง ทางนํ้า และทางอากาศ ที่สามารถเดินทางขนส่งสินค้าจากต้นทางสู่ปลายทางได้มีประสิทธิภาพให้มีความสะดวก ปลอดภัย ตรงเวลามีความสมเหตุสมผล หากสามารถดำเนินการได้จะส่งผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศสามารถสร้างรายได้ให้ประเทศในภาคการท่องเที่ยว,อุตสาหกรรมและเกษตรกรรม เพราะไทยเป็นประเทศส่งออกที่สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศ                                            

นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ปาฐถกถาพิเศษ ในงานสัมมนา “โจทย์ใหญ่ฟื้นอสังหาริมทรัพย์: PROPERTY INSIGHT” หัวข้อ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ว่าปัจจุบัน การคมนาคมขนส่งในเมืองมักจะพบเจอปัญหาการจราจรติดขัด การคมนาคมขนส่งมีปัญหา ,ปัญหามลพิษทางอากาศหรือฝุ่น PM 2.5

ทั้งนี้สาเหตุที่ประชาชนไม่เลือกใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะ เนื่องจากการเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะไม่สะดวก,รถโดยสารมีไม่เพียงพอ ,ไม่มีความตรงต่อเวลาของการเดินรถ นอกจากนี้ยังพบอีกว่าเมื่อมีการพัฒนาระบบขนส่งทางรางกลับเจอระบบการเชื่อมต่อขนส่งสาธารณะที่ไม่สามารถรองรับการเดินทางของประชาชนได้ จากปัญหาเหล่านี้ถือเป็นสาเหตุที่ประชาชนเลือกใช้รถยนต์ส่วนบุคคลแทนการใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะ ฯลฯ


 

 

ส่งผลให้ที่ผ่านมาประเทศไทยมักพึ่งพาการขนส่งสาธารณะทางถนนเป็นหลักด้วยการใช้รถบรรทุกขนส่งสินค้า โดยภาครัฐพยายามหันไปใช้การขนส่งทางระบบรางมากขึ้นเพราะมีต้นทุนที่ถูกกว่า แต่ยังมีปัญหาที่ระบบรางของไทยยังคงเป็นระบบรางเดี่ยว ส่งผลให้ไม่สามารถขนส่งสินค้าได้ตรงเวลาและผู้ประกอบการไม่สามารถขนส่งสินค้าไปยังท่าเรือได้ทันตามกำหนด

 “สิ่งที่เราตั้งเป้าหมายคือทำอย่างไรที่จะเปลี่ยนคนเดินทางจากรถยนต์ส่วนบุคคลไปสู่รถขนส่งสาธารณะ ถ้าระบบขนส่งสาธารณะไม่สะดวกไม่มีใครมาใช้บริการแน่ หากไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาจะทำให้ศักยภาพการแข่งขันของประเทศด้อยลงไม่สามารถสู้ประเทศอื่นได้”

เพิ่มสปีดระบบราง


นายชยธรรม์ กล่าวต่อว่า ในอนาคตผู้คนจะเดินทางด้วยระบบรางมากขึ้น หากสามารถพัฒนาระบบราง โดยเพิ่มความเร็วในการเดินทางได้ด้วยความเร็ว 100 กม.ต่อชั่วโมง เชื่อว่าจะทำ ให้ระบบการคมนาคมขนส่งมีความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น ซึ่งกระทรวงคมนาคมพยายามวางรากฐานในการพัฒนาให้ประชาชนสามารถกระจายปอยู่ในพื้นที่อื่นๆได้มากขึ้น เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยที่ใช้ระยะเวลาการเดินทางเข้าสู่ใจกลางเมืองเท่าเดิม

 “สิ่งสำคัญไม่ใช่การพัฒนาระบบรางแล้วจบ แต่การให้ประชาชนมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ คือระบบฟีดเดอร์ ที่เป็นสิ่งสำคัญ โดยสิ่งที่กระทรวงคมนาคมต้องดำเนินการควบคู่ คือ การวางระบบฟีดเดอร์ที่ใช้พลังงานสะอาด เช่น รถบัสพลังงานไฟฟ้าร่วมกับการพัฒนาระบบรถไฟฟ้า เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชน ซึ่งเราอยากเห็นประชาชนที่ใส่สูทผูกไทด์ สามารถใช้ระบบขนส่งสาธารณะได้ เพื่อลดปริมาณการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลในเมือง”

ชยธรรม์ พรหมศร

ปี75 รถไฟฟ้า คลุม 554 กม.

  กระทรวงฯมีแผนพัฒนาระบบรถไฟฟ้า ระยะทาง 554 กม. จำนวน 14 สาย คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 2575 โดยในปี 2572 จะต้องดำเนินการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าให้ได้ประมาณ 80% ของทั้งระบบ เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกในการใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะ ปัจจุบันมีการเปิดบริการรถไฟฟ้าแล้ว ระยะทาง 241 กม. เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายเขียว,รถไฟสายสีแดง,รถไฟฟ้าสายสีเหลือง, รถไฟฟ้าสายนํ้าเงิน,ร ถไฟฟ้าสายสีม่วง, รถไฟฟ้าสายสีทอง

  ส่วนรถไฟฟ้าที่ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง เช่น รถไฟฟ้าสายชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี, ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์), รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ฯลฯ ขณะที่แผนพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้า ระยะที่ 2 (M-Map2) ยังพบว่ามีเส้นทางที่น่าสนใจคือ เส้นทางที่เชื่อมต่อบางหว้าของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียววิ่งบนถนนราชพฤกษ์ซึ่งจะเชื่อมต่อกับบางบำหรุของโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน พบว่าแนวเส้นทางดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่มีประชาชนอาศัยค่อนข้างมาก

เร่งเต็มสูบมอเตอร์เวย์-ทางด่วน

    ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมยังเร่งรัดให้กรมทางหลวง (ทล.) ดำเนินโครงการทางพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง จำนวน 3 โครงการ ประกอบด้วย มอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา ,มอเตอร์เวย์สายบางใหญ่-กาญจนบุรี และมอเตอร์เวย์สายบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว

     สำหรับโครงการที่อยู่ระหว่างขั้นตอนศึกษาออกแบบ จำนวน 3 โครงการ ประกอบด้วย มอเตอร์เวย์ ช่วงนครปฐม-ปากท่อ ,มอเตอร์เวย์ ช่วงวงแหวนรอบ 3 ด้านตะวันออก ทล.305 ถึงฉลองรัช และการพัฒนาทางหลวงด้านเหนือกรุงเทพฯ (Junction บางปะอิน)

 

ชงครม.ใหม่ไฟเขียว 1.13 แสนล้าน

               ปัจจุบันโครงการที่อยู่ระหว่างเตรียมเสนอขออนุมัติกระทรวงคมนาคม,คณะกรรมการ PPP,และครม.ชุดใหม่เห็นชอบภายในปีนี้ หลายโครงการ เช่น มอเตอร์เวย์ส่วนต่อขยายดอนเมืองโทรลล์เวย์ ระยะทาง 22 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 31,375 ล้านบาท ,มอเตอร์เวย์สายบางขุนเทียน-บางบัวทอง ระยะทางประมาณ 35.85 กิโลเมตร วงเงิน 56,035 ล้านบาท และมอเตอร์เวย์สายบางบัวทอง-บางปะอิน ระยะทาง 34.1 กม. วงเงินลงทุนก่อสร้าง 15,260 ล้านบาท

     ทั้งนี้ยังมีรถไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างเตรียมเสนอครม.ชุดใหม่พิจารณาภายในปีนี้ด้วยเช่นกัน จำนวน 5 โครงการ อาทิ รถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีแดงช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 4,616 ล้านบาท, ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กม. วงเงิน 6,468 ล้านบาท และช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.8 กม. วงเงิน 10,670 ล้านบาท ฯลฯ

 

ลุยต่อรถไฟทางคู่

               นายชยธรรม์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันรฟท.ได้มีการพัฒนารถไฟทางคู่ ระยะที่ 1 จำนวน 5 เส้นทาง วงเงิน 82,581 ล้านบาทประกอบด้วย 1.ช่วงลพบุรี-ปากนํ้าโพ ระยะทาง 148 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 18,699 ล้านบาท 2.ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 132 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 29,900 ล้านบาท 3.ช่วงนครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 169 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 15,718 ล้านบาท 4.ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 84 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 5,807 ล้านบาท 5.ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 167 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 12,457 ล้านบาท คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปลายปี 2566-ต้นปี 2567

               นอกจากนี้จะดำเนินการพัฒนารถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 จำนวน 7 เส้นทาง วงเงิน 2.74 แสนล้านบาท ประกอบด้วย 1.ช่วงปากน้ำโพ – เด่นชัย ระยะทาง 285 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 6.28 หมื่นล้านบาท 2.ช่วงขอนแก่น – หนองคาย ระยะทาง 167 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 2.97 หมื่นล้านบาท 3.ช่วงชุมทางถนนจิระ – อุบลราชธานี ระยะทาง 308 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 3.75 หมื่นล้านบาท 4.ช่วงชุมพร – สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 168 กิโลเมตร(กม.) วงเงิน 2.42 หมื่นล้านบาท, 5.ช่วงสุราษฎร์ธานี - ชุมทางหาดใหญ่ – สงขลา ระยะทาง 321 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 5.73 หมื่นล้านบาท 6.ช่วงชุมทางหาดใหญ่ - ปาดังเบซาร์  ระยะทาง 45 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 6.66 พันล้านบาทและ 7.ช่วงเด่นชัย - เชียงใหม่ ระยะทาง 189 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 5.68 หมื่นล้านบาท

 

ไฮสปีด 4 ทิศทาง

   ขณะเดียวกันได้มีการวางแผนโครงการรถไฟความเร็วสูงทั้ง 4 ทิศทาง ที่จะเชื่อมต่อกับรถไฟในประเทศจีน แบ่งเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย 1.ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา อยู่ระหว่างก่อสร้าง 2.ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ปัจจุบันออกแบบรายละเอียดใกล้แล้วเสร็จ 3.ช่วงหนองคาย-เวียงจันทน์เพื่อเชื่อมต่อรถไฟจีน

พลิกโฉมรอบสถานี

       “เมื่อมีการสร้างระบบรถไฟฟ้าแล้วยังมีการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีกลางบางซื่อ (TOD) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการศึกษาร่วมกับไจก้า โดยปัจจุบันรฟท.ได้มีการตั้งบริษัทลูกหรือบริษัทเอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (SRTA) เพื่อจัดการบริหารพื้นที่โดยรอบ รวมทั้งที่ดินแปลงอื่นๆของรฟท.อีกด้วย”

แผนพัฒนาโครงข่าย