คมนาคม ชงครม.ใหม่ ไฟเขียว "มอเตอร์เวย์" 3 สาย 1.02 แสนล้าน

02 ส.ค. 2566 | 13:43 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ส.ค. 2566 | 13:49 น.

คมนาคมเตรียมชงครม.ใหม่ เคาะใช้แหล่งเงินกู้ สร้างมอเตอร์เวย์ 3 สาย 1.02 แสนล้าน หลังยุบสภา-เลือกตั้งใหม่ กระทบโครงการดีเลย์ เล็งเปิดประมูลภายในปลายปี 67-68 คาดเปิดให้บริการปี 72

ปัจจุบัน “ทางหลวง” ได้เริ่มดำเนินก่อสร้างมอเตอร์เวย์หลายเส้นทาง เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางจากกรุงเทพฯสู่ภูมิภาคได้สะดวกรวดเร็วมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยแก้ปัญหาการจราจรติดขัดและลดระยะเวลาการเดินทางในอนาคตอีกด้วย 

นายปิยพงษ์ จิวัฒนกุลไพศาล รองอธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา กรมฯ มีแผนจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดเดิมพิจารณาเห็นชอบดำเนินโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หรือ "มอเตอร์เวย์" จำนวน 3 โครงการ รวมวงเงิน 102,653 ล้านบาท ประกอบด้วย  

  1. โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ด้านตะวันตก) หรือ M9 ช่วงบางขุนเทียน-บางบัวทอง วงเงิน 56,035 ล้านบาท
  2. โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ด้านตะวันตก) หรือ M9 ช่วงบางบัวทอง-บางปะอิน วงเงิน 15,260 ล้านบาท 
  3. โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข หรือดอนเมืองโทลล์เวย์ ช่วงรังสิต-บางปะอิน (M5) วงเงินค่าลงทุนก่อสร้าง 31,358 ล้านบาท

แต่ปัจจุบันไม่สามารถเสนอรัฐบาลชุดเดิมได้ทัน เนื่องจากมีการยุบสภาเพื่อเลือกตั้ง 2566 ไปก่อน ส่งผลให้โครงการเกิดความล่าช้า

 

ภาพประกอบข่าว โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หรือ "มอเตอร์เวย์" 

อย่างไรก็ตามในเบื้องต้น กรมฯ มีแผนจะเสนอต่อกระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่พิจารณาเห็นชอบหลักการเพื่อขอใช้เงินกู้ จำนวน 2 โครงการก่อน ประกอบด้วย

1.โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ด้านตะวันตก) หรือ M9 ช่วงบางขุนเทียน-บางบัวทอง ระยะทางประมาณ 35.85 กิโลเมตร วงเงิน 56,035 ล้านบาท

ปัจจุบันได้ผ่านความเห็นชอบคณะกรรมการ PPP แล้ว หากผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะเริ่มประกาศเชิญชวนให้เอกชนร่วมลงทุนภายในกลางปีหรือปลายปี 2567 หลังจากนั้นจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ภายในปี 2568 ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี คาดว่าจะเปิดให้บริการปี 2572

2.โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ด้านตะวันตก) หรือ M9 ช่วงบางบัวทอง-บางปะอิน ระยะทาง 34.1 กิโลเมตร วงเงินลงทุนก่อสร้าง 15,260 ล้านบาท

เบื้องต้นกรมฯจะเสนอต่อ ครม. ขอใช้แหล่งเงินกู้เพื่อดำเนินการก่อสร้างงานโยธา หลังจากนั้นจะเจรจาร่วมกับสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เพื่อขอใช้แหล่งเงินกู้ หากได้ข้อสรุปแหล่งเงินกู้แล้วจะเสนอต่อ ครม. พิจารณาเห็นชอบการประมูลโครงการฯ คาดว่าจะเริ่มเปิดประมูลและดำเนินการก่อสร้างภายในปลายปี 2568 ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี

ส่วนงานติดตั้งระบบและบำรุงรักษา เบื้องต้นกรมฯจะใช้งบประมาณจากกองทุนมอเตอร์เวย์เพื่อดำเนินการก่อสร้างเอง คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2572  

นายปิยพงษ์ กล่าวว่า ระหว่างนี้ช่วงที่รอเสนอต่อครม.เพื่อเห็นชอบโครงการมอเตอร์เวย์ ช่วงบางบัวทอง-บางปะอิน นั้น กรมฯอยู่ระหว่างดำเนินโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 3901 และ 3902 สายทางคู่ขนานวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ด้านตะวันตก) ขนาด 3 ช่องจราจรไป-กลับ เบื้องต้นกรมฯต้องรอการก่อสร้างทางขนานให้แล้วเสร็จ เพื่อเปิดการจราจรให้ผู้ใช้ทางสามารถใช้ทางขนานได้ก่อน

โดยกรมฯ ได้แบ่งการก่อสร้างเป็น 4 สัญญา นอกจากนี้ภายในปีนี้กรมฯจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างทางขนานข้ามสะพานแม่น้ำเจ้าพระยา โดยใช้งบประมาณปี 2566 เพื่อก่อสร้างสะพานฯ หากก่อสร้างทางขนานดังกล่าวแล้วเสร็จ คาดว่าจะเริ่มทยอยเปิดให้บริการได้บางช่วง

โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หรือ "มอเตอร์เวย์" 

ส่วนโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข หรือดอนเมืองโทลล์เวย์ ช่วงรังสิต-บางปะอิน (M5) ระยะทาง 22 กม. วงเงินค่าลงทุนก่อสร้าง 31,358 ล้านบาท (ค่างานโยธา 30,125 ล้านบาท ค่าเวนคืน 78 ล้านบาท ค่างานระบบ 1,155 ล้านบาท

ขณะนี้ได้ผ่านความเห็นชอบคณะกรรมการ PPP แล้ว โดยโครงการจะใช้รูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP Gross Cost) โดยกรมฯจะเป็นผู้ลงทุนการก่อสร้างงานโยธาและจ้างเอกชนบริหารจัดการ อายุสัญญาสัมปทาน 30 ปี ซึ่งโครงการฯนี้กรมฯจะเสนอต่อกระทรวงคมนาคมและ ครม. ชุดใหม่พิจารณาเห็นชอบด้วยเช่นกัน

สำหรับโครงการมอเตอร์เวย์ส่วนต่อขยายดอนเมืองโทลล์เวย์ ช่วงรังสิต-บางปะอิน มีจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อกับดอนเมืองโทลเวย์ที่เปิดให้บริการในปัจจุบัน บริเวณทางแยกต่างระดับรังสิต (ประมาณ กม.33+924 ของทางหลวงหมายเลข 1 หรือถนนพหลโยธิน) และจุดสิ้นสุดโครงการอยู่ที่บริเวณทางแยกต่างระดับบางปะอิน (ประมาณ กม.1+800 ของทางหลวงหมายเลข 32 หรือถนนสายเอเชีย)

สามารถเชื่อมต่อได้โดยตรงกับ มอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-นครราชสีมา ครอบคลุมพื้นที่ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี และ อ.บางปะอิน อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา