ตลาดสินค้าอินทรีย์ โดยเฉพาะ ข้าว ผัก ผลไม้ของโลก กำลังเติบโตสูงและเป็นเทรนด์ที่ตอกย้ำว่าทุกคนใส่ใจ เรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะตลาดสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา หนึ่งในกุญแจสำคัญที่สร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคได้คือการตรวจสอบย้อนกลับสินค้าเกษตรอินทรีย์ด้วยเทคโนโลยี Blockchain” ซึ่งจะช่วยให้สินค้าเกษตรอินทรีย์ไทยเข้าสู่ตลาดได้ มีความน่าเชื่อถือ และมีโอกาสวางบนชั้นจำหน่ายสินค้าในประเทศต่าง ๆ ได้มากขึ้น
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ได้ร่วมกับ สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ริเริ่มและผลักดันโครงการประยุกต์ใช้ Blockchain ยกระดับเศรษฐกิจการค้าสินค้าเกษตรอินทรีย์ต่อเนื่องตลอด 4 ปี พัฒนาระบบต้นแบบ TRACETHAI.com สำหรับใช้ตรวจสอบย้อนกลับที่มาและใบรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ไทย โดยล่าสุดจัดงานสัมมนาโครงการฯ และกิจกรรม “Organic Day” ยกระดับขับเคลื่อน TRACETHAI.com ก้าวสู่เครือข่ายที่กว้างขึ้น
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า กระทรวงพาณิชย์มุ่งส่งเสริมการตลาดสินค้าออร์แกนิคให้เติบโตต่อเนื่อง เพื่อตอบโจทย์นโยบายเศรษฐกิจที่มุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (BCG) ซึ่งปัจจุบันมีเกษตรกรปรับเปลี่ยนวิถีการปลูกมาเป็นแบบเกษตรอินทรีย์มากขึ้น โดย TRACETHAI.com จะสร้างความมั่นใจให้ผู้ซื้อ เนื่องจากตรวจสอบย้อนกลับได้ตั้งแต่การผลิต รวบรวม บรรจุ และจัดจำหน่ายไปยังผู้บริโภค โดยนำร่องสินค้าข้าวอินทรีย์ซึ่งมีศักยภาพส่งออกสูง และปัจจุบัน TRACETHAI.com ยังรองรับพืชอินทรีย์อื่น ๆ อาทิ ผัก ผลไม้ เห็ด โกโก้ และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากวัตถุดิบอินทรีย์
ปี 2566 กระทรวงพาณิชย์ โดย สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ยกระดับการทำงานร่วมกับ สำนักงานพาณิชย์จังหวัด สำนักงานเกษตรจังหวัด และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในการเผยแพร่ความรู้และเชิญชวนให้ผู้ประกอบการค้าสินค้าเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ เข้าร่วมงานสัมมนาและอบรมทั่วประเทศ รวม 13 จังหวัด สร้างเครือข่ายผู้เข้าร่วม 468 คน รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นเพื่อพัฒนาต่อยอดเครือข่ายผู้ค้าเกษตรอินทรีย์ให้ยั่งยืนต่อไป
“กระแสตอบรับสินค้าเกษตรอินทรีย์ ของคนรักสุขภาพมีสูงขึ้นอย่างมาก แต่การผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ไม่ใช่เรื่องง่าย ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันทั้งเกษตรกร รัฐ และเอกชน ซึ่งการตรวจสอบย้อนกลับสินค้าเกษตรอินทรีย์ด้วยเทคโนโลยี Blockchain ผ่าน TRACETHAI.com จะช่วยให้เกิดความน่าเชื่อถือของสินค้าเกษตรอินทรีย์ไทย และได้รับการยอมรับในตลาดโลกมากขึ้นในอนาคต”
ด้าน นายนิมิตร ฆังคะจิตร พาณิชย์จังหวัดปทุมธานี กล่าวเสริมว่า การสนับสนุนสินค้าเกษตรอินทรีย์เป็นหนึ่งในแผนงานหลัก เนื่องจากจังหวัดปทุมธานีเป็นเมืองอุตสาหกรรมและการค้ามีผู้ประกอบการสนใจธุรกิจสุขภาพจำนวนมาก เรามีเครือข่ายพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ เครือข่ายร้านค้าประชารัฐ และทูตพาณิชย์ทั่วโลก พร้อมเป็นเซลล์แมนช่วยส่งเสริมตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทย
“สิ่งสำคัญคือเรื่องความเชื่อมั่น ดังนั้น การตรวจสอบย้อนกลับสินค้าเกษตรอินทรีย์ด้วย Blockchain หรือ TRACETHAI.com จึงเป็นโครงการที่ทำให้ผู้ประกอบการขยายตลาดได้และทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันส่งเสริมศักยภาพการผลิตให้สูงขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของผู้ซื้อในต่างประเทศ”
ศาสตราจารย์ ดร.อาณัติ ลีมัคเดช ผู้อำนวยการศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญาและบ่มเพาะวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หัวหน้าที่ปรึกษาโครงการฯ กล่าวว่า ปัจจุบันมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ของประเทศต่างๆ เพิ่มขึ้นและปรับปรุงใหม่เป็นระยะๆ ยกตัวอย่าง กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ หรือ USDA (U.S. Department of Agriculture) ผู้ออกตรารับรองอาหารและผลิตภัณฑ์ให้ปลอดภัยและน่าเชื่อถือ ได้ออกประกาศกฎระเบียบใหม่บังคับใช้เมื่อเดือนมีนาคม 2566 สาระสำคัญ คือ ให้มีการคุมเข้มการบันทึกข้อมูลและตรวจสอบย้อนกลับตลอดกระบวนการ สอดคล้องกับผลการสำรวจผู้บริโภคสหรัฐฯ 67% กังวล เรื่องความปลอดภัยต้องการทราบที่มาอาหาร และ 64% ยินดีเปลี่ยนมาใช้แบรนด์ที่ให้ข้อมูลสินค้าเชิงลึกมากขึ้นด้วย
ดังนั้น TRACETHAI.com ซึ่งออกแบบโดยเทคโนโลยี Blockchain ช่วยตรวจสอบย้อนกลับสินค้าเกษตรอินทรีย์ และผู้บริโภคสามารถใช้งานง่ายผ่านคิวอาร์โค้ด ไม่ต้องติดตั้งโปรแกรมยุ่งยาก ตอบโจทย์ผู้ผลิตและผู้บริโภค 5 ด้าน คือ 1. ความต้องการด้านข้อมูลของผู้บริโภค 2. การควบคุมวัตถุดิบและกระบวนการผลิตให้มั่นใจได้ว่าเป็นสินค้าอินทรีย์จริง 3. การจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างมีประสิทธิภาพ 4. การสร้างความโปร่งใส ความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม ช่วยลดปัญหาการปลอมแปลงเอกสาร หรืออ้างมาตรฐานใบรับรองเกษตรอินทรีย์ที่ไม่ถูกต้อง และ 5. ความสอดคล้องกับกฎระเบียบการค้าของประเทศคู่ค้า