ประมูลประปามหาสวัสดิ์ 6.5 พันล้าน บานปลาย เอกชนสู้ กปน. ไม่เป็นธรรม

27 ก.ค. 2566 | 14:44 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ก.ค. 2566 | 14:49 น.

เอกชนแย้ง กปน. ลงนามสัญญาจ้างโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ วงเงิน 6,500 ล้าน ไม่เป็นธรรมกับผู้เสนอราคาต่ำสุด แม้คำอุทธรณ์ฟังขึ้น แต่ลงนามจ้างบริษัทที่เสนอราคาสูงกว่า

กลายเป็นประเด็นร้อนปานปลาย สำหรับโครงการก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่ โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ ขนาด 800,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน มูลค่าโครงการรวม 6,526 ล้านบาท ของ การประปานครหลวง (กปน.) ที่ได้ผ่านการประกวดราคาใน ระบบอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อช่วงปลายปี 2564 และมีการลงนามในสัญญาจ้าง

โดยไม่รับฟังผลการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลาง ที่มีหนังสือแจ้ง การประปานครหลวง (กปน.) ว่าอุทธรณ์ของผู้ร้องฟังขึ้น ก่อนจะมีการลงนามในสัญญาจัดซื้อจัดจ้างกับบริษัทผู้เสนอราคาสูงกว่า

แม้มีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ของบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด และบริษัท ชิโน-ไทย เอนจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ที่ลงนามโดยอธิบดีกรมบัญชีกลาง ปฏิบัติราชการแทนปลัดกระทรวงการคลัง ลงวันที่ 3 พ.ค. 2565 ระบุว่า กรณีผู้อุทธรณ์ทั้ง 2 ราย ยื่นข้อเสนอประกวดราคาเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดในเอกสารการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์แล้ว (มีหนังสือรับรองผลงานที่มีกำลังการผลิต Nominal Capacity 100,000 ลบ.ม.ต่อวัน)

ข้อกล่าวอ้างของผู้อุทธรณ์จึงฟังขึ้น และมีผลต่อการจัดซื้อจัดจ้างอย่างมีนัยสำคัญ ตามหนังสือฉบับดังกล่าว พร้อมให้ กปน. กลับไปดำเนินการในขั้นตอนการพิจารณาผลการเสนอราคา ของผู้ยื่นข้อเสนอให้ถูกต้องต่อไป ตามนัยมาตรา 119 วรรคสองแห่ง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560

ในเวลาต่อมาแทนที่ทาง กปน.จะพิจารณาตามผลอุทธรณ์ และขั้นตอนด้วยการพิจารณาคัดเลือกจากบริษัทที่เสนอราคาต่ำสุด ซึ่งได้ยื่นรายละเอียดคุณสมบัติเพิ่มเติมตามที่ กปน. กำหนดแล้ว แต่กลับไปดำเนินการลงนามในสัญญากับบริษัท ITA Consotium เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2566 

แม้ต่อมาบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง ได้ยื่นอุทธรณ์อีกครั้ง แต่ กปน.ไม่ได้ส่งเรื่องการยื่นอุทธรณ์การจัดซื้อจัดจ้างงานฯ ให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลาง พิจารณา ซึ่งการกระทำของ กปน. ดังกล่าว เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สำหรับการขอตรวจสอบผลงานของบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง ของคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ในประเด็นขนาดกำลังผลิตน้ำไม่ถึง 100,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน

ตามที่ทางคณะกรรมการฯ ของ กปน. ให้บริษัทฯ ชี้แจงเพิ่มเติมหลังจากไม่ผ่านคุณสมบัติในรอบแรกนั้น ได้ยื่นเอกสารรับรองผลงานก่อสร้างปรับปรุงขยายการประปาส่วนภูมิภาค สาขาสุราษฎร์ธานี ซึ่งมีผลงานครบถ้วนตามเงื่อนไข TOR และสอดคล้องกับผลการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ ที่แจ้งว่าอุทธรณ์ฟังขึ้น

พร้อมกันนี้โครงการดังกล่าว ได้ถูกคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร สอบข้อเท็จจริง โดยเนื้อหาผลสอบสรุปตอนหนึ่งระบุว่า

หากไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลาง จะลงนามในสัญญายังไม่ได้ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะมีความผิดฐานละเว้นหรือไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 120 และมาตรา 121 และขัดคำสั่งเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา 

ทั้งนี้ ผู้บริหารระดับสูง กปน. กับพวก ที่มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาเรื่องนี้กลับไม่ปฏิบัติตามความเห็นของคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารงานพัสดุภาครัฐ กรมบัญชีกลาง

ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารงานพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ที่กำหนดให้การวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เป็นที่สุด

แม้ กปน.จะยังไม่ประกาศว่าการประกวดราคาครั้งนี้บริษัทใดชนะการประกวดราคาตามระเบียบก็ตาม (ประกาศผู้ชนะการประกวดราคา 24 มี.ค. 66) แต่การที่ กปน. ประวิงการประกาศผู้ชนะและมีพฤติการณ์ต่างๆ ที่แสดงว่าเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบด้วยกฎหมายก็ทำให้บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง ได้รับความเสียหายจากการกระทำดังกล่าวแล้ว

ดังนั้นพฤติการณ์ และการกระทำดังกล่าวของผู้บริหารระดับสูงของ กปน. กับพวก อาจเข้าข่ายความผิดฐานต่อตำแหน่งหน้าที่ ละเว้นหรือไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารงานพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 120 และมาตรา 121 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 

โดยข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ คือให้ส่งเรื่องพฤติการณ์ทั้งหมดนี้ไปยังประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาไต่สวนบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาโครงการนี้ จำนวน 10 ราย

อีกทั้งให้ส่งเรื่องไปยังปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงมหาดไทย และแจ้งประธานสภาผู้แทนราษฎร ทราบต่อไป อย่างไรก็ตาม ต่อมาบริษัทวงษ์สยามก่อสร้างได้ยื่นฟ้องศาลปกครอง

โดยเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2566 ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่ง ทุเลาการบังคับตามประกาศการประปานครหลวง ลงวันที่ 7 มี.ค. 2566 เรื่อง ประกาศผู้ชนะการเสนอราคา ประกวดราคาจ้างก่อสร้างงานก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์

พร้อมงานที่เกี่ยวข้อง ตามที่ กปน.ประกาศให้ ITA Consortium เป็นผู้ชนะการเสนอราคาไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น แต่ กปน. ก็อ้างว่าได้ลงนามในสัญญาไปก่อนศาลปกครองกลางจะมีคำสั่ง

สำหรับโครงการดังกล่าวนี้ มีผู้ยื่นเสนอราคา 5 ราย ประกอบด้วย

  1. บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง ยื่นเสนอราคาต่ำสุดที่ 6,150,000,000 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 376,973,718.58 ล้านบาท
  2. บริษัท ชิโน-ไทย เอนจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น ยื่นเสนอ 6,195,300,000 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 331,673,718.58 ล้านบาท
  3. บริษัท ITA Consortium ยื่นเสนอ 6,460,560,000 ล้านบาท (กิจการร่วมค้าระหว่างบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนท์ จำกัด กับบริษัท อควาไทย จำกัด) ต่ำกว่าราคากลาง 66,413,718.58 ล้านบาท
  4. บริษัท ช.การช่าง ยื่นเสนอ 6,523,800,000 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 3,173,718.58 ล้านบาท
  5. กิจการร่วมค้า สี่แสงเอสจี ยื่นเสนอ 6,525,000,000 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 1,973,718.58 ล้านบาท