TCELS โต้โผพัฒนาเครือข่ายเมืองสุขภาพ คัด 3 หัวเมืองต้นแบบ

27 พ.ค. 2559 | 16:40 น.
อัปเดตล่าสุด :28 พ.ค. 2559 | 00:19 น.
ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  เปิดเผยว่า  ในการประชุมเครือข่ายเมืองสุขภาพ Medicopolis for Better Healthcare in AEC โดยมี TCELS เป็นเจ้าภาพจัดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้ ประสบความสำเร็จอย่างมาก เนื่องจากมีผู้เข้าร่วมประชุมจากทุกภาคส่วนทั้ง ภาครัฐ เอกชน มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล จังหวัดนำโดยผู้ว่าราชการจังหวัดและนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว สตาร์ทอัพ สวางคนิเวส TCEB   ฯลฯ  โดยทุกฝ่ายมองว่า การสร้างเครือข่ายและนวัตกรรมสุขภาพในพื้นที่ต่าง ๆ นั้นเป็นแนวทางที่น่าสนใจ ในส่วนของ TCELS นั้น มีบทบาทในการนำเทคโนโลยี ซึ่งได้แก่ ยา วัคซีน สมุนไพร เครื่องมือแพทย์ และบริการสุขภาพอื่น ๆ ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ รวมทั้งผลักดันให้เป็นนโยบายระดับชาติ

ศ.ดร. มนตรี จุฬาวัฒนทล ที่ปรึกษา TCELS ในฐานะผู้ริเริ่มโครงการ Medicopolis (เมดิโคโพลิส) เวชนคร กล่าวว่า TCELS ได้ริเริ่มโครงการ เมดิโคโพลิส เวชนคร ตั้งแต่ปี 2555 โดยได้ดำเนินการครอบคลุมรูปแบบการบริการสุขภาพที่ยั่งยืน มีองค์ประกอบทางด้านชีววิทยาศาสตร์ได้แก่ ยา อาหารเสริมสุขภาพ วัคซีน เครื่องมือแพทย์และอื่น ๆ มีการร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน การสร้างเศรษฐกิจที่เกิดจากการบริการด้านสุขภาพ และจะขยายผลสู่อาเซียน นอกจากนี้ยังเชื่อมโยงการดูแลสุขภาพใน 3 มิติได้แก่ ผู้สูงอายุ การป้องกันและส่งเสริมเพื่อให้มีสุขภาพดี และด้านความงาม โดยทั้ง 3 มิติ  เสริมด้วยการวิจัย การพัฒนา การผลิตและการตลาด medicopolis4

รศ.ดร.วิโรจน์ อิ่มพิทักษ์ นายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และที่ปรึกษา TCELS กล่าวว่า โครงการเมดิโคโพลิส เวชนคร มีเป้าหมายหลักคือทำให้คนไทยกินดีอยู่ดี เป็นแนวทางของการป้องกันมากกว่าการแก้ไข ซึ่งกลไกในการขับเคลื่อนมี 3 ระยะคือ ระยะที่ 1 ช่วงเรียกแขก ซึ่งได้ดำเนินการแล้วในการจัดงาน Life Science Garden เมื่อปี 2557

ระยะที่ 2 คือ ช่วงสร้างเครือข่ายซึ่งดำเนินการต่อจากปี 2557 เรื่อยมากับ 3 จังหวัดต้นแบบคือ จ.ปราจีนบุรี เป็นเวชนครแห่งสมุนไพร โดยมีโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรเป็นต้นแบบหลักและเป็นแม่ข่ายที่สำคัญ จ.สกลนครเป็นธรรมเวชนครควบคู่กับการมีวิถีชีวิตที่เป็นธรรมชาติแต่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวแห่งภาคอีสาน และ จ.ระนอง เป็นเวชนครแห่งน้ำแร่ธรรมชาติและธาราบำบัด และจากการสร้างเครือข่ายดังกล่าวทำให้เกิดเป็นการประชุมในครั้งนี้  และระยะที่ 3 คือ การสร้างเมือง ซึ่งอยู่ในระหว่างการพิจารณาสรรหาพื้นที่ที่มีความเหมาะสมต่อไป

ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ซึ่งเป็นจังหวัดนำร่องของโครงการเมดิโคโพลิส เวชนคร มีจุดแข็งทางด้านสมุนไพร และมีการวิจัยมาอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เป็นเสมือนห้องรับแขกด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรของประเทศ เพื่อการพึ่งตนเองและการแข่งขันอย่างยั่งยืน โดยการเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมและการพัฒนาสมุนไพรและการแพทย์แผนไทยในด้านการพัฒนาแบบครบวงจรจากงานวิจัยเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ และการบริการที่มีคุณภาพสากล การเป็นต้นแบบของแหล่งเรียนรู้ด้านสมุนไพรและการแพทย์แผนไทย เพื่ออนุรักษ์ พัฒนา คุ้มครองและส่งต่อความรู้ด้านสมุนไพรและการแพทย์แผนไทย ตลอดจนเป็นตลาดให้กับนวัตกรรมด้านการบริการด้านสมุนไพร การแพทย์แผนไทย และเป็นแหล่งท่องเที่ยวในระดับนานาชาติ

ด้านนายอดิศักดิ์  เทพอาสน์  ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนครกล่าวว่า สกลนครมีเครือข่ายประชาคมที่เข้มแข็ง ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร เครือข่ายด้านสาธารณสุข เครือข่ายหอการค้าและนักธุรกิจที่ร่วมกับเครือข่ายจากประเทศในเออีซี มีการส่งเสริมพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่นมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ไก่ดำ หมูดำ และโคดำ เป็น 3 ดำมหัศจรรย์แห่งเทือกเขาภูพาน รวมถึงการมีวัดคำประมงเป็นจุดแข็งเรื่องการใช้สมุนไพรผสมผสานกับการแพทย์แผนปัจจุบัน ควบคู่กับการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, ธรรมะและสมาธิบำบัด  มาใช้ในการรักษาโรคมะเร็งจนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักและได้รับการเสนอข่าวทั้งในประเทศและต่างประเทศนำประโยชน์มาสู่ชุมชนและเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก จุดนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นของเมดิโคโพลิส อย่างแท้จริงและจะต้องได้รับการสานต่ออย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ตัวแทนกลุ่มสตาร์ทอัพ ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ของสกลนครและระนองมองว่า การมีเวชนครเกิดขึ้นในพื้นที่สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและกระแสความตื่นตัวด้านการรักสุขภาพ และยังเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดธุรกิจ สตาร์ทอัพแนวใหม่ๆ ที่หลากหลายขึ้นด้วย เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ ไลฟ์สไตล์ และท่องเทียวเชิงธรรมชาติ ท่องธรรมชาติที่ใช้สมุนไพรเป็นตัวนำ ท่องเที่ยวเมืองน้ำแร่และสปาโดยใช้สมุนไพร บริการดูแลผู้สูงอายุหลังวัยเกษียณ ธุรกิจโลจิสติกส์ด้านอาหารสดคุณภาพสูงแบบจากไร่ส่งตรงถึงผู้บริโภคเป็นต้น ทั้งนี้ไม่เพียงแต่ภาคอีสาน ภาคใต้ และภาคตะวันออกเท่านั้นที่ร่วมเป็นเมืองต้นแบบเมดิโคโพลิส ภายในงานนี้ ภาคเอกชนจากภาคเหนือนำโดยจังหวัดเชียงใหม่ ยังเสนอตัวขอเข้าร่วมเป็นเครือข่ายเมดิโคโพลิสsแห่งภาคเหนืออีกแห่งหนึ่งด้วย และพร้อมให้ความร่วมมือผลักดันระดับจังหวัดและขยายความร่วมมือไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศลาวและข้ามไปยังจีนและญี่ปุ่นต่อไปอีกด้วย