ยื้อตั้งรัฐบาล ทุบ ศก.ดิ่ง มีสิทธิ์ต่ำ 3% ต่างชาติเทขายหุ้น-ตราสาร 1.2 แสนล.

14 ก.ค. 2566 | 13:15 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ก.ค. 2566 | 15:34 น.

เอกชน-นักวิชาการห่วงตั้งรัฐบาลยื้อ การเมืองแรง ทุบเศรษฐกิจโตต่ำ 3% ต่างชาติลังเล ชะลอลงทุน สวค.ชี้เบิกจ่ายงบช้าทำลงทุนรัฐสะดุด ขณะ 2 เดือนหลังเลือกตั้ง ต่างชาติเทขายหุ้น-ตราสารหนี้กว่า 1.19 แสนล้าน อสังหาฯหวังได้ผู้นำทุกฝ่ายยอมรับ ท่องเที่ยวห่วงงบ 5 พันล้านอึด

การประชุมร่วมรัฐสภาวันที่ 13 ก.ค. 2566 เพื่อโหวตให้ความเห็นชอบบุคคลที่สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 โดย นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้เสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งสรุปผลนายพิธาได้รับเสียงสนับสนุนไม่เพียงพอให้เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะนำสู่กระบวนการขั้นตอนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในครั้งต่อไป อย่างไรก็ดีสิ่งที่ทุกฝ่ายกังวลมากที่สุดในเวลานี้คือ หากการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าจะส่งผลเสียต่อประเทศชาติมหาศาล

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เอกชนยังคงหวังว่าทุกฝ่ายจะช่วยกันสนับสนุนให้เกิดรัฐบาลใหม่โดยเร็วที่สุด ไม่ยืดเยื้อ เพื่อให้เศรษฐกิจประเทศเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ในระหว่างรอการจัดตั้งรัฐบาลใหม่นี้ ภาพที่เห็นคือนักลงทุนต่างประเทศมีความลังเล และชะลอการลงทุน ชี้ให้เห็นว่านักลงทุนให้ความสำคัญกับการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่

ขณะเดียวกันยังมีความเป็นห่วงว่า หากการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าออกไปจากไทม์ไลน์จะส่งผลต่อการจัดทำงบประมาณ นโยบายเศรษฐกิจ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ต้องล่าช้าไปด้วย จะกระทบต่อภาพรวมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ขณะที่ภาคธุรกิจเอกชนในประเทศก็ต้องปรับรูปแบบและแนวทางการดำเนินธุรกิจให้สอดรับกับหลายนโยบายของว่าที่รัฐบาลใหม่ที่จะนำมาใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งเรื่องค่าแรงขั้นตํ่า นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ นโยบายด้านภาษี เหล่านี้ล้วนต้องรอความชัดเจน

สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

“ภาคเอกชนมีข้อเสนอเร่งด่วนที่อยากให้รัฐบาลใหม่เข้ามาดำเนินการใน 3 ประเด็น 1.เร่งใช้นโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ 2.รักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทที่ระดับ 34-35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นระดับที่มีความเหมาะสมในการแข่งขันของภาคส่งออก และ 3.เตรียมแผนรับมือปัญหาภัยแล้งทั้งในระยะสั้นหรือระยะยาวจากปีนี้สัญญาณภัยแล้งจากเอลนีโญมีความชัดเจน”

รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ

  • จีดีพีไทยเสี่ยงโตตํ่า 3%

ขณะที่ รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้ความเห็นว่า หากการจัดตั้งรัฐบาลมีความล่าช้า มีการพลิกขั้ว นำไปสู่ความวุ่นวาย เศรษฐกิจไทยปี 2566 จะตํ่ากว่า 3% กำลังซื้อหด นักลงทุนไม่มา ลงทุนไม่เพิ่ม การส่งออกจะติดลบมากกว่า -2% และในระยะ 3 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศที่ไม่น่ามาลงทุน เพราะการเมืองไม่มีเสถียรภาพ ทำให้นโยบายเศรษฐกิจไม่มีความแน่นอน ดังนั้นทางออกคือทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องยอมรับการตัดสินใจของประชาชน ปล่อยให้ประเทศพัฒนาตามผลการเลือกตั้ง และแก้รัฐธรรมนูญปัจจุบัน ให้เป็นไปตามครรลองประชาธิปไตย ตามนานาชาติที่เจริญแล้ว

ยื้อตั้งรัฐบาล ทุบ ศก.ดิ่ง มีสิทธิ์ต่ำ 3% ต่างชาติเทขายหุ้น-ตราสาร 1.2 แสนล.

  • ห่วงขับเคลื่อน ศก.ไม่ราบรื่น

นายสุวิทย์ สรรพวิทยศิริ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง (สวค.) กล่าวว่า สถานการณ์การเมืองในปัจจุบันไม่ว่าจะออกมาอย่างไร มีผลต่อเศรษฐกิจไทยแน่นอน แม้ในกรณีการจัดตั้งรัฐบาลของ 8 พรรคร่วมจะเกิดขึ้นได้ตามไทม์ไลน์เดิมที่กำหนดไว้ แต่ส่วนตัวมองว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยจะไม่ราบรื่น เพราะการใช้จ่ายงบประมาณจะไม่สามารถทำได้เร็ว ส่งผลกระทบต่อโครงการลงทุนในช่วงครึ่งปีหลังต่อเนื่องถึงช่วงต้นปีหน้า

“มองว่าสถานการณ์การเมืองกับเศรษฐกิจตอนนี้อาการอาจจะไม่ค่อยดีนัก ต่อให้ตั้งรัฐบาลได้ 8 พรรค ก็เชื่อว่าการขับเคลื่อนจะไม่ราบรื่นแน่นอน และมีความกังวลต่อการใช้จ่ายลงทุนรัฐ ซึ่งเดิมก็มีความกังวลอยู่แล้ว”

ส่วนการประเมินภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ในกรณีที่แย่สุดเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้เพียงแค่ 3% หรืออย่างดีก็ 3.2-3.3% เท่านั้น ยังตํ่ากว่าศักยภาพที่แท้จริงของเศรษฐกิจที่จะต้องโตได้ไม่ตํ่ากว่า 5% แต่จะปรับดีขึ้นในปีหน้าไปอยู่ที่ 4.2% โดยประเด็นที่เป็นข้อกังวลคือ เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าของไทยมีสัญญาณชะลอตัวชัดเจน โดยเฉพาะประเทศจีน ซึ่งเป็นผลพวงมาจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้ และจะกระทบต่อการส่งออกของไทยแน่นอน

  • ต่างชาติเทขายหุ้น-ตราสารหนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการลงทุนหลังการเลือกตั้งทั่วไปผ่านมา 2 เดือนพบว่า ณ วันที่ 12 กรกฎาคม 2566 ตลาดหุ้นไทยปรับลดลง 3.2% จากระดับดัชนี 1,541.14 จุดเหลือ 1,491.14 จุด อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีเพิ่มสูงขึ้นจาก 2.50% เป็น 2.57% ส่วนค่าเงินบาทอ่อนค่าลง 3.3% จากระดับ 33.78 บาทต่อดอลลาร์ลงมาอยู่ที่ระดับ 34.91 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นสุทธิ 47,460 ล้านบาท และขายสุทธิในตลาดตราสารหนี้ 72,130 ล้านบาท (รวมกว่า 1.19 แสนล้านบาท) ส่งผลให้ยอดการถือครองตราสารหนี้ของต่างชาติลดลงจาก 1.077 ล้านล้านบาท ณ วันที่ 12 พฤษภาคมเหลือ 1.012 ล้านล้านบาท ณ วันที่ 12 กรกฎาคม 2566

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้านักกลยุทธ์การลงทุนฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุนสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จำกัดหรือ CGSCIMB กล่าวว่า ในแง่พื้นฐาน หุ้นไทยไม่ได้เปลี่ยนมาก หลังการเลือกตั้งที่ผ่านมา เพียงแค่ upside น้อยลง และไม่มี Downside มากขึ้น แต่แนวโน้ม มองดัชนีหุ้นไทยที่ระดับประมาณ 1,600 จุด ถือว่าค่อนข้างตรงกับปัจจัยพื้นฐาน แต่ระดับที่ถูก ราคาไม่แพงสำหรับตลาดไทย คือ ระดับ 1,400 จุด โดย P/E อยู่ที่ 14-15เท่า

“ดัชนีที่ค้าง 1,500 จุดนาน เพราะเป็นจุด Upside กับ Downside ใกล้ชิดกันมากคือ ไม่ได้ถูกจนคนเข้าซื้อและไม่มีโอกาสนัก เพราะการเมืองยังไม่ชัดเจน แต่สังเกตว่า ปีนี้หุ้นที่ผลตอบแทนดีและผลตอบแทนแย่ไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับการเมืองเท่าไร ถ้าตลาดหุ้นโลกไปต่อ หรือมีเงินลงทุนกลับเข้ามาในเอเชีย เช่นเดียวกับหุ้นที่มีปัญหาก็ไม่เกี่ยวกับการเมือง ซึ่งในความเป็นจริง สำหรับนักลงทุนการเลือกหุ้นรายตัวมีผลมากกว่าผลกระทบทางการเมือง คือ ถ้าบริษัทดี การเมืองไม่ดีบริษัทยังดีอยู่”

สำหรับการเคลื่อนไหวของเงินบาทนั้น อ่อนค่าลง 3.3% มีผลกระทบจากการเลือกตั้งบ้าง ทำให้เงินทุนไหลเข้าน้อยลง เหตุนักลงทุนต่างชาติระมัดระวังสูง ซึ่งฟันด์โฟลว์ยังไม่ไหลเข้านัก ขณะที่เงินบาทยังคงผันผวนอ่อนค่า สวนทางสกุลเงินดอลลาร์แข็งค่า บนสมมติฐานหากตลาดการเงินโลกปิดรับความเสี่ยง (ไม่ว่าจากสถานการณ์สงครามหรือหุ้นกลุ่มเทคปรับฐานในสหรัฐ ความกังวลระหว่างสหรัฐ-จีนกลับมาร้อนแรง) โดยระยะยาวเงินบาทมีโอกาสแข็งค่า เงินทุนยังไม่ไหลเข้า ขณะที่มีโอกาสตลาดหุ้นโลกจะปรับฐาน โดยมองปลายปีเงินบาทเคลื่อนไหว 33.30-33.50 บาทต่อดอลลาร์

  • อสังหาฯผวาการเมืองทุบซํ้า

นายปิยะ ประยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ PS สะท้อนว่า ความยืดเยื้อของการจัดตั้งรัฐบาล และอาจนำไปสู่ความขัดแย้งถึงขั้นลงถนน มีส่วนกระทบการขยายตัวทางเศรษฐกิจ จากปัจจุบันสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ประมาณการตัวเลขจีดีพีปี 2566 ตํ่ากว่า 4 % หรือค่ากลางที่ 3.2% ดังนั้นต้องยุติปัญหาความขัดแย้งโดยเร็ว ไม่ให้ซํ้าเติมเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอยู่แล้วให้อ่อนแอลง

ขณะผู้นำประเทศในมุมมอง ต้องไม่ใช่ใครก็ได้ แต่ควรเป็นผู้นำที่ทุกฝ่ายให้การยอมรับ สร้างความเชื่อมั่นกับนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ ต่อยอดเศรษฐกิจให้เติบโตได้ในระยะยาว อย่างไรก็ตาม ประเมินว่า กำลังซื้อที่อยู่อาศัยกลุ่มระดับล่าง ยังมีความเปราะบางสูง และต้องใช้เวลา แต่จะให้กลุ่มเหล่านี้กลับมาซื้อที่อยู่อาศัยได้เหมือนเดิม นั่นคือการสร้างเศรษฐกิจทั้งระบบให้ฟื้นตัวดีอย่างถาวร ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเห็นได้ในเร็ววัน

สอดคล้องกับ นายวิษณุ เทพเจริญ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ณุศาศิริ จำกัด (มหาชน) หรือ NUSA ที่กล่าวว่า หากมีประชาชนลงถนนเพื่อประท้วงจากสถานการณ์ทางการเมืองมองว่าจะส่งผลผลกระทบด้านการท่องเที่ยว รวมทั้งภาคอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวลงในระยะสั้น แต่เชื่อว่าในระยะยาวจะสามารถแก้ปัญหาได้

  • ยังไม่กระทบท่องเที่ยว

นายอดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์ เลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) กล่าวว่า สถานการณ์การเมืองของไทยขณะนี้ยังไม่มีผลกระทบเชิงจิตวิทยาใด ๆ สำหรับตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาเที่ยวไทย เนื่องจากไม่มีความรุนแรง แต่สิ่งที่ผู้ประกอบการมีความกังวล คือ การจัดตั้งรัฐบาลช้า ย่อมมีผลต่องบประมาณภาครัฐในการทำการประชาสัมพันธ์ หรือ การกระตุ้นตลาดทั้งใน และ ต่างประเทศ เพราะงบประมาณในการบริหารจัดการ พัฒนา แหล่งท่องเที่ยว และบุคลากร ย่อมมีผลกระทบต่อการดำเนินการ

ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่า การการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ประเด็นในเรื่องความล่าช้าของงบประมาณประจำปี 2567 ที่ยังไม่แน่ใจว่าการจัดตั้งรัฐบาลจะมีความคืบหน้ามากน้อยเท่าใด แม้ความจริงจะเคยเจอสถานการณ์การล่าช้าของงบประมาณเกิดขึ้นมาแล้ว ก็เป็นการนำงบประมาณมาใช้ได้ในสัดส่วน 50% ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้จ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 ไปพลางก่อน ซึ่งก่อนรัฐบาลจะทำการยุบสภาททท. ได้เสนอของบประมาณปี 2567 จำนวน 5,000 ล้านบาท มากกว่าที่ได้รับในปีงบ 2566 จำนวน 1,500 ล้านบาท ซึ่งส่วนนี้ยังไม่สามารถใช้ได้ และหากมีการปรับเปลี่ยนวิธีจัดทำงบประมาณใหม่ อาทิ ทำเป็นงบประมาณฐานศูนย์ ก็ยังไม่รู้ว่าภาพจะเป็นอย่างไร โดยมองว่าแม้งบประมาณจะมาช้าแต่ก็ยังดีกว่าไม่มา ซึ่งททท.ก็จะเดินหน้าตามแผนงานที่วางไว้ต่อไป

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 3905 วันที่ 16 -19 กรกฎาคม พ.ศ. 2566