สรรพสามิตไม่ต่ออายุมาตรการลดภาษีน้ำมันเครื่องบิน

05 ก.ค. 2566 | 09:39 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ก.ค. 2566 | 09:40 น.
536

สรรพสามิตแจงไม่ต่ออายุมาตรการลดภาษีน้ำมันเครื่องบิน ชี้มีข้อจำกัดด้านกฎหมาย หลังอยู่ในช่วงรัฐบาลรักษาการ ส่วนลดการพยุงราคาน้ำมันดีเซล โยนใช้กลไกกองทุนน้ำมันฯ

นายเกรียงไกร พัฒนาภรณ์ โฆษกกรมสรรพสามิต เปิดเผยถึงกรณีสมาคมสายการบินประเทศไทย เสนอภาครัฐขยายเวลาลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเครื่องบิน หลังสิ้นสุดเมื่อสิ้นเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ว่า กรมได้พิจารณาแล้ว ซึ่งเรื่องนี้มีข้อจำกัดทางด้านกฎหมายอยู่ จึงจะไม่มีการเสนอมาตรการลดภาษีน้ำมันเครื่องบินในช่วงนี้ และอาจต้องรอให้รัฐบาลใหม่เป็นผู้พิจารณา โดยระหว่างนี้กรมฯจะศึกษาเรื่องอัตราภาษีที่เหมาะสมเพื่อเตรียมเป็นข้อมูลไว้ก่อน 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมากรมสรรพสามิต ได้ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน สำหรับเครื่องบินไอพ่น จากอัตรา 4.726 บาทต่อลิตรเหลือ 0.20 บาทต่อลิตร เป็นเวลากว่า 2 ปี เพื่อต้องการช่วยเหลือ บรรเทาภาระต้นทุนให้แก่สายการบินในช่วงเผชิญวิกฤตการปิดประเทศจากการแพร่ระบาดโควิด รวมถึงช่วยดูแลค่าครองชีพแก่ประชาชน

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สาเหตุที่กรมสรรพสามิตไม่ขยายมาตรการลดภาษีน้ำมันเครื่องบิน นอกจากจะติดขัดข้อจำกัดกฎหมาย ที่รัฐบาลในช่วงรักษาการไม่มีอำนาจอนุมัติมาตรการภาษีแล้ว อีกเหตุผลมองว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมการบิน กลับมาฟื้นตัวเต็มที่แล้ว รวมทั้งขณะนี้การท่องเที่ยวสถานการณ์ดีขึ้น หลังจากมีการเปิดประเทศและที่สำคัญคือที่ผ่านมา สายการบินหลายแห่งยังจำหน่ายค่าตั๋วโดยสารแก่ประชาชนราคาแพง แม้สรรพสามิตจะลดภาษีน้ำมันไปแล้ว

ส่วนการพิจารณาลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลิตรละ 5 บาท ซึ่งจะสิ้นสุด 20 ก.ค.66 ก็มีความชัดเจนแล้วว่ากระทรวงการคลังจะไม่เสนอขยายเวลาออกไป ซึ่งสาเหตุนอกจากจะมีการท้วงติงว่ารัฐบาลปัจจุบันไม่มีอำนาจอนุมัติได้เพราะขัดต่อแนวทางปฏิบัติอันเนื่องมาจากการยุบสภาผู้แทนราษฎร ของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี  

อีกเหตุผลหนึ่งมองว่าควรปล่อยให้กระทรวงพลังงาน ใช้กลไกน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นฝ่ายดูแลแทน เนื่องจากสถานการณ์พลังงานปัจจุบันไม่ได้อยู่ในภาวะวิกฤต โดยราคาน้ำมันดิบลดเหลือ 70-76 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล อีกทั้งสถานะเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงก็มีภาระหนี้ในส่วนหนี้น้ำมันลดลงเหลือเพียงกว่า 1 หมื่นล้านบาทเท่านั้น จึงสามารถใช้กลไกลกองทุนฯ เข้าไปดูแลเองได้ 

“อย่างไรก็ตาม เรื่องการใช้มาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ทั้งน้ำมันไอพ่น และน้ำมันดีเซล จะมีการทำต่อหรือไม่สุดท้ายคงจะต้องรอความชัดเจนนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่อีกครั้ง แต่การใช้มาตรการลดภาษีอย่างต่อเนื่อง จะมีผลเสียต่อการจัดเก็บรายได้ภาพใหญ่ของรัฐบาล รวมถึงการสร้างภาระวินัยการคลังของประเทศในระยะยาว ซึ่งที่ผ่านมารัฐต้องสูญเสียรายได้ไปกว่า 1.6 แสนล้านบาทแล้ว”