เปิดเกณฑ์ผลิตเหล้า-เบียร์ สรรพสามิตเปิดทางทุกกลุ่ม

17 มิ.ย. 2566 | 07:05 น.
724

กรมสรรพสามิตเปิดเกณฑ์ยื่นขอผลิตเหล้า เบียร์ ยันหลังพ.ย. 65 เปิดทางทุกกลุ่ม ครอบคลุมรายเล็ก กลาง ใหญ่ แจงรายใหญ่เกิดยาก เหตุตลาดคงที่นานราว 4 แสนล้านบาทต่อปี แถมห้ามโฆษณา ทำตลาดยาก ส่วนผู้ผลิตเบียร์ยังมีข้อจำกัด ติดเงื่อนไขด้านสิ่งแวดล้อม

สำหรับนโยบายสุราก้าวหน้าของพรรคก้าวไกลที่มีสาระสำคัญต้องการปลดล็อกเงื่อนไขให้มีผู้ผลิตรายย่อยและรายใหญ่ให้มากขึ้น ซึ่งนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ว่าที่นายกรัฐมนตรีประกาศว่า ถ้าเป็นรัฐบาล 100 วันแรกจะส่งนางสาวศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แก้ไขกฎกระทรวงให้ไม่สามารถมีกฎหมายกีดกันการค้าในอุตสาหกรรมแอลกอฮอล์ ไม่ต้องใช้กฎหมาย เพราะเป็นกฎกระทรวง

นายเกรียงไกร พัฒนาภรณ์ รองอธิบดีกรมสรรพสามิต ในฐานะโฆษกกรมสรรพสามิตเปิดเผย“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า นโยบายของพรรคก้าวไกลเป็นนโยบายที่สอดคล้องกับนโยบายของกรมสรรพสามิตอยู่แล้ว ดังนั้นหากพรรคก้าวไกลสามารถจัดตั้งรัฐบาลและเดินหน้านโยบายดังกล่าว ทางกรมฯก็ไม่ได้มีข้อจำกัดในเรื่องดังกล่าว

นายเกรียงไกร พัฒนาภรณ์ รองอธิบดีกรมสรรพสามิต

ทั้งนี้ก่อนหน้าผู้ผลิตสุราจะแบ่งเป็นผู้ผลิตในระดับชุมชนและรายใหญ่ แต่ตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน 2565 คณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้อนุมัติปลดล็อกให้มีผู้ผลิตตั้งแต่รายกลางขึ้นไปได้ ดังนั้นปัจจุบัน ผู้ผลิตจึงมีในทุกขนาดคือตั้งแต่ขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่

สำหรับเกณฑ์การขออนุญาตในการผลิตสุราและเบียร์ ตามกฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. 2565 มีเงื่อนไขสำคัญคือ กรณีการผลิตสุราแบ่งเป็น 3 ขนาดคือ

  • โรงอุตสาหกรรมสุราขนาดเล็ก กำหนดให้ใช้เครื่องจักรที่มีกำลังรวมหรือกำลังเทียบเท่าต่ำกว่า 5 แรงม้าหรือใช้คนงานน้อยกว่า 7 คน หรือกรณีใช้ทั้งเครื่องจักรและคนงาน โดยเครื่องจักรต่ำกว่า 5 แรงม้าและคนน้อยกว่า 7 คน
  • โรงงานอุตสาหกรรมสุราขนาดกลาง ใช้เครื่องจักรตั้งแต่ 5 แรงม้า แต่น้อยกว่า 50 แรงม้า หรือ ใช้คนงานตั้งแต่ 7 คน แต่น้อยกว่า 50 คน หรือกรณีที่ใช้ทั้งเครื่องจักรและคนงาน ซึ่งเครื่องจักรมีกำลังตั้งแต่ 5 แรงม้าแต่น้อยกว่า 50 แรงม้าและคนงานมีจำนวนตั้งแต่ 7 คนแต่น้อยกว่า 50 คน
  • โรงงานอุตสาหกรรมรุราขนาดใหญ่ ใช้เครื่องจักรตั้งแต่ 50 แรงม้าขึ้นไป

เปิดเกณฑ์ผลิตเหล้า-เบียร์ สรรพสามิตเปิดทางทุกกลุ่ม

สำหรับโรงอุตสาหกรรมสุราขนาดเล็กที่จะขยายกำลังการผลิตเป็นระดับกลาง จะต้องเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตผลิตสุราแช่ หรือสุรากลั่นชุมชนขนาดเล็กมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี และไม่เคยกระทำความผิดตามกฎหมายภาษีสรรพสามิต หรือเคยกระทำความผิดและพ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี

ส่วนกรณีการผลิตเบียร์ จะต้องเป็นโรงงานตามกฎหมายว่า ด้วยโรงงาน หรือใช้เครื่องจักรอุปกรณ์ผลิตสุราที่มีมาตรฐานที่กรมสรรพสามิตกำหนด และปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม และกฎหมายเกี่ยวกับการสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง โดยกรมสรรพสามิตได้ยกเลิกทุนจดทะเบียนและกำลังการผลิตสำหรับผู้ขออนุญาตผลิตเบียร์

“ผู้ผลิตสุราขนาดเล็กหรือในระดับชุมชน ปัจจุบันมีผู้ผลิตอยู่แล้วนับพันราย ส่วนรายกลางนั้นตั้งแต่เราเปิดเงื่อนไข ขณะนี้ ยังไม่มีผู้ผลิตรายกลางยื่นจดทะเบียนเป็นผู้ผลิตเข้ามามากนัก ส่วนรายใหญ่นั้น ในปัจจุบันก็มีจำนวนไม่มากนักเช่นกัน ฉะนั้น ถ้ามองอย่างนี้ นโยบายเราก็สอดรับกับพรรคก้าวไกล ซึ่งเราเพิ่มให้แล้ว”นายเกรียงไกรกล่าว

สำหรับผู้ผลิตสุรารายใหญ่นั้น แม้ว่ากรมสรรพสามิตจะไม่มีข้อจำกัด แต่มองว่า ผู้ผลิตรายใหญ่จะเกิดขึ้นได้ยาก เนื่องจากมูลค่าการตลาดสุรานั้น อยู่ในระดับที่คงที่มานานราว 4 แสนล้านบาทต่อปี ทำให้ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน สาเหตุเพราะมีกฎหมายห้ามการโฆษณา เพื่อป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ อย่างไรก็ดี หากมีผู้ผลิตรายใหญ่เกิดขึ้น ก็ถือว่าเป็นผลดีต่อการจัดเก็บรายได้ของกรมฯเช่นกัน

ขณะที่ผู้ผลิตเบียร์นั้น ปัจจุบันมีเพียงผู้ผลิตรายใหญ่และผู้ผลิตเฉพาะสถานที่ ถือว่ายังมีข้อจำกัดเพราะการผลิตเบียร์นั้น วิธีการผลิตไม่เหมือนสุรา ซึ่งจะมีปัญหาเรื่องของน้ำเสีย และสิ่งแวดล้อม หากจะเปิดเสรีแบบทำเองกินเอง อาจต้องดูผลกระทบว่า เป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งเรื่องเงื่อนไขนั้น จะมีเงื่อนไขของกรมโรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรมมาเกี่ยวข้องด้วย เช่น กรณีโรงงานเบียร์ ถูกจัดผู้ในจำพวกที่ 3 ซึ่งต้องมีเกณฑ์เรื่องสิ่งแวดล้อมเข้ามาด้วย ขณะที่สุราไม่มีปัญหาเรื่องน้ำเสียหรือสิ่งแวดล้อม

เปิดเกณฑ์ผลิตเหล้า-เบียร์ สรรพสามิตเปิดทางทุกกลุ่ม

สำหรับการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิตช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2566(ตุลาคม 2565-เมษายน 2566) ในส่วนของสุราจัดเก็บได้จำนวน 40,309 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 3,913 ล้านบาททหรือ 10.75% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่จัดเก็บได้ 36,396 ล้านบาท สาเหตุที่เพิ่มขึ้นมากเนื่องจากในปีที่แล้วยังปิดประเทศ สถานบันเทิงยังไม่เปิด ทำให้ยอดขายสุราตก ซึ่งทั้งปีงบประมาณจัดเก็บภาษีสุราได้ 59.260 ล้านบาท

ส่วนการจัดเก็บรายได้ของเบียร์ในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบ ประมาณ 2566 อยู่ที่ 54,729 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 1,615 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้นเพียง 3.04% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่จัดเก็บได้ 53,114 ล้านบาท เนื่องจากฐานปีที่แล้วอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน เพราะเบียร์สามารถหาซื้อได้ในร้านค้าทั่วไป โดยทั้งปีงบประมาณ 2565 จัดเก็บภาษีเบียร์ได้ 85,035 ล้านบาท

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,896 วันที่ 15 - 17 มิถุนายน พ.ศ. 2566