มาเลย์ผุดท่าเรือบก-ไอซีดี ดันสินค้าไทยส่งออกเพิ่ม

30 มิ.ย. 2566 | 08:58 น.
อัปเดตล่าสุด :30 มิ.ย. 2566 | 09:16 น.

นายกสมาคมโลจิสติกส์และขนส่งภาคใต้ เผยมาเลเซีย ผุด 2 โครงการ ท่าเรือบก-ไอซีดี ชายแดนปาดังเบซาร์-สะเดา ดันสินค้าไทยส่งออกเพิ่ม ลดต้นทุนขนส่ง จี้รัฐเร่งสร้างท่าเรือสงขลา 2 รองรับศูนย์กลางโลจิสติกส์

นายไพโรจน์ ชัยจีระธิกุล อุปนายกสมาคมโลจิสติกส์ และขนส่งภาคใต้ เปิดเผยถึงโครง การพัฒนาทางด้านโลจิสติกส์ของประเทศมาเลเซีย ฝั่งตรงข้ามด่านศุลกากรปาดังเบซาร์และด่านศุลกากรสะเดา (ด่านนอก) ว่า ปัจจุบันฝั่งประเทศมาเลเซีย ฝั่งด่านศุลกากรปาดังเบซาร์ มีการพัฒนาท่าเรือบกเปอร์ลิส รัฐเปอร์ลิส ชื่อ “โครงการเปอร์ลิส อินแลนด์ พอร์ท” เป็นโครงการขยายคอขวดที่ฝั่งปาดังเบซาร์ ของมาเลเซีย
    

สำหรับ “เปอร์ลิส อินแลนด์ พอร์ท” หรือโครงการท่าเรือบกนี้ จะเพิ่มระบบรางรถไฟ เพิ่มศักยภาพในการขนส่งสินค้าทั้งลานกองตู้เปล่า และการตรวจปล่อยทางพิธีการศุลกากร สามารถรับใบตราส่งสินค้าทางทะเล (Bill of Landing: (B/L) ที่ปาดังเบซาร์ได้เลย ไม่ต้องรอสินค้าไปถึงมาเลเซีย ไปถึงปีนัง แล้วส่ง B/L กลับมา จะทำให้ต้นทุนทางการเงินของผู้ประกอบการขนส่งตํ่าลง เนื่อง จากได้รับเงินเร็วขึ้นประมาณ 5-7 วัน ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการขนส่งสินค้า  

บริษัทที่ดำเนิน “โครง การเปอร์ลิส อินแลนด์ พอร์ท” มีหุ้นส่วนเป็นสุลต่านเปอร์ลิส และมีแผนเข้าตลาดหลักทรัพย์ของมาเลเซีย เป็นโครงการใหญ่ของเปอร์ลิส มีการลงทุนสูงและจะทำให้สินค้าจากประเทศไทยไหลไปสู่ท่าเรือปีนังได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น ไม่ติดปัญหาเรื่องอุปกรณ์ เครื่องมือ เรื่องตู้สินค้า

คาดว่าเดือนพฤศจิกายน 2567 จะเปิดโครงการระยะแรก จะส่งผลให้สภาพคอขวดการส่งสินค้าจากประเทศไทยหายไป ผู้ประกอบการจะเริ่มเห็นรูปธรรมของการขนส่งสินค้าที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นระหว่างชายแดนไทยกับประเทศมาเลเซีย
    

ขณะที่ฝั่ง “บูกิตกายูฮิตัม” ประเทศมาเลเซีย ตรงข้ามด่านศุลกากรสะเดา (ด่านนอก) จะมีอีกบริษัทหนึ่ง ซึ่งเป็นบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ของมาเลเซีย  เป็นบริษัททางด้านโลจิสติกส์ใหญ่ มีโครงการลงทุนสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (Inland Container Depot : ICD)

โดย ไอซีดี แห่งนี้จะมีพื้นที่ในการส่งออก ลดความแออัดต่าง  โครงการนี้เป็นโครงการใหญ่ ที่จะมีเรื่องท่าเรือบกอยู่ด้วย จะสามารถรับ B/L และตรวจปล่อยสินค้าได้ที่บูกิตกายูฮิตัม มาเลเซีย ตรงข้ามด่านศุลกากรสะเดา ทั้ง 2 โครงการนี้เป็นโครงการที่จะช่วยอำนวยความสะดวกการส่งออกสินค้าของภาคใต้ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และสามารถส่งออกไปได้ในต้นทุนการเงินที่ตํ่าลงด้วย

มาเลย์ผุดท่าเรือบก-ไอซีดี ดันสินค้าไทยส่งออกเพิ่ม

นายไพโรจน์ กล่าวว่า ในท่าเรือนํ้าลึกสงขลาของไทย ที่มีการปรับการลงทุนต่างๆ การขุดลอกร่องนํ้าหน้าท่าที่กำลังดำเนินการ ทางด้านฝั่งด่านฯปาดังเบซาร์ ด่านฯสะเดา และท่าเรือนํ้าลึกสงขลา จะมีการพัฒนาอย่างดี ถ้าทั้ง 3 โครงการคือ “เปอร์ลิส อินแลนด์ พอร์ท” ปาดังเบซาร์, สถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (Inland Container Depot : ICD) บูกิต กายูฮิตัม มาเลเซีย ตรงข้ามด่านศุลกากรสะเดา และท่าเรือนํ้าลึกสงขลาแล้วเสร็จ จะทำให้จังหวัดสงขลา มีท่าเรือ 3 แห่ง 

 “ที่น่าสนใจคือ เราจะเป็นฮับการส่งออกนำเข้าสินค้า การนำเข้าวัตถุดิบเพื่อประกอบได้ดีในระดับหนึ่ง แต่ก็คงยังไม่เพียงพอ ถ้าจังหวัดสงขลาไม่มีท่าเรือสงขลา 2 เกิดขึ้น เราไม่มีการพัฒนาท่าเรือต่อเนื่องให้
ขีดความสามารถทัดเทียมกับท่าเรือปีนัง ประเทศมาเลเซีย  จึงเป็นคอขวด เนื่องจากขีดความสมารถของท่าเรือนํ้าลึกสงขลาปัจจุบันยังมีไม่เพียงพอ”

ส่วนทั้ง 3 โครงการจะมีผลต่อการค้าชายแดนและการค้าระหว่างประเทศไทย-มาเลเซียเพิ่มขึ้นหรือไม่นั้น ดร.ไพโรจน์ กล่าวว่า ปัจจุบันตัวเลขการค้าจังหวัดสงขลา-มาเลเซียที่เห็นเป็นตัวเลขการค้าส่วนหนึ่งที่มีการส่งออกไปจริงก็คือไปประเทศที่สามผ่านประเทศมาเลเซียท่าเรือปีนัง และท่าเรือคลัง

แต่ส่วนหนึ่งเป็นตัวเลขที่ไปกลับระหว่างไทย-มาเลเซีย ตัวเลขที่เห็นบางชิ้นส่วนมาจากนิคมโรจนะ นิคมนวนคร โดยเฉพาะชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์  และส่งออกทางด่านฯสะเดาไปประกอบในประเทศมาเลเซีย เสร็จแล้วมาเลเซียส่งกลับมาเข้าไทย  ซึ่งการทำด่านฯหรือท่าเรือบกทั้งสองฝั่งในมาเลเซียทั้งฝั่งตรงข้ามปาดังเบซาร์และฝั่งตรงข้ามด่านฯสะเดา (ด่านนอก) จะเป็นผลดีต่อการส่งออกนำเข้าสินค้าได้สะดวกยิ่งขึ้น
 

“มาเลเซียเขาลํ้าหน้ามาก แต่เราเดินช้าหรือแทบไม่เดินเลย โครงการท่าเรือนํ้าลึกสงขลาที่ไม่เกิด เพราะเราไม่เห็นด้วยกับคำว่า โลจิสติกส์ ทั้งที่เป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการสร้างเศรษฐกิจ ไทยมีชายทะเลติดมหาสมุทรแปซิฟิก แต่ต้องไปอ้อมแหลมมะละกา ไปออกทางฝั่งมหาสมุทรอินเดีย คิดง่ายๆ แค่นี้เราสู้เขาไม่ได้แล้วในเรื่องต้นทุนการขนส่งสินค้า” อุปนายกสมาคมโลจิสติกส์และขนส่งภาคใต้ กล่าว 

      สมชาย สามารถ : รายงาน