ตลาดต้นไม้ ซาอุ “ปรอทแตก”ชิงขุมทรัพย์ 8.5 หมื่นล้าน

29 มิ.ย. 2566 | 13:55 น.
อัปเดตล่าสุด :29 มิ.ย. 2566 | 15:33 น.
1.6 k

ไทยจัดทัพชิงเค้กตลาดต้นไม้ 5 หมื่นล้านต้น ดันซาอุฯ-ตะวันออกกลาง “สีเขียว” ค่ากว่า 8.5 หมื่นล้านบาท หอการค้าฯผนึกทูตไทยตั้งทีมลุย กระทรวงเกษตรฯพร้อมหนุนเกษตรกร ศูนย์ AIC ทั่วประเทศผลิตป้อน จี้เซ็น MOU-ตั้งกรรมการร่วมไทย-ซาอุฯขับเคลื่อน ชี้ต้องการจริงถึง 1 แสนล้านต้น

อานิสงส์หลังฟื้นความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดีอาระเบียในทุกมิติในปีที่ผ่านมา บังเกิดผลที่เป็นรูปธรรมชัดเจนทั้งด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว ด้านพลังงาน และด้านอื่น ๆ ระหว่างกันขยายตัวเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ล่าสุดกำลังจะเป็นอีกโอกาสทองของไทยจากซาอุฯมีแผนปลูกต้นไม้ 1 หมื่นล้านต้นใน 38 สายพันธุ์/ชนิด ที่ต้องนำเข้าจากทั่วโลกเพื่อให้บรรลุนโยบายซาอุดีอาระเบียสีเขียว (The Saudi Green Initiative) และร่วมสนับสนุนโครงการปลูกต้นไม้ 5หมื่นล้านต้น ทั่วภูมิภาคตะวันออกกลาง

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า โครงการนี้เป็นเมกะโปรเจกต์ด้านสิ่งแวดล้อมของซาอุฯที่ไทยสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมเพื่อให้ซาอุฯบรรลุแผนดังกล่าว ทั้งนี้หอการค้าฯ ได้ตั้งทีมทำงานเพื่อหารือเชิงรุกกับนายดามพ์ บุญธรรม เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงริยาด และนายอภิชาติ ประเสริฐกุล ทูตพาณิชย์ไทย ณ เมืองเจดดาห์ เพื่อเพิ่มโอกาสที่จะส่งออกพันธุ์ไม้ต่าง ๆ ของไทยไปซาอุฯ เพิ่มเติม จากก่อนหน้านี้ไทยมีการส่งออกต้นไม้ไปซาอุฯแล้วกว่า 2 แสนต้น พันธุ์ไม้ที่ส่งออกไปส่วนใหญ่ ได้แก่ นนทรี ชมพูพันธุ์ทิพย์ ราชพฤกษ์ กัลปพฤกษ์ ชงโค สะเดา เหลืองปรีดียาธร หูกระจง และศรีตรัง เป็นต้น

ตลาดต้นไม้ ซาอุ “ปรอทแตก”ชิงขุมทรัพย์ 8.5 หมื่นล้าน

สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจที่จะส่งออกต้นไม้ไปยังซาอุฯ หอการค้าฯ มีข้อแนะนำและการเตรียมความพร้อม โดยสิ่งสำคัญต้องรู้ว่ากลุ่มเป้าหมายในซาอุฯ เป็นใคร หรือหน่วยงานใด เพราะหลายโครงการจะมีการออกแบบก่อนแล้วจึงค่อยเริ่มดำเนินการสั่งต้นไม้ หากผู้ประกอบการสามารถติดต่อผู้พัฒนาโครงการทั้งภาครัฐและเอกชน และร่วมกันออกแบบและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในซาอุฯได้จะช่วยให้การค้าสะดวกยิ่งขึ้น

  • ซาอุฯต้องการมากกว่าต้นไม้

ขณะเดียวกันนอกจากผู้ประกอบการไทยจะมีโอกาสในการส่งออกพันธุ์ไม้แล้ว ผู้ประกอบการฝั่งซาอุฯยังให้ความสนใจที่จะร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการไทยในการจัดหาต้นไม้ไปยังซาอุฯ ซึ่งไม่ใช่แค่การรับซื้อหรือส่งออกจากไทยอย่างเดียว แต่ยังต้องการองค์ความรู้ในการเพาะปลูก และดูแลต้นไม้จากฝั่งไทยด้วย เนื่องจากการปลูกต้นไม้ในพื้นที่ที่มีสภาพภูมิอากาศที่แห้งแล้งและเป็นทะเลทราย จำเป็นต้องมีความเชี่ยวชาญและความชำนาญเป็นอย่างมาก รวมถึงเป็นโอกาสของผู้นำเกษตรกรที่มีความสามารถด้านการปลูกและการดูแลพันธุ์ไม้ของไทยในซาอุฯด้วย

สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

“ในระยะแรกนี้เพื่อไม่ให้ประเทศไทยพลาดโอกาสดังกล่าวเนื่องจากหลายประเทศต่างตื่นตัวและให้ความสนใจในการส่งพันธุ์ไม้ไปซาอุฯเช่นกัน รัฐบาลจำเป็นต้องมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปสำรวจความต้องการของตลาดซาอุฯ ตลอดจนเจรจาเพื่อเปิดทางให้กับผู้ประกอบการที่สนใจสามารถเข้าถึงโอกาสในครั้งนี้”

ทั้งนี้ หอการค้าฯ พร้อมที่จะเชื่อมความร่วมมือหน่วยงานภาครัฐที่มีความเกี่ยวข้องและมีความเชี่ยวชาญในเรื่องดังกล่าว อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เข้ากับกระทรวงต่างประเทศ และกระทรวงพาณิชย์ ที่มีผู้แทนอยู่ที่ประเทศซาอุฯอยู่แล้ว เพื่อให้โปรเจกต์ดังกล่าว สร้างผลประโยชน์ในแง่เศรษฐกิจให้กับประเทศไทยต่อไป

  • อาหรับสีเขียว 8.5 หมื่นล้าน

ด้าน นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร และสหรกรณ์ กล่าวว่า โครงการข้อริเริ่มซาอุดีอาระเบียสีเขียว (SGI) ปลูกต้นไม้ 1 หมื่นล้านต้น และข้อริเริ่มตะวันออกกลางสีเขียว (MGI) ปลูกต้นไม้รวม 5 หมื่นล้านต้น ในเบื้องต้นมีงบประมาณโครงการไม่น้อยกว่า 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (8.5 หมื่นล้านบาท คำนวณที่ 34 บาทต่อดอลลาร์) จะเป็นโอกาสในการสร้างอาชีพส่งออกต้นไม้อย่างน้อย 38 ชนิด ตั้งแต่ต้นนำถึงปลายนํ้าไปซาอุฯและประเทศรอบอ่าวอาหรับของไทย

อลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร และสหรกรณ์

สำหรับกระทรวงเกษตรฯมีความพร้อมในการเข้าร่วมโครงการ SGI และ MGI โดยจะส่งเสริมเกษตรกร ศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) และภาคเอกชนให้ผลิตต้นไม้ 38 ชนิด รวมทั้งใช้เทคโนโลยีเกษตรที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งออกต้นไม้ไปยังซาอุฯและตะวันออกกลาง โดยร่วมมือกับกรมป่าไม้และหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งภาคเอกชนตามกรอบความร่วมมือที่ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้หารือกับนายอัลดุลเราะห์มาน บิน อับดุลมุห์สิน อัลฟัฎลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม นํ้า และการเกษตรของซาอุฯ ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการเมื่อปลายเดือนกันยายน 2565 โดยนโยบาย Saudi Vision 2030 ของซาอุฯ และโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของไทยมีความสอดคล้องกัน เน้นการเสริมสร้างเศรษฐกิจที่มีความสมดุล รักษาสิ่งแวดล้อม และสร้างความมั่นคงด้านอาหาร

  • ต้องการจริงถึง 1 แสนล้านต้น

สำหรับการช่วงชิงตลาดต้นไม้ 1 หมื่นล้านต้นในครั้งนี้ มองว่าจะเป็นจริงได้ ในการขับเคลื่อนโครงการไทยควรวางโครงสร้างและระบบเพื่อรับผิดชอบการดำเนินการอย่างจริงจังต่อเนื่อง ได้แก่ 1.การจัดตั้งกลไกระดับประเทศในรูปของคณะกรรมการความร่วมมือโครงการ SGI และ MGI ระหว่างไทยกับซาอุฯโดยมีทุกภาคส่วนเป็นองค์คณะ 2.การทำบันทึกความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง 2 ประเทศ  3.กำหนดหน่วยงานหลักและหน่วยงานสนับสนุนให้ชัดเจน และ 4.จัดตั้งสำนักงานโครงการ

 “ความจริงซาอุดีอาระเบียภายใต้ Saudi Vision 2030ได้ศึกษาและกำหนดเป้าหมาย SGI และ MGI ในการปลูกต้นไม้ถึง 1 แสนล้านต้น ไม่ใช่แค่ 5 หมื่นล้านต้น และต้องการลดคาร์บอน 670 ล้านตัน เพื่อแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งยังมีโอกาสขยายความร่วมมือในอีกหลายโครงการสำหรับประเทศไทยเพราะตอนนี้ซาอุฯ มีข้อริเริ่มต่าง ๆ ถึง 77 ข้อ” นายอลงกรณ์ กล่าว

  • ส.อ.ท.พร้อมเชื่อมโยงทั่วประเทศ

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า โครงการปลูกต้นไม้ 1 หมื่นล้านต้นของซาอุฯ และ 5 หมื่นล้านต้นของกลุ่มอ่าวอาหรับ (GCC) เพื่อต้องการพลิกฟื้นทะเลทรายให้เป็นสีเขียว เป็นผลจากประเทศเหล่านี้เป็นผู้ผลิตและส่งออกนํ้ามันและปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมากทำให้โลกร้อน การปลูกต้นไม้จะทำให้ได้คาร์บอนเครดิตมาชดเชย และสร้างสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

สำหรับต้นไม้ถือเป็นสินค้าส่งออกอีกตัวที่มีศักยภาพ และตรงกับนโยบาย BCG ของไทย ซึ่งไทยและซาอุฯจะได้ประสานประโยชน์ร่วมกันต่อไป และคาดไทยจะได้อานิสงส์จากความต้องการนำเข้าต้นไม้ของซาอุฯที่มีมาก ขณะที่ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตและซัพพลายต้นไม้ให้ซาอุฯได้ รวมถึงประโยชน์จะตกกับเกษตรกรผู้ปลูกต้นไม้ ผู้ค้า ผู้ส่งออก รวมถึงการส่งออกแรงงานและบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญที่จะไปช่วยดูแลในการปลูกและบำรุงรักษาต้นไม้ ทั้งนี้ ส.อ.ท. และหอการค้าไทยที่มีสมาชิกอยู่ในทุกจังหวัดทั่วประเทศจะประสานกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ไทยได้รับประโยชน์

  • โอกาสไทยยังมีอีกอื้อ

ขณะที่ นายชาติชาย พานิชชีวะ รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า จากเท่าที่ดูรายชื่อต้นไม้ 38 ชนิดที่ทางซาอุฯต้องการนำเข้า ไทยมีต้นไม้ยังไม่ถึง 10 ชนิดที่มีศักยภาพในการเพิ่มการผลิต และส่งออกไปซาอุฯได้ ซึ่งทุกฝ่ายที่เกี่ยวของต้องไปดูในรายละเอียดว่ามีต้นไม้สายพันธุ์อะไรบ้างที่เราสามารถซัพพลายให้ซาอุฯได้เพิ่ม และเร่งช่วยกันพัฒนา รวมถึงภาครัฐบาลของไทยควรหาช่องทางการเจรจาเพื่อเพิ่มชนิดต้นไม้ที่ไทยมีศักยภาพในการผลิตและสามารถปลูกในทะเลทรายได้

อย่างไรก็ดีเพื่อให้ไทยได้ประโยชน์จากโครงการนี้ หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องของไทยควรหาช่องทางในการเจรจากับทางซาอุฯเพื่อขอทราบความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบาย วิธีการจัดซื้อจัดจ้าง ข้อปฏิบัติ และข้อห้าม เพื่อที่เราจะได้ปรับตัวให้เหมาะสมกับสิ่งที่ผู้ซื้อต้องการ รวมถึงปริมาณที่แท้จริงของ ความต้องการต้นไม้แต่ละชนิดมีขอบเขตในการซื้อ-ขายและการดูแลต้นไม้ที่ปลายทางอย่างไรต้องส่งคนไปหรือไม่ ระดับไหน อย่างไร ทั้งนี้เพื่อให้ไทยได้รับประโยชน์ในสเกลที่ใหญ่ ไม่ใช่เพียงแค่ขายต้นไม้ที่เป็นสเกลขนาดเล็กอย่างเดียวเท่านั้น