เชียงใหม่ดัน"ระเบียงศก.ภาคเหนือ" ดึงลงทุนปั้นรายได้ 5 แสนล้านต่อปี

16 มิ.ย. 2566 | 08:19 น.
อัปเดตล่าสุด :16 มิ.ย. 2566 | 08:39 น.

จากศักยภาพของพื้นที่ภาคเหนือ ที่มีทั้งต้นทุนทางวัฒนธรรม ความพร้อมด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน รัฐบาลจึงกำหนดให้ระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือ เป็นพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ระดับประเทศ เพื่อต่อยอดสู่ระดับสากลในอนาคต

ระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือ หรือ Northern Econo mic Corridor:  NEC - Creative LANNA เป็นหนึ่งในโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาคของรัฐบาลที่พึ่งประกาศไปเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา มีเป้าหมายเพื่อกระจายความเจริญและเพิ่มรายได้ให้กับท้องถิ่น พร้อมกับการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยจะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างส่วนกลางและท้องถิ่น โดยกำหนดให้ 4 จังหวัดได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง เป็นพื้นที่ในการพัฒนาและลงทุนด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์
    
แนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ รัฐบาลจะมีมาตรการส่งเสริมและให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกอบการเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ในพื้นที่ การส่งเสริมบุคลากรและงานวิจัย การพัฒนา Ecosystem ในพื้นที่ รวมทั้งการประชาสัมพันธ์และสร้าง Brand ด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ระเบียงเศรษฐกิจ เป็นต้น

ความคืบหน้าล่าสุดของโครงการนี้ ทางจังหวัดเชียงใหม่ได้จัดการประชุมขึ้นเมื่อวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อหารือถึงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือในอนาคต
    

นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมในการขับเคลื่อนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ใน 25 อำเภอของจังหวัดเชียงใหม่ว่า เริ่มจากการส่งเสริมพื้นที่ที่มีความพร้อม และพัฒนาพื้นที่ที่ยังไม่มีการพัฒนาควบคู่กันไป
     เชียงใหม่ดัน\"ระเบียงศก.ภาคเหนือ\" ดึงลงทุนปั้นรายได้ 5 แสนล้านต่อปี

พร้อมกับให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายในการพัฒนาพื้นที่ NEC ได้แก่ อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมท่องเที่ยว และท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) และอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร เพื่อให้ทุกพื้นที่ในจังหวัดเชียงใหม่มีศักยภาพและความพร้อมในการรองรับการเป็นระเบียงเศรษฐกิจพิเศษต่อไป

 “เชียงใหม่จะเป็นแหล่งรับรายได้ในทุกๆ มิติ มีเป้าหมายการเพิ่มรายได้ให้จังหวัดเชียงใหม่ เป็น 2 เท่า จากเดิมประมาณปีละ 2.5 แสนล้านบาท เป็น 4-5 แสนล้านบาท”

ศ.เกียรติคุณ ดร.สัญชัย จตุรสิทธา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพหุศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า จังหวัดเชียงใหม่เป็นหนึ่งในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัดเชียงใหม่ 5 ปี ตั้ง แต่ปีพ.ศ. 2560-2564 เฉลี่ย 246,353 ล้านบาท โดยส่วน ใหญ่มาจากภาคการบริการ รองลงมาคือ ภาคเกษตร และภาคอุตสาหกรรม

ศ.เกียรติคุณ ดร.สัญชัย จตุรสิทธา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพหุศาสตร์ ม.เชียงใหม่

ส่วนของภาคการบริการ โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวมีผลต่อเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่มากที่สุด นอกจากนี้ยังมีวัฒนธรรมและภูมิปัญญาที่โดดเด่น ประเพณีที่มีเอกลักษณ์ มีความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมกับการค้าและการลงทุน

น่าสนใจว่านโยบายระเบียงเศรษฐกิจทั้ง 4 ภาคของรัฐบาล สามารถเดินตามรอยความสำเร็จของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคคะวันออก (อีอีซี) รวมทั้งผลักดันให้ความเจริญและรายได้กระจายสู่ท้องถิ่นได้หรือไม่ ท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจในปัจจุบัน 

นภาพร  ขัติยะ/รายงาน