ยักษ์ใหญ่แห่ปักฐาน ระเบิดสงครามราคา หนุนไทยฮับ EV ภูมิภาค

03 มิ.ย. 2566 | 08:15 น.
อัปเดตล่าสุด :03 มิ.ย. 2566 | 08:35 น.
1.6 k

ทิศทางอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยกำลังขับเคลื่อนไปสู่นวัตกรรมยานยนต์สมัยใหม่ มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนที่เป็นกระแสหลักของโลก วงการยานยนต์คาดปี 2566 ยอดการจำหน่ายรถยนต์ทั่วโลกจะอยู่ที่ 86.05 ล้านคัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 จากปี 2565 ที่มียอดจำหน่าย 81.63 ล้านคัน

ยักษ์ใหญ่แห่ปักฐาน ระเบิดสงครามราคา หนุนไทยฮับ EV ภูมิภาค

ทั้งนี้อานิสงส์จากทั่วโลกกลับมาเปิดประเทศ และปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์เริ่มคลี่คลาย จากนี้ไปทิศทางยานยนต์ไทย-ยานยนต์โลก จะไปทางใด ดร.เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ ฉายภาพผ่าน “ฐานเศรษฐกิจ” น่าติดตามยิ่ง

  • ฟันธงโตตามเป้าหมาย

ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ เผยว่า จากข้อมูลการจำหน่ายรถยนต์โลกในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้(2566) สูงถึง 27.5 ล้านคัน เพิ่มขึ้นกว่า ร้อยละ 9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้เห็นการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์โลกที่ชัดเจนในปีนี้ และแน่นอนว่ายานยนต์ไฟฟ้าหรือรถอีวี จะเป็นกลุ่มที่โดดเด่นที่สุดที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์โลกในปัจจุบัน  แม้ครึ่งปีหลังของปี 2566 ยังมีความเสี่ยง เรื่องสถานการณ์เศรษฐกิจทั่วโลกที่อ่อนไหว การลดมาตรการอุดหนุนยานยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาลประเทศต่าง ๆ เช่น จีน สหรัฐอเมริกา และของไทย อาจส่งผลต่อยอดขายยานยนต์ไฟฟ้าในครึ่งปีหลัง  

แต่ที่น่าจับตามากคือจากการแข่งขันของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่สูงมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการยานยนต์ไฟฟ้าหลายค่ายลดราคาลงอย่างมาก เกิดการทำสงครามราคา นำโดยผู้นำตลาดอย่าง Tesla และ BYD อาจทำให้ราคารถยนต์ไฟฟ้าถูกลง ช่วยกระตุ้นผู้บริโภคให้มีการตัดสินใจซื้อได้มากขึ้น แม้จะส่งผลในระยะสั้นที่ผู้บริโภคอาจมีการชะลอการซื้อรอการลดราคาของค่ายรถยนต์ต่าง ๆ

เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์

สำหรับประเทศไทยปี 2566 คาดการณ์ว่าปริมาณผลิต 1.95 ล้านคัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 3.5 ที่ 1.88 ล้านคัน โดยมีเป้าหมายยอดขายในประเทศ 0.90 ล้านคัน และส่งออก 1.05 ล้านคัน

จากข้อมูลในเดือน มกราคม-เมษายน 2023  แม้ยอดขายในประเทศไทยจะอยู่ที่ 276,603  คัน ลดลง ร้อยละ 6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่เป็นผลมาจากการเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงิน เนื่องจากหนี้ครัวเรือนอยู่ในอัตราสูง และอัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น แต่จากยอดการส่งออกรถยนต์ของไทยขยายตัวถึงร้อยละ 18 ส่งผลให้มีปริมาณการผลิต 625,423 คัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5 จากช่วงเดียวกัน  จึงทำให้คาดการณ์ได้ว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยยังจะสามารถผลิตและเติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้

  • มาตรการรัฐหนุน-ปลุกคนซื้อรถอีวี

ดร. เกรียงศักดิ์ โฟกัสต่อมา ที่รถยนต์พลังงานไฟฟ้าหรือรถ EV จะเห็นว่าจากมาตรการรัฐบาลที่ส่งเสริมการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า  เช่น เงินอุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้าและรถกระบะไฟฟ้า 70,000-150,000 บาทต่อคัน และลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์ไฟฟ้าจาก 8% เป็น 2% และรถกระบะไฟฟ้าเป็น 0% ถือว่าประสบความสำเร็จ ส่งผลให้รถ EV ได้รับความสนใจมากขึ้น ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนทำให้สัดส่วนการจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าในเดือนเมษายนเพิ่มมาอยู่ที่ร้อยละ 7 ของยอดขายรถยนต์ในประเทศ หรือยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าที่ 4,203 คัน จากยอดขายรถยนต์ในเดือนเมษายนรวมทั้งหมด 59,530 คัน 

หากดูตัวเลขยอดจดทะเบียนรถยนต์ในประเทศ จะเห็นว่ารถยนต์ไฟฟ้ามีการเติบโตอย่างมาก จากยอดสะสม 4 เดือนแรกของปี มีรถยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนแล้วถึง 19,347 คัน เติบโตถึงร้อยละ 1,036 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ยอดจดทะเบียนรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบเดิมมียอดจดทะเบียนสะสมลดลงร้อยละ 8 สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคไทยมีความตื่นตัวต่อยานยนต์สมัยใหม่ และตอบรับนโยบายการส่งเสริมของภาครัฐเป็นอย่างดี

ดร. เกรียงศักดิ์ กล่าวอีกว่า ไม่เพียงแต่มาตรการส่งเสริมการลงทุนที่ได้จากบีโอไอแล้ว รัฐบาลยังมีมาตรการอื่นๆ ที่ช่วยส่งเสริมและสนับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทย ที่สำคัญด้วย ไล่ตั้งแต่  1.ภาครัฐประกาศลดภาษีนำเข้าและภาษีสรรพสามิตสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าและให้เงินอุดหนุนแก่ผู้นำเข้ารถยนต์ที่เป็นผู้ผลิต ภายใต้เงื่อนไขการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศด้วยจำนวนเท่ากับที่ได้รับสิทธิประโยชน์ภายในปี 2567 และ 1.5 เท่า ภายในปี 2568 

โดยอุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้าคันละ 70,000-150,000 บาท และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า 18,000 บาท/คัน 2.การลดค่าภาษีประจำปี รถยนต์ไฟฟ้าลง 80% สำหรับรถที่จดทะเบียนระหว่างวันที่ 9 พ.ย.2565 – 8 พ.ย. 2568 เป็นระยะเวลา 1 ปี นับจากวันที่จดทะเบียน   3.ยกเว้นอากรขาเข้าชิ้นส่วนประกอบรถยนต์ EV จำนวน 9 รายการ เพื่อนำมาผลิตหรือประกอบรถ EV ในประเทศ (CKD) ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2025  4.ส่งเสริมให้ภาคเอกชนติดตั้งสถานีประจุไฟฟ้าเพิ่มเติมในพื้นที่สาธารณะ

จากนโยบายของประเทศที่มีความชัดเจนในการส่งเสริมอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า เช่น การตั้งเป้าหมาย 30@30 ที่มีเป้าหมายให้ประเทศไทยผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศร้อยละ 30 ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดในประเทศ รวมถึงมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรม ทั้งหมดนี้ทำให้รถยนต์ไฟฟ้ามีการขยายตัวจนน่าจับตามองนับจากนี้ไป

  • ยักษ์ใหญ่โลกแห่ลงทุนไทย

ปัจจุบันจากที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนครบวงจรในไทย สามารถดึงดูดนักลงทุนรายใหญ่หลายรายเลือกไทยเป็นฐานการผลิตในภูมิภาค โดยที่บีโอไอได้อนุมัติให้การส่งเสริมแล้ว ได้แก่ 1.การผลิตยานยนต์ไฟฟ้า มีโครงการลงทุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท ทั้งยานยนต์ไฟฟ้า แบบแบตเตอรี่ (BEV) ปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) และไฮบริด (HEV) รวม 26 โครงการ จาก 17 บริษัท มูลค่าเงินลงทุน 86,800 ล้านบาท เป็นการผลิตรถยนต์ BEV จำนวน 15 โครงการ จาก 14 บริษัท กำลังการผลิตรวม 277,640 คัน/ปี โดยขณะนี้มีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภทออกสู่ตลาดแล้ว 11 บริษัท

 2.การผลิตแบตเตอรี่สำหรับ EV 20 โครงการ จาก 13 บริษัท เงินลงทุน 9,264 ล้านบาท การผลิตแบตเตอรี่ความจุสูงสำหรับ EV และ Energy Storage 8 โครงการ จาก 8 บริษัท เงินลงทุน 9,309 ล้านบาท และการผลิตชิ้นส่วนสำคัญของรถไฟฟ้า เช่น Traction Motor ระบบริหารจัดการแบตเตอรี่ (BMS) ระบบควบคุมการขับเคลื่อน (DCU) ระบบและอุปกรณ์อัดประจุไฟฟ้า 16 โครงการ จาก 14 บริษัท เงินลงทุน 5,120 ล้านบาท

 3.สถานีอัดประจุไฟฟ้า 7 โครงการ จาก 7 บริษัท เงินลงทุน 4,200 ล้านบาท มีหัวจ่ายไฟฟ้ารวม 11,300 หัวจ่าย เป็นแบบ Quick Charge กว่า 5,400 หัวจ่าย 4.รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า และรถสามล้อไฟฟ้า 2 โครงการ จาก 2 บริษัท ปริมาณการผลิต 120,125 คันต่อปี มูลค่าลงทุน 381.0 ล้านบาท รถโดยสารไฟฟ้า 2 โครงการ จาก 2 บริษัท ปริมาณผลิต 4,000 คันต่อปี มูลค่าลงทุน 2,173.8 ล้านบาท

ยักษ์ใหญ่แห่ปักฐาน ระเบิดสงครามราคา หนุนไทยฮับ EV ภูมิภาค

  • ค่ายจีนรุกหนักชิงผู้นำ

นอกจากนี้ไทยเริ่มการผลิตรถ BEVหรือยานยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่แล้ว เช่น ค่ายรถยุโรปคือ เมอร์ซีเดสเบนซ์ และมีผู้ประกอบการไทยที่ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า เช่น รถบัสไฟฟ้า จาก บริษัทในเครือบริษัทพลังงานบริสุทธิ์ บริษัท พนัสอุตสาหกรรม และ บริษัทสกุลฏ์ซี แต่ต้องยอมรับว่าจุดที่สร้างความมั่นใจในการเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ของไทยในครั้งนี้ มาจากการลงทุนยานยนต์ไฟฟ้าของผู้ประกอบการจากจีนหลายราย เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงในการผลิต ด้วยเหตุผลด้านภูมิรัฐศาสตร์

โดยขณะนี้มีผู้ผลิตยานยนต์จากจีนลงทุนในไทย 4 ราย ได้แก่ SAIC (กำลังการผลิต 100,000 คันต่อปี), GWM ( 80,000 คันต่อปี), BYD ( 150,000 คันต่อปี), NETA (20,000 คันต่อปี) นอกจากนี้ยังมีทุนจีนอีก 2 ราย ที่มีการประกาศแผนลงทุนเพิ่มเติมในไทย คือ บริษัท ฉางอัน ออโตโมบิล มูลค่าลงทุน 9,800 ล้านบาท ซึ่งวางแผนจะยื่นขอรับการส่งเสริมภายในเดือน พ.ค. 2566 และบริษัท GAC Aion ที่ประกาศแผนการลงทุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในไทยกว่า 6,400 ล้านบาท เมื่อปลายเดือน มี.ค. 2566

 “บีโอไอ ยังได้หารือกับบริษัทยานยนต์ไฟฟ้าของจีนอีก 4 ราย ได้แก่ Chery Automobile, Geely, JAC และ JMC โดยทั้ง JAC และ JMC เป็นผู้ผลิตรถกระบะและรถบรรทุกไฟฟ้าชั้นนำ โดยทุกรายแสดงความสนใจลงทุนผลิต EV ในไทยและสนับสนุนไทยให้เป็นฐานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาค รวมถึงค่ายยักษ์ใหญ่จากเกาหลี คือ Hyundai ก็เตรียมแผนลงทุน EV ในไทยเช่นเดียวกัน” ดร.เกรียงศักดิ์ กล่าว

  • อานิสงส์จาก 4 โอกาส

ผอ.สถาบันยานยนต์มองโอกาสครึ่งปีหลังปีว่าจะได้อานิสงส์จาก 4โอกาส หลักคือ 1.มาตรการส่งเสริมของภาครัฐ โดยเฉพาะส่วนของการให้เงินอุดหนุนต่าง รวมถึงการลดภาษีสรรพสามิต ภาษีประจำปีของรถยนต์ ที่ช่วยกระตุ้นความต้องการในประเทศ 

2.เสียงตอบรับของผู้บริโภคที่มีต่อยานยนต์ไฟฟ้าและยานยนต์สมัยใหม่ ทำให้ผู้บริโภคเปิดใจ ใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น จากกระแสทางการตลาดที่ทำให้ผู้บริโภคหันมาสนใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้าเป็นทางเลือกถัดมากขึ้น และหลายคนซื้อรถยนต์ไฟฟ้า เป็นรถคันที่สอง เพื่อใช้ในการขับระยะใกล้เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางยิ่งมีโอกาสกระตุ้นการบริโภคมากขึ้น

3.การเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ของค่ายรถยนต์ต่าง ๆ ที่ทยอยเข้ามาในตลาดมากขึ้น ทั้งในส่วนของรถ ICE และ xEV ซึ่งรถยนต์รุ่นใหม่ก็จะมีระบบ ADAS และ Infotainment ที่จะช่วยกระตุ้นความต้องการของผู้บริโภคได้  4.การลงทุนต่อเนื่องของค่ายรถยนต์ จากมาตรการต่างๆ ที่ภาครัฐได้สนับสนุนและส่งเสริม พร้อมความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เชื่อว่าในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะหลังจากที่ได้รัฐบาลใหม่ และมีนโยบายและมาตรการส่งเสริมที่ชัดเจน จะมีการประกาศแผนการขยายการลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ในไทยเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตามมีประเด็นความเสี่ยงด้านความต้องการจากทิศทางดอกเบี้ยที่พุ่งสูงขึ้น และยอดหนี้ของครัวเรือนที่สูงขึ้น ทำให้ส่งผลต่อการอนุมัติสินเชื่อรถยนต์ต่าง ๆ อาจส่งผลต่อตลาดโดยเฉพาะตลาดรถยนต์ขนาดกลางหรือเล็กที่ราคาไม่เกิน 1 ล้านบาทได้

  • เทียบคู่แข่งอีวีย่านอาเซียน

นอกจากนี้ยังมองถึงฐานการผลิตยานยนต์ในในอาเซียน  ไทย มีความได้เปรียบตรงที่มีความพร้อมของห่วงโซ่อุปทานยานยนต์ที่มีความเข้มแข็ง เพราะไทยเป็นฐานผลิตยานยนต์แห่งสำคัญของโลก มีความสามารถในการผลิตให้ต้นทุนถูกลง (Economy of scale) แรงงานมีทักษะ ความเชี่ยวชาญเฉพาะ ทำให้โดยภาพรวมประเทศไทยมีความสมารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมยานยนต์ดีมากเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน  ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบที่นักลงทุนให้ความสำคัญอย่างมากในการตัดสินใจลงทุน 

นอกจากไทยมีจุดแข็งโครงสร้างพื้นฐานที่ดีและมีความพร้อมที่สุดในอาเซียนค่อนข้างสูง  ทำให้ลูกค้ามีความมั่นใจในรถยนต์ที่ผลิตจากไทย ดังนั้น Brand Image ในประเทศไทยถือว่าแข็งแรงมาก กล่าวได้ว่าถ้ารถยนต์ที่มาจากไทยลูกค้าจะเชื่อมั่นอย่างมาก สิ่งนี้จะส่งผลให้การผลิตรถยนต์ EV ของไทยในอนาคตได้ผลตอบรับดีตามไปด้วย

อีกทั้งไทยเป็นตลาดรถยนต์ EV ที่เติบโตอย่างมาก ประกอบการที่รัฐบาลมีนโยบายและเป้าหมาย ที่ชัดเจน และมีมาตรการที่ปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรมครอบคลุม ทั้งระบบนิเวศน์วิทยา ครอบคลุมทั้งมาตราการด้านการส่งเสริมการลงทุน การผลิต การสร้างความสามารถในการแข่งขัน และการตลาด จึงทำให้ไทยได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากนักลงทุนต่าง ๆ เป็นอย่างดี ผู้บริโภคไทยมีการยอมรับเทคโนโลยีต่าง ๆ ได้เร็ว เปิดรับเทคโนโลยีใหม่ง่าย ทำให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาและนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้าสู่ตลาดได้ไม่ยาก ทำให้มีความก้าวหน้าในรถยนต์ที่ใช้และผลิตในประเทศ

สำหรับประเทศใดในอาเซียนที่น่าจับตาทำให้ทุนด้านยานยนต์จ่อตบเท้าเข้าไปปักฐาน คืออินโดนีเซีย  เพราะเป็นหนึ่งในแหล่งส่งออกทรัพยากรสำคัญของโลก โดยอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นเพียงไม่กี่กลุ่มธุรกิจที่สามารถขยายตัวต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงโควิด 19 สะท้อนจากปริมาณการผลิตรถยนต์ของอินโดนีเซีย ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ในอาเซียน รองจากไทยและมีความต้องการใช้รถยนต์ มากเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน โดยมีบริษัทต่างชาติหลายรายเข้าไปทำธุรกิจในอินโดนีเซีย เช่น Toyota, Honda, Hyundai, Mercedes-Benz, BMW สำหรับแบรนด์ที่สามารถครองตลาดได้ คือ Toyota เพราะมีการสร้างเครือข่ายกับผู้ผลิตในประเทศได้เป็นอย่างดี ในขณะที่แบรนด์อื่น ๆ ยังมีส่วนแบ่งการตลาดที่ไม่มาก

อีกทั้งอินโดนีเซียมีข้อได้เปรียบด้านวัตถุดิบผลิตยานยนต์การมีแหล่งแร่นิกเกิลมากที่สุดในโลกที่เป็นวัตถุดิบสำคัญที่ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้า เป็นผู้ส่งออกยางพารารายใหญ่เบอร์ 2 ของโลก โดยอินโดนีเซียมีศักยภาพในการผลิตยางแท่งคุณภาพสูง   รวมถึงค่าแรงค่อนข้างถูกกว่าแรงงานไทย ตรงนี้จึงอาจเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ดึงดูดให้บริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนได้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอินโดนีเซียจะมีความพร้อมด้านวัตถุดิบ ค่าแรงที่ต่ำ และตลาดภายในประเทศที่มีขนาดใหญ่ แต่ยังต้องพึ่งพาชิ้นส่วนรถจากต่างประเทศ ซึ่งสามารถมองเป็นโอกาสที่นักลงทุนไทยสามารถส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ไปยังอินโดนีเซียได้เพิ่มขึ้นเพราะมีความชำนาญในการผลิตและส่งออกชิ้นส่วนมาอย่างยาวนานและมีการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการผลิตชิ้นส่วนอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้นโยบายการลงทุนของอินโดนีเซียยังมีเงื่อนไขให้บริษัทต่างชาติต้องร่วมทุนกับบริษัทท้องถิ่น ในขณะที่ไทยมีความยืดหยุ่นกว่าในการลงทุน  จึงไทยให้พลายบริษัทเลือกที่จะลงทุนในประเทศไทย 

สิ่งที่ประเทศไทยต้องเตรียมตัวรับมือกับการแข่งขันที่จะมีมากขึ้นในอนาคตคือ การเร่งพัฒนาผู้ประกอบการชิ้นส่วนให้มีความสามารถมากขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบรถยนต์ไฟฟ้าของจีน นิยมเลือกผู้ประกอบการที่มีความพร้อมในการส่งชิ้นส่วนให้ได้เลย  ทำให้ผู้ประกอบการชิ้นส่วนของไทยต้องปรับตัวให้ทันเทคโนโลยีใหม่ ๆ มากขึ้น

นอกจากนี้ การยกระดับเพิ่มทักษะ หรือการ Upskill และ Reskill แรงงานของอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก เนื่องจากแรงงานที่มีอยู่ในปัจจุบัน ยังคุ้นชิ้นกับเทคโนโลยีเดิม เช่นการผลิตรถที่เป็น ICE แต่ยานยนต์สมัยใหม่ จะมีเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปมากทั้งในด้านของการผลิต และตัวผลิตภัณฑ์หรือรถยนต์เองก็ตาม 

สำหรับประเทศไทยปัจจุบันไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ อันดับที่ 10 ของโลก เท่าเดิมกับปี 2021  แม้ยอดการผลิตของไทยจะเพิ่มขึ้นถึงกว่า 2 คันจากปี 2021 แต่การผลิตรถยนต์ของประเทศต่าง ๆ ใน 10 ลำดับแรกก็ล้วนแต่มีการผลิตเพิ่มมากชึ้น (ยกเว้นญี่ปุ่น) ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจในปีทีผ่านมาหลังจากที่ทั่วโลกมีมาตรการคลายล็อคดาวน์จากสถานการณ์โควิด

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3893 วันที่ 4 – 7 มิถุนายน พ.ศ. 2566