“ชิป”ขาด ฉุดอุตฯไฮเทค ลุ้นบิ๊กมะกัน ปักฐานผลิตในไทย

29 ม.ค. 2566 | 09:06 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ม.ค. 2566 | 09:37 น.
1.4 k

ปี 2566 ภาพรวม เศรษฐกิจไทยคาดยังขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีภาคการท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนแทนภาคการส่งออกที่มีทิศทางชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจและการค้าโลก

“ชิป”ขาด ฉุดอุตฯไฮเทค ลุ้นบิ๊กมะกัน ปักฐานผลิตในไทย

เมื่อโฟกัสมาที่อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นกลุ่มสินค้าส่งออกอันดับต้น ๆ ของประเทศ ต้องบอกว่ายังเหนื่อย ด้วยปัจจัยลบรอบด้าน “ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์ นายวิบูลย์ รักสาสน์เจริญผล รองเลขาธิการ ​และเลขาธิการ​กลุ่ม​อุตสาหกรรม​ไฟ​ฟ้าและอิเล็​กทรอนิกส์ สภา​อุตสาหกรรม​แห่ง​ประเทศไทย (ส.อ.ท.)​ ถึงมุมมอง ปัจจัยเสี่ยง โอกาส และทิศทางของอุตสาหกรรมฯในปีนี้

  • ปัจจัยเสี่ยงยังรอบตัว

นายวิบูลย์ กล่าวว่า ทิศทางเศรษฐกิจไทย และเศรษฐกิจโลกปี 2566 คงเป็นไปตามที่หลาย ๆ เวทีได้วิเคราะห์ไว้ว่า เราคงต้องเจอกับปัญหาด้านเงินเฟ้อแบบ stagflation(เศรษฐกิจชะลอตัวแต่เงินเฟ้อสูง), การชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ คู่ค้าหลักของไทย, ปัญหาด้าน supply chain shortage และผลกระทบของความขัดแย้งระหว่างประเทศมหาอำนาจ (geopolitics) ที่การถูกบีบให้เลือกข้างจะชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ

ทั้งนี้ในบางเรื่องก็เป็นผลดี เช่นกระแสการย้ายฐานการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่เอียงมาทางแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(อาเซียน)มากขึ้น ขณะที่การส่งออกสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและและอิเล็กทรอนิกส์ของปี 2565 ขยายตัวที่ 4.39% (ส่งออกมูลค่า 74,481 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือในสกุลบาทที่ 2.58 ล้านล้านบาท)คาดในปี 2566 การขยายตัวไม่น่าจะเกิน 6 % จากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว

อย่างไรก็ตาม การดำเนินธุรกิจยังต้องเดินคู่ขนานไปกับปัจจัยท้าทายภายนอก ทั้งเรื่อง supply chain disruption, เรื่อง green as non tariff barriers ที่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์จะต้องเร่งปรับตัวให้เร็วขึ้น เช่นการกระจายพอร์ตของซัพพลายเออร์ออกไป แทนที่จะยึดการซื้อขายจากเจ้าประจำ และเร่งปรับ ตัวให้เป็น green factory ให้มากขึ้น

ส่วนปัจจัยท้าทายภายในนั้น มีเรื่องราคาพลังงานที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้การแข่งขันกับชาติอื่น ๆ เช่น เวียดนามเป็นเรื่องที่น่ากังวล และเรื่องกฏหมายหลายอย่างที่ไม่ทันสมัย ไม่เอื้อต่อธุรกิจในยุคปัจจุบัน ขณะที่การแก้ไขกฎหมายยังช้าอยู่มาก

นายวิบูลย์ รักสาสน์เจริญผล รองเลขาธิการ ​และเลขาธิการ​กลุ่ม​อุตสาห กรรม​ไฟ​ฟ้าและอิเล็​กทรอนิกส์ ส.อ.ท.

 

  • จีบ SIA สหรัฐฯตั้งโรงงานในไทย

นายวิบูลย์ กล่าวอีกว่า ในแง่การแข่งขัน มองว่าฐานการผลิตในไทยยังแข่งขันได้ แต่ปัญหาอุปสรรคก็คงมีบ้าง แต่ไทยก็มีปัจจัยดี ๆ อยู่ เช่น การมาลงทุนของอเมซอน  web services, การลงทุนอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า หรืออุตสาหกรรมไฮเทคจากจีน อีกทั้งยังได้รับความสนใจจาก Semiconductor Industry Association (SIA) ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ประกอบการเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) จากสหรัฐฯที่มาเยือนไทยเมื่อเร็ว ๆ นี้เพื่อหารือความเป็นไปได้ที่จะย้ายฐานการผลิตมาในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในตัวเลือก

“ในเรื่อง SIA คุณเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้รับการติดต่อมาก่อนหน้านี้และได้กำชับมอบหมายให้ทางกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ทำงานร่วมกับทีมภาครัฐในการเตรียมการหารือ เพื่อให้ประสบความสำเร็จในการดึงการลงทุน”

“ชิป”ขาด ฉุดอุตฯไฮเทค ลุ้นบิ๊กมะกัน ปักฐานผลิตในไทย

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาทางกลุ่มอุตสาหกรรมฯ มีปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ หรือไมโครชิป ที่มาของปัญหาคือดีมานด์ที่พุ่งขึ้นสูงมากในตลอดหลายปีที่ผ่านมา ขณะที่ฝั่งซัพพลายไม่ได้เพิ่มตาม โดยผู้ผลิตไมโครชิปหลักๆ ก็ยังมีเท่าเดิม อีกทั้งยังถูกนำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitics) ของประเทศมหาอำนาจ ทำให้สถานการณ์ซับซ้อนมากขึ้น เนื่องจากเซมิคอนดักเตอร์เป็นอุตสาหกรรมต้นนํ้าของเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงอุปกรณ์ไอทีต่างๆ

ดังนั้นผลกระทบมีแน่นอน และเป็นปัญหาระดับโลก การแก้ไขแบบเบ็ดเสร็จโดยลำพังประเทศไทยคงไม่ใช่เรื่องง่าย แม้ขณะนี้ภาครัฐพยายามชักจูงกลุ่มอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ให้ย้ายฐานการผลิตมาไทย เพื่อช่วยบรรเทาความรุนแรงของผลกระทบในระยะยาว

ขณะที่ภาคเอกชนได้มีการปรับตัวในการกระจายความเสี่ยงของซัพพลายเออร์ ออกไปยังแหล่งต่าง ๆ ให้หลากหลายมากขึ้น ซึ่งคงช่วยได้ในระยะสั้น จากที่ผ่านมาไทยนำเข้าชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์หลักจากไต้หวัน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และเยอรมนี โดยข้อมูลปี 2564 มีการนำเข้า 17,216 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ส่วนในประเทศไทยนั้น การผลิตชิ้นส่วนด้านเซมิคอนดักเตอร์ เป็นส่วนที่เรียกว่าการ packaging ของ IC (Integrated Circuit) เป็นการผลิตเพื่อส่งออก จากโรงงานในไทยเป็นฐานการผลิตให้กับบริษัทแม่ในต่างประเทศ ปัจจุบันผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ใน 3 รายใหญ่ของโลกได้แก่ TSMC ของไต้หวัน,SamSung ของเกาหลี และ Intel ของสหรัฐอเมริกา

“ตอนนี้คีย์เวิร์ดของเรื่องนี้คือ การขาดแคลนไมโครชิป (น่าจะรวมไปถึง นาโนชิปด้วย) ซึ่งส่งผลกระทบไปยัง ห่วงโซ่ซัพพลายชิ้นส่วนต่าง ๆที่เหลือของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และเลยเถิดไปถึงอุตสาหกรรมอื่นๆที่ต้องใช้ซัพพลายจากอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์นี้ ที่ล่าสุดทางอเมริกาได้เริ่มบล็อกเทคโนโลยีกับจีนนั้น ในอนาคตก็คงทำให้จีนกลายเป็นอีกทางเลือกหนึ่งแน่ ๆ เพราะจีนคงไม่ยอมอยู่เฉยในเรื่องนี้ ก็เป็นผลดีกับไทยในระยะยาว  ส่วนผลดีในระยะสั้นก็ คือทำให้กลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ของอเมริกาพิจารณาย้ายฐานการผลิตมาที่ภูมิภาคอาเซียน ซึ่งรวมไทยเป็นทางเลือกด้วย”

  • อาเซียนคู่แข่งฐานการผลิต

นายวิบูลย์ กล่าวด้วยว่า ประเทศไทยมีคู่แข่งเพิ่มด้านการเป็นฐานการผลิต ได้แก่ เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย การดึงการลงทุนไม่ง่ายเหมือนเมื่อก่อน ส่วนหนึ่งจากค่าแรงไทยสูง ดังนั้นต้องปรับตัวโดยหาจุดขายด้านอื่นที่ เช่น เรื่อง ease of doing business (ความง่ายในการประกอบธุรกิจ ) การสร้างคนที่มีสมรรถนะสูงป้อนให้กับอุตสาหกรรมใหม่ใน S-Curve ที่รัฐบาลให้การส่งเสริมรวมถึงการปรับกฏเกณฑ์ต่าง ๆ ให้ทันสมัยมากขึ้นโดยเร็ว

“คู่แข่งสำคัญเวลานี้น่าจะเป็นเวียดนาม เพราะต้นทุนค่าแรง และค่าพลังงานงานถูกกว่าไทยมาก อีกทั้งมีการทำ FTA กับคู่ค้ามากกว่าไทย ถัดมาคือ มาเลเซีย และที่มาแรง คือ อินโดนีเซีย”

อย่างไรก็ตาม ทางกลุ่มมีการวางยุทศาสตร์ที่จะปรับตัวเข้าหาการใช้นวัตกรรมเข้ามาเพิ่มขีดความสามารถทางการ แข่งขัน ทั้งในตลาดปัจจุบัน และ ขยับขยายเข้าหา อุตสาหกรรมใหม่ เช่น medical technology, หรือ ตลาดเทคโนโลยีทางการเกษตรอุตสาหกรรม และสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ เช่น ความร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรม ในการทำงานร่วมกันแบบพาร์ทเนอร์ระหว่าง public-private sector เป็นต้น

นายวิบูลย์ยังกล่าวทิ้งท้ายอีกว่า ปัจจุบันกระแสการกีดการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (non tariff barriers) เพิ่มความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ด้าน global minimal coprate tax ซึ่งประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งสร้างสิ่งที่เรียกว่า ความง่ายในการทำธุรกิจ (ease of doing business) เช่นการแก้ไขกฏเกณฑ์ต่าง ๆ หรือโครงสร้างราคาพลังงานที่ดีขึ้น ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว เพื่อทำให้เอกชนสามารถแข่งขันกับ global non tariffs barriers ได้