เทรนด์บริโภค“ขนมเยลลี่เจลาติน”มาแรงในญี่ปุ่น

01 มิ.ย. 2566 | 10:13 น.
อัปเดตล่าสุด :01 มิ.ย. 2566 | 10:18 น.

“พาณิชย์” เผยเทรนด์บริโภคขนมเยลลี่เจลาตินในญี่ปุ่นมาแรง กลุ่มผู้ชายหันมาบริโภคเพิ่มขึ้น กลุ่มวัยรุ่นหญิงนิยมซื้อถ่ายรูปลงโซเชียลมีเดีย ล่าสุดมูลค่าตลาดพุ่งแซงหมากฝรั่งแล้วแนะผู้ประกอบการไทยศึกษาแนวโน้มตลาดและวางแผนส่งออก

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า กรมฯสำรวจลู่ทางและโอกาสการส่งออกสินค้าไทยไปยังประเทศที่ประจำอยู่และให้รายงานผลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้รับข้อมูลทูตพาณิชย์ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ถึงโอกาสในการขยายตลาดขนมเยลลี่เจลาติน (Gummy Jelly) ในตลาดญี่ปุ่น เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และได้กลายเป็นขนมที่มีมูลค่าการตลาดสูงแซงตลาดหมากฝรั่งที่เคยครองแชมป์ก่อนหน้านี้

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP)

ทั้งนี้ ทูตพาณิชย์ได้รายงานข้อมูลเพิ่มเติมว่า มีผลสำรวจจากบริษัท Intage inc. ซึ่งเป็นบริษัทสำรวจตลาด ได้ทำการติดตามกลุ่มผู้บริโภคหญิงและชายจำนวน 5 หมื่นคน

พบว่า มีความต้องการบริโภคขนมเยลลี่เจลาตินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 2563 ที่เกิดสถานการณ์โควิด-19 ที่คนอยู่บ้านทำให้มีความต้องการขนมเหล่านี้เพิ่มขึ้น โดยสถิติปี 2565 ยอดซื้อขนมเยลลี่เจลาตินเพิ่มขึ้น 91% เมื่อเทียบกับปี 2556 ขนมบิสกิต ช็อกโกแลต และขนมขบเคี้ยวเพิ่มขึ้น 20-30% ขนมลูกอมอัดเม็ดเพิ่มขึ้น 11%

เทรนด์บริโภค“ขนมเยลลี่เจลาติน”มาแรงในญี่ปุ่น

สำหรับกลุ่มผู้บริโภคที่ซื้อขนมเยลลี่เจลาตินเพิ่มขึ้นคือ กลุ่มผู้ชายวัย 30-49 ปี เพิ่มขึ้น 234% รองลงมา คือ กลุ่มผู้บริโภคชายวัย 50–69 ปี เพิ่มขึ้น 219% และหากดูสัดส่วนการซื้อกลุ่มผู้บริโภคชายมีสัดส่วนการซื้อเพิ่มขึ้นจาก 16% ในปี 2556 เป็น 20% ในปี 2565 ด้วย ซึ่งเป็นสัดส่วนที่รองลงมาจากกลุ่มผู้บริโภคหญิงวัย 30–49 ปีที่มีสัดส่วน 27% และสูงกว่ากลุ่มผู้บริโภคหญิงวัย 15-29 ปีที่มีสัดส่วน 16%โดยขนมเยลลี่เจลาตินที่กลุ่มผู้บริโภคนิยมซื้อหากเป็นกลุ่มวัยรุ่นหญิงจะซื้อเพื่อนิยมถ่ายรูปลงโซเชียลมีเดีย กลุ่มผู้บริโภคผู้หญิงนิยมรสผลไม้ที่มีความนุ่ม และกลุ่มผู้บริโภคชายวัยกลางคนนิยมรสน้ำอัดลมรสต่างๆที่มีความเหนียว

เทรนด์บริโภค“ขนมเยลลี่เจลาติน”มาแรงในญี่ปุ่น

นอกจากนี้ ผลจากการที่ขนมเยลลี่เจลาตินที่เดิมมีภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่อสุขภาพ และผู้ผลิตได้พยายามเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ทำให้มูลค่าตลาดขนมเยลลี่เจลาตินได้แซงหน้ามูลค่าตลาดหมากฝรั่งไปแล้ว โดยผลสำรวจพบว่า ปี 2565 มีมูลค่า 78,100 ล้านเยน (ประมาณ 20,000 ล้านบาท) แซงหน้ามูลค่าตลาดหมากฝรั่ง ที่มีมูลค่า 54,800 ล้านเยน (13,600 ล้านบาท) ซึ่งในปี 2560 มูลค่าตลาดหมากฝรั่งมูลค่า 82,300 ล้านเยน (ประมาณ 20,500 ล้านบาท) และมูลค่าตลาดขนมเยลลี่เจลาตินมูลค่า 55,500 ล้านเยน (ประมาณ 13,800 ล้านบาท)

สาเหตุที่ทำให้มูลค่าตลาดหมากฝรั่งลดลงมาจากช่วงโควิด-19 คนอยู่บ้านมากขึ้น จึงลดการบริโภคหมากฝรั่งเพื่อระงับกลิ่นปาก บางส่วนไม่อยากถอดหน้ากากเพื่อคายหมากฝรั่ง และคนสูบบุหรี่ลดลงจึงลดการบริโภคหมากฝรั่ง อีกทั้งที่ทิ้งหายากซึ่งผลที่เกิดขึ้นทำให้บริษัทขนมยักษ์ใหญ่อย่าง Meji ประกาศยกเลิกการจำหน่ายหมากฝรั่งแบรนด์ XYLISH ของบริษัท และสิ้นสุดการจำหน่ายในเดือนมีนาคม 2566 ที่ผ่านมา

ส่วนการส่งออกหมากฝรั่งของไทยสู่ตลาดญี่ปุ่นก็มีมูลค่าลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยในปี 2556 มีมูลค่าส่งออก 472,602,176 บาท ส่วนในปี 2565 มีมูลค่าส่งออกเพียง 67,140 บาท ซึ่งเป็นผลจากเทรนด์ผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง ส่งผลกระทบต่อมูลค่าการส่งออก แต่ก็เป็นโอกาสในการเพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าใหม่ๆ เช่น เยลลี่เจลาติน ที่กำลังมีแนวโน้มเติบโตสูงซึ่งผู้ผลิตและผู้ส่งออกต้องติดตามเทรนด์ตลาด และวางแผนการส่งออกสินค้าไปจำหน่าย จะช่วยให้ยอดส่งออกสินค้าในกลุ่มนี้ของไทยไปญี่ปุ่นขยายตัวได้เพิ่มขึ้น