ส่งออกไทย ช่วงที่เหลือปี 66 น่าห่วง ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกเพิ่ม

31 พ.ค. 2566 | 07:40 น.
อัปเดตล่าสุด :31 พ.ค. 2566 | 07:55 น.

"SCB EIC" ยังมองการส่งออกไทยในระยะต่อไปน่าเป็นห่วง หลังเจอความเสี่ยงด้านต่ำเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มขึ้น แรงหนุนจากตลาดจีนที่แผ่วลงกว่าที่คาด รวมทั้งเดือนเม.ย. 66 ทรุดตัวต่อเนื่อง

"SCB EIC" ระบุในรายงานบทวิเคราะห์ว่า การส่งออกไทย ในระยะต่อไปได้รับแรงหนุนจากจีนแผ่วกว่าคาด และมีแนวโน้มเผชิญแรงกดดันจากความเสี่ยงด้านต่ำของเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มขึ้น โดยในช่วงที่เหลือของปี 66 มีแนวโน้มเผชิญแรงกดดันมากกว่าที่เคยประเมินไว้

รวมทั้งที่ผ่านมาตัวเลขการส่งออกไทย ในเดือน เม.ย. 66 ทรุดตัวต่อเนื่อง หดตัวต่ำสุดในรอบ 4 เดือน โดยมีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 21,723.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว -7.6% (YOY) หดตัวมากขึ้นจาก -4.2% (YOY) ในเดือนก่อน

นอกจากนี้ หากเทียบเดือนก่อนหน้าแบบปรับฤดูกาล มูลค่าการส่งออกในเดือน เม.ย. หดตัว -4.1% (MOM) นับเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน สะท้อนทิศทางการส่งออกที่อ่อนแอลงชัดเจน

ส่งออกไทย ช่วงที่เหลือปี 66 น่าห่วง ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกเพิ่ม

5 ปัจจัยหลักกดดันการส่งออกไทยในระยะถัดไป

1. แรงหนุนสำคัญจากจีนมีแนวโน้มแผ่วลงเร็วกว่าคาด

หลังการนำเข้าสินค้าของจีนจากไทยในเดือน เม.ย. แม้จะขยายตัวได้ครั้งแรกในรอบ 10 เดือนที่ 8.2%(YOY) ทำให้การส่งออกไปจีนในเดือน เม.ย. พลิกกลับมาขยายตัวสูง และส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยฐานต่ำ แต่ภาพรวมการนำเข้าของจีนกลับมาหดตัวอีกครั้ง สะท้อนให้เห็นว่าการค้าระหว่างประเทศของจีนยังไม่สามารถฟื้นตัวผ่านจุดสูงสุดในปีนี้ได้ และล่าสุดเริ่มเห็นการปรับชะลอลง

2. กิจกรรมทางเศรษฐกิจของโลกมีแนวโน้มปรับชะลอลงชัดเจน

โดยดัชนี Economic Surprise Index จัดทำโดย Citi Group บ่งชี้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจจริงของโลกในไตรมาส 2 เริ่มออกมาแย่กว่าตัวเลขคาดการณ์บ้างแล้ว สะท้อนโมเมนตัมเศรษฐกิจระยะต่อไปที่ไม่สดใสนัก

3. ดัชนี Flash Manufacturing PMI1 ในเดือน พ.ค. ของคู่ค้าสำคัญยังอยู่ในภาวะหดตัว

โดยมาจากอุปสงค์สินค้าที่ยังไม่สามารถกลับมาขยายตัวได้ นำโดย Flash US Manufacturing PMI ลดลงมาอยู่ที่ 48.5 จาก 50.2 ในเดือน เม.ย. Flash Eurozone Manufacturing PMI ลดลงมาอยู่ที่ 44.6 ต่ำสุดในรอบ 36 เดือน Flash UK Manufacturing PMI ลดลงมาอยู่ที่ 46.9 ต่ำสุดในรอบ 5 เดือน อย่างไรก็ดี Flash Japan Manufacturing PMI ขยายตัวครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน ต.ค. 2022 ที่ 50.8 และเป็นประเทศเดียวใน G82 ที่ภาคการผลิตขยายตัว

4. เครื่องชี้วัดการค้าระหว่างประเทศบ่งชี้ว่าการค้าโลกชะลอลงต่อเนื่อง

โดยการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และอิตาลี ที่เข้าสู่ภาวะหดตัวแล้วในช่วงปลายไตรมาส 1

5. ภาพรวมการส่งออก 20 วันแรกของเกาหลีใต้ในเดือน พ.ค. 66 ชะลอลง

โดยหดตัว -16% (YOY) หดตัวเพิ่มขึ้นจาก -12.5% ในเดือนก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยฐานสูงที่มูลค่าการส่งออกของช่วงเวลาเดียวกันปีก่อนที่สูงอันดับ 2 เป็นประวัติการณ์

การส่งออกไทยรายกลุ่มสินค้าเดือน เม.ย. 66

สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรหดตัวครั้งแรกในรอบ 3 เดือนที่ -12.0% (YOY)

โดยมีปัจจัยกดดันสำคัญจากการส่งออกไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ อาหารสัตว์เลี้ยง และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปที่หดตัวต่อเนื่อง

สินค้าอุตสาหกรรมหดตัว -11.2%

ถือว่าหดตัวต่อเนื่องมากขึ้นเทียบกับเดือนก่อนที่ -5.9% จากการส่งออกเคมีภัณฑ์และเม็ดพลาสติกที่หดตัวลง รวมถึงการส่งออกเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ที่หดตัว -27.1% รวมถึงรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบขยายตัว 3.4%

สินค้าแร่และเชื้อเพลิงหดตัวแรง -13.7%

จากการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปที่หดตัว -17.2% หลังจากขยายตัวต่ำในเดือน มี.ค.

สินค้าเกษตรยังขยายตัวได้ดีที่ 23.8%

โดยขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยเฉพาะสินค้าหลัก ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ขยายตัวสูง 142.8% ขยายตัวดีกว่าเดือนก่อนหน้าที่ 94.5% ตามการฟื้นตัวของอุปสงค์จากจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่ และอุปทานคอขวดตามด่านกระจายสินค้าที่คลี่คลายส่งผลให้การระบายสินค้าเป็นไปได้รวดเร็วขึ้น

นอกจากนี้ไก่สดแช่เย็นแช่แข็งขยายตัว 38.9% ชะลอลงเล็กน้อยจาก 47.9% ในเดือนก่อน นอกจากนี้ การส่งออกข้าวขยายตัว 3.5% ด้านผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังหดตัว -44.1% ครั้งแรกในรอบ 3 เดือน

ตลาดคู่ค้าสำคัญส่วนใหญ่หดตัวเดือน เม.ย. 66

ตลาดสหรัฐฯ หดตัว -9.6% (YOY) หลังจากขยายตัว 1.7% ในเดือนก่อน

ตลาด ASEAN 5, CLMV หดตัวเพิ่มขึ้น -17.6% และ -17.0% ตามลำดับ

ตลาดตะวันออกกลาง หดตัว –16.5% ซึ่งเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 15 เดือน

ตลาดญี่ปุ่น กลับมาหดตัวที่ -8.1% จากที่ขยายตัวได้ 10.2% ในเดือนก่อนหน้า

ตลาดยุโรป (EU28) ทรงตัวเทียบกับเดือนก่อนที่หดตัว -5.3%

ตลาดจีน กลับขยายตัวได้ดีที่ 23% เป็นการขยายตัวได้ครั้งแรกในรอบ 11 เดือน ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยฐานต่ำ