เจาะตลาดญี่ปุ่น ไทยดันส่งออกกล้วยไทย

30 พ.ค. 2566 | 10:34 น.
อัปเดตล่าสุด :30 พ.ค. 2566 | 10:45 น.
602

“พาณิชย์” ดันส่งออกกล้วยไทยไปตลาดญี่ปุ่น ตั้งเป้าให้ได้เต็มโควต้าไม่มีภาษี  พร้อมนำผู้นำเข้าชาวญี่ปุ่นเจรจาผู้ส่งออกไทย คาดกล้วยและผลิตภัณฑ์กล้วยแปรรูปมีคำสั่งซื้อทะลุ1พันล้าน

นายภูสิต  รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่นิยมบริโภคกล้วยเป็นอย่างมาก เพราะเห็นว่าเป็นผลไม้ที่มีรสชาติอร่อยที่มีคุณค่าทางอาหารสูง อีกทั้งยังมีราคาที่เข้าถึงได้และยังสามารถนำไปใช้แปรรูปเป็นขนมได้อีกมากมาย โดยที่ญี่ปุ่นเองสามารถปลูกกล้วยเองได้ในปริมาณน้อยเนื่องจากมีภูมิอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย

นายภูสิต  รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

ซึ่งในแต่ละปีจะต้องนำเข้ากล้วยเข้ามาบริโภคในประเทศถึงปีละกว่า 1 ล้านต้น สำหรับประเทศไทยนั้น แม้จะมีความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย -ญี่ปุ่น (Japan - Thailand Economic Partnership Agreement) หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า JTEPA

ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2550 โดยญี่ปุ่นได้ให้สิทธิพิเศษการยกเว้นภาษีนำเข้ากล้วยจากประเทศไทยเป็นจำนวน 8,000 ตันก็ตาม แต่ที่ผ่านมา ประเทศไทยสามารถส่งออกกล้วยเข้าสู่ตลาดญี่ปุ่นได้สูงสุดเพียง 2,890 ตันต่อปีเท่านั้น จึงเห็นถึงโอกาสในขยายตลาดและได้สั่งการให้เดินหน้าการผลักดันการส่งออกกล้วยไทยเข้าสู่ตลาดญี่ปุ่นอย่างเต็มที่

เจาะตลาดญี่ปุ่น ไทยดันส่งออกกล้วยไทย

นายฉันทพัทธ์ ปัญจมานนท์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียวเปิดเผยว่าสำหรับแผนการเร่งรัดการส่งออกกล้วยไทยเข้าสู่ตลาดญี่ปุ่นนั้น ต้องยอมรับว่า หนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ส่งผลให้ กล้วยไทยสามารถส่งเข้าไปแข่งขันในตลาดญี่ปุ่นได้น้อยแม้ว่าจะไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าก็ตาม

ก็คือการแข่งขันอย่างรุนแรงจากประเทศฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นเจ้าตลาด ซึ่งในปัจจุบันถือครองตลาดอยู่ถึง 76% หรือประมาณ 3 ใน 4 ของตลาดกล้วยในญี่ปุ่นทั้งหมด 

เจาะตลาดญี่ปุ่น ไทยดันส่งออกกล้วยไทย

 ล่าสุดนี้ทางประเทศฟิลิปปินส์ก็เพิ่งออกมาประกาศขึ้นราคากล้วยหอมในประเทศญี่ปุ่นด้วยเหตุผลทางด้านต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งฟิลิปปินส์ยังประสบปัญหาโรคระบาดในกล้วยซึ่งส่งผลกระทบต่อด้านปริมาณการผลิตด้วย จึงเป็นโอกาสอันดีที่กล้วยไทยจะเข้าไปช่วงชิงตลาด โดยในกิจกรรมครั้งนี้ ทางสำนักงานได้นำทั้งซุปเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ อาทิ Gyomu Super ซึ่งมีกว่า 1,050 สาขา และ Beisia ซึ่งมีกว่า 130 สาขาทั่วญี่ปุ่น พร้อมด้วยผู้นำเข้าที่มีศักยภาพรวม 10 บริษัท เดินทางมาพบปะเจรจาการค้ากับผู้ส่งออกและกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยหอม ผู้ผลิตกล้วยแปรรูป และได้เชิญผู้ประกอบการกล้วย GI ของไทยที่ได้รับการรับรองจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาให้เข้าร่วมกิจกรรมด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการเจรจาการค้าและเกิดการทดลองชิมสินค้า ซึ่งในส่วนตัวมีความเชื่อว่ากล้วยจากประเทศไทยมีรสชาติที่อร่อยกว่าของประเทศคู่แข่ง อีกทั้งผลิตภัณฑ์กล้วยแปรรูปจากประเทศไทยมีความหลากหลายและมีนวัตกรรมที่น่าสนใจ และยังอาจช่วยสร้างโอกาสให้สินค้าเกษตรจากภูมิภาคของไทยให้สามารถเปิดตลาดส่งออกสู่ประเทศญี่ปุ่นได้ต่อไปด้วย