บอร์ดรฟม.เคาะสร้าง “รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล” 4.1 หมื่นล้าน

22 พ.ค. 2566 | 12:09 น.
อัปเดตล่าสุด :25 พ.ค. 2566 | 16:03 น.
1.5 k

บอร์ดรฟม.เคาะสร้าง “รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล” ช่วงแคราย-ลำสาลี วงเงิน 4.1 หมื่นล้านบาท เล็งชงคมนาคม-ครม.ชุดใหม่ไฟเขียวภายในเดือน ก.พ.67 ดึงเอกชนประมูล PPP ภายในเดือนก.ย.67 ลุยตอกเสาเข็มเริ่ม ต.ค.68 คาดเปิดให้บริการ ต.ค.ปี 71

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) เบื้องต้นที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.ได้มีมติเห็นชอบหลักการผลการศึกษาโครงการฯ ตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ในรูปแบบ PPP Net cost

 

รายงานข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า ตามแผนขั้นตอนต่อไปจะนำเสนอรายงานผลการศึกษาโครงการฯ จะเสนอกระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่พิจารณาเพื่อเห็นชอบดำเนินโครงการฯ ภายในเดือนก.พ. 2567 และเข้าสู่ขั้นตอนการตั้งคณะกรรมการตามมาตรา 36 ของ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ (PPP) ต่อไป

บอร์ดรฟม.เคาะสร้าง “รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล”  4.1 หมื่นล้าน

ทั้งนี้โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล จะเริ่มขั้นตอนการสำรวจอสังหาริมทรัพย์และจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ภายในเดือน มี.ค. 2568-เม.ย. 2571 และดำเนินการเปิดประมูลเพื่อคัดเลือกเอกชน ภายในเดือนก.ย.2567-ก.ย.2568 หลังจากนั้นจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างภายในเดือนต.ค.2568  คาดว่าจะเปิดให้บริการภายในเดือน ต.ค. 2571

ส่วนรายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก. ) ซึ่ง รฟม.ได้นำข้อมูลเพิ่มเติมให้ทางสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ที่เป็นผู้ดำเนินการด้านการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการฯ ตั้งแต่เริ่มต้นเพื่อชี้แจงต่อ คชก.ต่อไป

บอร์ดรฟม.เคาะสร้าง “รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล”  4.1 หมื่นล้าน

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) เป็นรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) ยกระดับตลอดเส้นทาง มีระยะทางรวม 22.1 กม. มี 20 สถานี มูลค่าลงทุนรวม 41,720 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 7,371 ล้านบาท ค่างานก่อสร้างงานโยธา 19,247 ล้านบาท ค่าติดตั้งงานระบบรถไฟฟ้าและงานจัดซื้อขบวนรถไฟฟ้า 12,442 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาบริหารควบคุมงานก่อสร้างงานโยธา งงานติดตั้งและทดสอบงานระบบรถไฟฟ้าฯ 1,159 ล้านบาท ค่า Provisional Sum 1,501 ล้านบาท
 

นอกจากนี้ด้านรูปแบบ PPP-Net cost รัฐลงทุนค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน เอกชนลงทุนงานโยธา งานระบบรถไฟฟ้าและขบวนรถไฟฟ้า โดยรัฐสนับสนุนทางการเงินค่างานโยธาไม่เกิน19,938 ล้านบาท โดยแบ่งจ่ายเป็นระยะเวลา 10 ปี ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกับรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสายสีชมพู โดยเอกชนให้บริการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษา รวมไปถึงระบบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องตลอดระยะเวลาโครงการ 30 ปี

 

อย่างไรก็ตามจากการศึกษาโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล พบว่า มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจของโครงการ (EIRR) 23.48%, NPV 56,662 ล้านบาท, B/C Ratio 2.79 เท่า โดยคาดการณ์ผู้โดยสารปี 2571 ณ ปีเปิดให้บริการ ที่ 222,650 คน-เที่ยวต่อวัน ค่าโดยสาร 14 บาทสูงสุด 42 บาท ราคา ณ ปี พ.ศ. 2566