“คมนาคม” ลุยปรับรูปแบบทางด่วนขั้น 3 N1 หนุน “สายสีน้ำตาล”

16 มิ.ย. 2563 | 16:50 น.
640

“คมนาคม” เดินหน้าโครงการทางด่วนขั้น 3 ตอน N1 วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท เร่งปรับรูปแบบเทคนิคด้านวิศวกรรม-อีไอเอ หลัง มก.เห็นชอบหลักการสร้างสายสีน้ำตาล คาดใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 1 ปี

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมคณะทำงานพิจารณาแนวทางการดำเนินโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 ว่า ที่ประชุมได้ติดตามการพัฒนาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 ตอนN1  ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) พร้อมกับการดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล (แคราย-ลำสาลี) ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งทั้ง 2 โครงการวางแนวเส้นทางผ่านมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์(มก.) โดยเบื้องต้นมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เห็นด้วยในหลักการในการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลผ่านมหาวิทยาลัย แต่ยังมีประเด็นข้อกังวลเกี่ยวกับรูปแบบการก่อสร้างและผลกระทบสิ่งแวดล้อม

 

“เราได้มอบหมายให้ทีมงานของกระทรวงคมนาคม รฟม.และมก.ไปพิจารณารูปแบบการดำเนินงานร่วมกัน ทั้งโครงสร้างและเทคนิคเชิงวิศวกรรม รวมถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม การป้องกันเสียงและฝุ่นละออง ก่อนสรุปให้ได้ใน 2 สัปดาห์และนำกลับมาเสนอที่ประชุมพิจารณาอีกครั้ง”

 

อ่านข่าว  สั่ง กทพ. ศึกษา ขุดอุโมงค์ ลุยด่วน ขั้น 3-สายสีนํ้าตาล

รายงานข่างจากกระทรวงคมนาคม แจ้งว่า ที่ประชุมคณะทำงานพิจารณาแนวทางการดำเนินโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 ยังหารือเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาส่วนโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 ตอนN1 ซึ่งมีแนวเส้นทางผ่านมก.เช่นเดียวกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลด้วย แต่ขณะนี้ มก.ยังไม่ได้เห็นด้วยหรือคัดค้านการก่อสร้างN1 เนื่องจากยังมีประเด็นข้อกังวลเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม ดังนั้นที่ประชุมจึงมอบให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) ไปชี้แจงทำความเข้าใจให้ชัดเจนก่อนสรุปเสนอที่ประชุมพิจารณาอีกครั้งภายใน 2-3 สัปดาห์

“สำหรับรูปแบบการก่อสร้าง N1 ที่เคยมีข้อเสนอให้ก่อสร้างบางช่วงอุโมงค์ลอดใต้ดินแทนทางยกระดับนั้น ได้ข้อสรุปแล้วว่าควรสร้างเป็นทางยกระดับจะคุ้มค่ามากกว่าในหลักวิศวกรรรม และระยะเวลาดำเนินการ เพราะต้องทำฐานรากรถไฟฟ้าอยู่แล้ว ซึ่งเป็นแนวเดียวกันเพียงแค่เสาของแต่ละโครงการสลับฟันปลากันเท่านั้น”

 

อย่างไรก็ตามหาก มก. รฟม.และกทพ.ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนแล้ว กทพ.และ รฟม.ต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ)ให้เรียบร้อย คากว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปีน่าจะเริ่มงานก่อสร้างได้ โดยการก่อสร้าง N1 ประมาณการเบื้องต้นจะใช้เงินประมาณ 1 หมื่นล้านบาท โดย กทพ.จะลงทุนเองไม่ใช้เงินจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย(TFF)