"สหกรณ์โคนมวังน้ำเย็น" วอล์คเอาท์ จัดสรรโควตานมโรงเรียน มองไม่เป็นธรรม

18 พ.ค. 2566 | 13:21 น.
อัปเดตล่าสุด :18 พ.ค. 2566 | 13:34 น.
1.1 k

“นมโรงเรียน” พื้นที่ปศุสัตว์ เขต 2<3 ร้อนฉ่า “อำนวย” ประธานสหกรณ์โคนมวังน้ำเย็น วอล์คเอาท์ เตรียม ร้อง ป.ป.ช . ระบุจัดสรรโควตานมโรงเรียน 1.4 หมื่นล้าน ไม่เป็นธรรม

\"สหกรณ์โคนมวังน้ำเย็น\"  วอล์คเอาท์ จัดสรรโควตานมโรงเรียน มองไม่เป็นธรรม

วันที่ 18 พฤษภาคม 2566 นายอำนวย ทงก๊ก ประธานกรรมการกลุ่ม สหกรณ์โคนมวังน้ำเย็น จำกัด หนึ่งในผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการอาหารเสริม(นม) โรงเรียน ปี 2566 เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า วันนี้(18 พ.ค. 2566) ในพื้นที่กลุ่ม 2,3  โดยคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน มีผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาเป็นประธานอนุกรรมการ และปศุสัตว์นครราชสีมา เป็นอนุกรรมการ และเลขานุการ ได้จัดสรรโควตานมโรงเรียน (มูลค่า 1.4 หมื่นล้านบาทต่อปี) ซึ่งตนมองว่ามีการจัดสรรที่ไม่เป็นธรรม โดยทางสหกรณ์โคนมวังน้ำเย็นได้สิทธิ์โควตาลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

\"สหกรณ์โคนมวังน้ำเย็น\"  วอล์คเอาท์ จัดสรรโควตานมโรงเรียน มองไม่เป็นธรรม

"ทั้งนี้ผมได้ตัดสินใจเดินออกจากที่ประชุม (วอล์คเอาท์) และเตรียมไปยื่นหนังสือร้อง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รวมถึงปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ ตามลำดับ จากเห็นมีความไม่ชอบมาพากล จึงอยากให้ทาง ป.ป.ช.ช่วยตรวจสอบ"

พลิกปูมประวัติศาสตร์นมโรงเรียน

ในช่วงปี 2552 เกิดปัญหาน้ำนมดิบล้นตลาด คณะรัฐมนตรีจึงได้พิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหา โดยให้องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) เป็นกลไกของรัฐ ในการรับซื้อน้ำนมดิบส่วนเกินนำมาผลิตเพื่อจำหน่ายในโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน และมีมติในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้

1.คณะรัฐมนตรี (28 ม.ค. 2552) เห็นชอบในหลักการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หรือ หน่วยงานรัฐ ที่มีงบประมาณจัดซื้อนมพร้อมดื่ม จัดซื้อจาก อ.ส.ค. ได้ โดยวิธีกรณีพิเศษตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ทั้งนี้ ให้ อ.ส.ค. ได้รับสิทธิพิเศษดังกล่าวจนถึงสิ้นเดือน ก.ย. 2552

2.คณะรัฐมนตรีมีมติ (10 มี.ค. 2552) ยกเลิกระบบการกำหนดเขตพื้นที่ หรือ โซนนิ่ง และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดซื้อนมโรงเรียน โดยให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมตามกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง และต้องตรวจสอบให้ผลิตภัณฑ์ที่จัดซื้อมีคุณภาพและมาตรฐานเป็นไปตามเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำหนด รวมทั้งอนุมัติงบประมาณการจัดซื้อนมพร้อมดื่มให้แก่นักเรียน ตั้งแต่ชั้นก่อนวัยเรียนจนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในวงเงินรวมทั้งสิ้นกว่า 2,500 ล้านบาท ให้กับ อ.ส.ค. จัดซื้อนม ยู.เอช.ที. ให้กับโรงเรียนประถมศึกษาปีที่ 5-6 โดยตรง และงบประมาณส่วนที่เหลือให้ อปท. ที่มีศักยภาพและความพร้อมทางการเงินการคลังจัดซื้อนมโรงเรียน โดยใช้เงินของ อปท. ไปก่อน แล้วขอเบิกจ่ายคืนในภายหลัง ส่วน อปท. ใดไม่มีงบประมาณให้ของบประมาณจากรัฐบาล

3.คณะรัฐมนตรีมีมติ (13 พ.ค. 2552) เห็นชอบให้ อปท. จัดซื้อนม ยู.เอช.ที. สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5-6 โดยวิธีกรณีพิเศษ จาก อ.ส.ค. และผู้ประกอบการนม ยู.เอช.ที. อีก 4 ราย ที่ช่วยรับซื้อน้ำนมดิบส่วนเกินตามแผนการดื่มนมตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. - 30 ก.ย. 2552

4.คณะรัฐมนตรีมีมติ (23 มิ.ย. 2552) เห็นชอบให้ทบทวนมติ ครม. เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2552 (ตามข้อ 2.1.2) ในประเด็นเกี่ยวกับวงเงินงบประมาณส่วนที่เหลือกว่า 2 พันล้านบาท โดยอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 งบกลางรายการเงินสำรองเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 604 ล้านบาท ให้แก่ อ.ส.ค. เพื่อจัดซื้อนม ยู.เอช.ที. จำนวน 80 ล้านกล่อง ส่งมอบให้เด็กก่อนวัยเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ดื่มเป็นเวลา 15 วัน สำหรับวันหยุดประจำสัปดาห์ และจำนวนกว่า 1,458 ล้านบาท เพื่อให้กระทรวงมหาดไทยนำไปจัดสรรให้ อปท. และกระทรวงศึกษาธิการ นำไปจัดซื้อนมโรงเรียนให้เด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5-6 ให้ครบถ้วน

5.คณะรัฐมนตรี (15 ธ.ค. 2552) เห็นชอบในหลักการแนวทางการทบทวนระบบบริหารจัดการนมโรงเรียน (แบ่งโครงสร้างบริหารจำนวน 5 ข้อ และแนวทางการบริหาร จำนวน 4 ข้อ) ตามมติคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม หรือ มิลค์บอร์ด ครั้งที่ 8 /2552 เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2552 และครั้งที่ 9/2552 เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2552 มีโครงสร้างบริหารนมโรงเรียนให้มีองค์กรกลาง ซึ่งเป็นคณะกรรมการกลาง 4 ฝ่าย ได้แก่ ภาคราชการ ฝ่ายเกษตรกร ผู้ประกอบการแปรรูป และผู้แทนฝ่ายจัดซื้อ รวม 19 คน เป็นผู้ดำเนินการบริหารจัดการระบบนมโรงเรียน โดยให้ อ.ส.ค. เป็นหน่วยงานรัฐ ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการขององค์กรกลาง เป็นผู้แทนในการบริหารจัดการ (คณะกรรมการกลาง เป็นคณะอนุกรรมการในกำกับการดูแลของคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม)

6.คณะรัฐมนตรี (16 ก.พ. 2553) รับทราบมติคณะกรรมการพิจารณาสิทธิพิเศษของหน่วยงานและรัฐวิสาหกิจ เกี่ยวกับแนวทางการทบทวนระบบบริหารจัดการนมโรงเรียน ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยให้ทุกหน่วยงาน ซึ่งได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล เพื่อจัดซื้ออาหารเสริม (นม)โรงเรียน จัดซื้อจาก อ.ส.ค. โดยวิธีกรณีพิเศษ หรือที่เรียกชื่ออย่างอื่น ซึ่งมีวิธีการทำนองเดียวกันได้ ตามนัยระเบียบว่าด้วยพัสดุที่หน่วยงานนั้น ๆ ถือปฎิบัติ ทั้งนี้ ให้ อ.ส.ค. ได้รับสิทธิพิเศษดังกล่าวไม่เกินสิ้นเดือน ก.ย. 2556

 

ปัจจุบัน

คณะรัฐมนตรี (26 มี.ค. 2562) ปรับปรุงโครงสร้างการบริหารจัดการนมโรงเรียนใหม่ โดยแยกโครงสร้างการบริหารออกจากมิลค์บอร์ด เพื่อป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ เนื่องจากมีผู้มีส่วนได้เสียร่วมเป็นกรรมการ จึงได้แต่งตั้ง "คณะกรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน" จำนวน 15 คน ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานกรรมการ, หน่วยงานที่กำกับดูแล จำนวน 4 คน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพการผลิต จำนวน 3 คน เป็นกรรมการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับผู้รับบริการ จำนวน 3 คน เป็นกรรมการ และผู้ทรงคุณวุฒิที่ประธานกรรมการแต่งตั้ง จำนวน 3 คน เป็นกรรมการ และอธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นกรรมการและเลขานุการ (โดยไม่มีองค์กรเกษตรกรและผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียในโครงการฯ รวมเป็นกรรมการ

ทั้งนี้ เป็นไปตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ให้ทบทวนคณะทำงานชุดต่าง ๆ ภายใต้มิลค์บอร์ด ให้มีความเหมาะสมไม่ควรมีตัวแทนของผู้มีส่วนได้เสียเข้าไปเป็นคณะอนุกรรมการที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบ กำกับดูแล การดำเนินงาน หรือ คุณภาพนมโรงเรียน และเมื่อสิ้นสุดภาคเรียนการศึกษาต้องให้กระทรวงศึกษาธิการตรวจสอบ ติดตาม และประเมินผล ที่สำคัญการบริหารจัดการ โดยเฉพาะฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ต้องเป็นปัจจุบัน สะดวกต่อการนำมาใช้เพื่อการจัดสรรสิทธิจำหน่ายนมโรงเรียนให้แก่ผู้ประกอบการ รวมถึงการบริหารจัดการโครงการให้มีประสิทธิภาพ ดังนั้น จึงเป็นที่มาของการจัดระเบียบรื้อโควตานมโรงเรียนใหม่

โดยจะมีการแบ่งพื้นที่ ได้แก่

กลุ่มที่ 1 (เขต 1) ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี เป็นประธานอนุกรรมการ และปศุสัตว์จังหวัดสระบุรี เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ,

กลุ่มที่ 2 (เขต 2 และเขต 3) ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานอนุกรรมการ และปศุสัตว์นครราชสีมา เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ,

กลุ่มที่ 3 (เขต 4 ) ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานอนุกรรมการ และปศุสัตว์จังหวัดขอนแก่น เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ,

กลุ่มที่ 4 (เขต 5, 6) ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานอนุกรรมการ และปศุสัตว์เชียงใหม่ เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ และ

กลุ่ม 5 (เขต 7,8,9) ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี เป็นประธานอนุกรรมการ และปศุสัตว์จังหวัดราชบุรี เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ

ขณะที่ "มิลค์บอร์ด" มีฐานะกำกับดูแลแต่ละกลุ่มให้เป็นไปตามมติ ครม. อย่างเคร่งครัด เพื่อให้เด็กได้ดื่มนมคุณภาพดี เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมมีหลักประกันตลาดที่แน่นอน ที่สำคัญ งบประมาณรัฐจะต้องประหยัดและคุ้มค้าที่สุด