เอกชนตราดหวังรัฐบาลใหม่มีเสถียรภาพเร่งปลดล็อกปัญหาพื้นที่

17 พ.ค. 2566 | 17:23 น.
อัปเดตล่าสุด :17 พ.ค. 2566 | 17:30 น.

ประธานหอการค้าจ.ตราดจี้พรรคการเมืองเร่งจัดตั้งรัฐบาล และควรเป็นรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ พร้อมเร่งแก้ไขปัญหาธุรกิจประมง ยกระดับด่านชายแดน

ธุรกิจท่องเที่ยวตราดจี้เร่งรื้อฟื้นโครงสร้างพื้นฐานท่องเที่ยวภาคตะวันออก

นางวิภา สุเนตร ประธานหอการค้าจังหวัดตราด กล่าวถึงการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกลที่ได้ส.ส.มากสุดจากการเลือกตั้งครั้งนี้ ว่า ในฐานะที่เป็นตัวแทนของภาคเอกชนหลักของจังหวัดตราด เราอยากเห็นการจัดตั้งรัฐบาลที่เร็วและมีเสถียรภาพ เพื่อจะได้เข้ามาบริหารประเทศได้ต่อเนื่องจากรัฐบาลเก่า รวมทั้งมีความมั่นคงในการจัดตั้งเพื่อบริหารงานอย่าต่อเนื่องเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ  กกต.ส่วนกลางจะต้องเร่งรับรองให้แล้วเสร็จโดยไว เพราะหากช้าจะทำให้ประเทศชาติเสียโอกาสไป

นางวิภา สุเนตร ประธานหอการค้าจังหวัดตราด

เอกชนตราดหวังรัฐบาลใหม่มีเสถียรภาพเร่งปลดล็อกปัญหาพื้นที่

สิ่งที่อยากจะฝากให้รัฐบาลใหม่เร่งแก้ปัญหาต่อรัฐบาลใหม่ก็คือ การลดภาระค่าใช้จ่ายของภาคเอกชนที่เป็นต้นทุนการผลิตที่สำคัญ คือ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าน้ำมัน หรือค่าก๊าซ เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้ต้นทุนการผลิตของภาคเอกชนลดลง และยังสามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้ดี  ซึ่งที่ผ่านมาปัญหาเหล่านี้ยังไม่มีการแก้ไขอย่างจริงจัง หากทำได้รัฐบาลชุดนี้ควรจะต้องดำเนินการก่อน

นอกจากนี้ ภาคการเกษตรกรรมของจังหวัดตราดยังต้องพึ่งเรื่องน้ำเป็นหลัก เพราะระบบชลประทานยังไม่ครอบคลุมทั้งระบบ ที่เป็นปัจจัยในการผลิตของเกษตรกร หรือราคาปุ๋ยที่แพงเกินไป หากสามารถทำได้จะยิ่งส่งผลดีต่อภาคการผลิตมาก     อีกทั้งจะช่วยยกระดับคุณภาพผลิตทางการเกษตรได้มากด้วย 

เอกชนตราดหวังรัฐบาลใหม่มีเสถียรภาพเร่งปลดล็อกปัญหาพื้นที่

เอกชนตราดหวังรัฐบาลใหม่มีเสถียรภาพเร่งปลดล็อกปัญหาพื้นที่

ในขณะเดียวภาคการเมืองต้องเข้าใจ และรับฟังปัญหาของภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะผ่านวิธีการใด โดยเฉพาะระดับจังหวัดที่เป็นจุดตั้งต้นอาจไม่มีศักยภาพมากพอ ซึ่งไม่สามารถดำเนินการแก้ไขได้เพราะเกินงบประมาณหรือกำลังเงิน รวมทั้งอาจจะเกินอำนาจของระดับจังหวัด 

รวมทั้งเรื่องการค้าชายแดน ที่ปัจจุบันจังหวัดตราดยังติดขัดในเรื่องการยกระดับด่านชายแดนขึ้นเป็นด่านถาวร การแก้ปัญหาประมงที่ปัจจุบันธุรกิจประมงตราดประสบปัญหาจากข้อกฏหมาย IUU ส่งผลให้ภาคประมงขนาดใหญ่ได้รับผลกระทบมาก และเรือประมงจำนวนมากต้องหยุดกิจการและจอดอยู่ที่ท่าเรือ 

การพัฒนายกระดับในเรื่องการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนกับสิ่งแวดล้อม ที่แหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดตราด และการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของภาคตะวันออก ที่สะดวกและหลากหลายช่องทาง เพื่อให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาแหล่งท่องเที่ยวในภาคตะวันออก โดยเฉพาะจังหวัดตราดที่มีแหล่งท่องเที่ยวจำนวนมาก 

นางสาวจารุวรรณ จินตกานนท์ กรรมการสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดตราด

ขณะที่นางสาวจารุวรรณ จินตกานนท์ กรรมการสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดตราด เปิดเผยว่า จังหวัดตราดเป็นจังหวัดที่มีแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่ติดอันดับต้น ๆ ของประเทศ ซึ่งในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวปีละ 2 ล้านคน และมีรายได้เกิน 2 หมื่นล้าน/ปี แต่จังหวัดตราดยังมีปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐานซึ่งนักท่องเที่ยวไม่สามารถเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวได้อย่างสะดวก สบาย 

โดยกลุ่มเป้าหมายของนักท่องเที่ยวในจังหวัดตราดเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวระดับสูง ซึ่งต้องการความสะดวกสบายเป็นหลัก แต่ข่าวการเดินทางมาเกาะช้างและเกิดรถยนต์ติด ทั้งการขึ้นสู่เกาะช้างหรือออกจากเกาะช้าง ซึ่งกลายเป็นข่าวดังในทุกช่วงเทศกาลใหญ่ ๆ หรือวันหยุดยาว  

เอกชนตราดหวังรัฐบาลใหม่มีเสถียรภาพเร่งปลดล็อกปัญหาพื้นที่

วันนี้ รัฐบาลใหม่ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจังหวัดตราดที่ได้รับเลือกเข้าไป จึงต้องเร่งดำเนินการแก้ปัญหาเรื่องนี้ให้เร็วที่สุด คือ การสร้างถนนรอบเกาะช้าง และการก่อสร้างสะพานข้ามเกาะช้างด้วย ซึ่งจะช่วยเเก้ปัญหาได้อย่างเบ็ดเสร็จ 

“หรือการที่แหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดตราดเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลเป็นหลัก แต่จังหวัดตราดกลับไม่มีสะพานท่าเทียบเรือที่มีมาตรฐาน ทั้งที่อำเภอเกาะช้าง และที่อำเภอเกาะกูด เฉพาะเกาะกูดทางเรือที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นท่าเรือเอกชนที่ไม่มีมาตรฐานเลย จึงจำเป็นที่รัฐบาลหรือสส.ตราด ต้องเข้าไปผลักดันให้เกิดขึ้นโดยเร็ว"

ขณะที่ท่าเรือคลองใหญ่ที่สร้างขึ้นมาแล้วไม่ได้ใช้งาน ทางภาคเอกชนของจังหวัดตราด ได้เสนอให้นำมาใช้เพื่อเป็นท่าเรือเพื่อการขนส่งคนหรือผู้โดยสาร และรัฐบาลจะต้องส่งซอฟแวร์มาให้ เพื่อทำให้เป็นประตูสู่การท่องเที่ยวของภาคตะวันออก เสมือนสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งท่าเรือคลองใหญ่พร้อมรับเรือสำราญขนาดใหญ่ และเมื่อมาจอดก็นำเรือเล็กส่งไปยังเกาะช้าง เกาะหมาก หรือเกาะกูด และเชื่อมไปยังท่าเรือจุกเสม็ด พัทยาจ.ชลบุรี ซึ่งควรจะต้องดำเนินการโดยเร็ว

นางสาวจารุวรรณ กล่าวอีกว่า ปัญหาใหญ่อีกประการหนึ่งของผู้ประกอบการท่องเที่ยวจ.ตราดก็คือ ที่ดินทำกินบนอำเภอเกาะช้าง และเกาะกูด ที่มีปัญหาการทับซ้อนกับที่ดินของทางภาครัฐ ทั้งที่ดินของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง และที่ดินของทหารเรือ

ส่งผลให้โรงแรม รีสอร์ทไม่สามารถได้ใบอนุญาต และยังกลายเป็นโรงแรมที่ไม่มีใบอนุญาต กระทบถึงเรื่องการเข้าถึงแหล่งทุน หรือการช่วยเหลือเยียวยากรณีที่เกิดภัยพิบัติ เช่น กรณีการเยียวยาผู้ประกอบการท่องเที่ยวช่วงโควิด-19 หรือ การสนับสนุนโครงการไทยเที่ยวไทย ที่โรงแรมที่ไม่มีใบอนุญาตก็จะไม่สามารถเเข้าร่วมโครงการได้ จึงเป็นเรื่องที่ต้องเร่งรีบแก้ไขโดยเร็ว