"การบินไทย"ชงคณะกรรมการเจ้าหนี้ไฟเขียวควบรวม"ไทยสมายล์" สัปดาห์หน้า

12 พ.ค. 2566 | 14:10 น.
อัปเดตล่าสุด :13 พ.ค. 2566 | 14:51 น.
1.2 k

การบินไทยชงคณะกรรมการเจ้าหนี้ไฟเขียวควบรวม"ไทยสมายล์" สัปดาห์หน้า ชี้เป็นการปรับโครงสร้างธุรกิจการบิน ทำให้ดันการใช้ประโยชน์เครื่องบินต่อวัน เพิ่มขึ้นเป็น 11 ชั่วโมง ทั้งเช่าเครื่องบินเพิ่มอีก 15 ลำ ขยายเส้นทางบินจีน ญี่ปุ่น ยุโรป

นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน)เปิดเผยว่าภายในสัปดาห์หน้าการบินไทยจะมีการประชุมคณะกรรมการเจ้าหนี้  เพื่อขอความเห็นชอบแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจการบิน ในการควบรวมสายการบิน ไทยสมายล์ มารวมอยู่กับการบินไทย ซึ่งเป็นไปตามแผนฟื้นฟูกิจการที่เปิดไว้แล้ว

ชาย เอี่ยมศิริ

 

ในระยะแรกการบินไทยจะดำเนินการควบรวมฝูงบิน แอร์บัส เอ 320 ซึ่งการบินไทยให้ไทยสมายล์เช่า จำนวน 20 ลำ ทยอยเข้ามาอยู่ในฝูงบินของการบินไทย  โดยคาดว่าแผนจะทำเสร็จปีนี้ เพื่อจะช่วยทำให้ ไทยสมายล์ มีผลประกอบการที่ดีขึ้น

เนื่องจากจะทำให้ไทยสมายล์ มีการใช้ประโยชน์ของเครื่องบินต่อวัน เพิ่มขึ้น จากปัจจุบันไทยสมายล์ ใช้เครื่องบินไม่ถึง 9 ชั่วโมงต่อวัน ขณะที่การบินไทยใช้เครื่องบินอยู่ที่ 12-13 ชั่วโมงต่อวัน 

จากผลการศึกษาพบว่า ถ้าแบ่งเครื่องบินลำตัวแคบของไทยสมายล์มาให้การบินไทยใช้ทำการบิน การใช้ประโยชน์ของเครื่องบินต่อวัน จะเพิ่มขึ้นเป็น 11 ชั่วโมงกว่า ซึ่งสูงกว่าอยู่ที่ไทยสมายล์ 2 ชั่วโมงกว่าต่อวัน

ทำให้ต้นทุนต่อชั่วโมงลดลง 20 %แค่นี้ผลประกอบการ ที่ใช้เครื่องบินเอ 320 ก็จะดีขึ้นแล้ว ซึ่งการที่ไทยสมายล์ ไม่ได้สามารถใช้ประโยชน์เครื่องบินได้เต็มที่ เป็นเพราะถือใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ  Air Operator Certificate หรือ AOC คนละบริษัท การบินไปบางประเทศยังไม่ได้

เพราะมีเรื่องของสิทธิการบิน และไทม์สล็อตที่ไม่สามารถโอนข้ามกันได้ จึงต้องควบรวมเครื่องบินให้อยู่ในฝูงบินเดียวกัน ซึ่งการบินไทยมีไทม์สล็อต สามารถนำเครื่องบินที่จะรวมเข้ามา เพื่อนำมาใช้บินในตอนกลางคืนได้

สาเหตุหลักที่การบินไทยต้องควบรวมไทยสมายล์ คือ 1.เป็นการใช้ทรัพย์สินอย่างมีมูลค่ามากขึ้น  2.ทำให้มีอำนาจในการต่อรองกับเวนเดอร์ ในการซื้อบริการต่างๆ ที่จะมีเพิ่มขึ้น เพราะไซด์ของไทยสมายล์ คิดเห็น 10% ของการบินไทย  การปรับโครงสร้างนี้ก็จะทำใหมีการใช้ซัพพลายต่างๆใช้ร่วมกันได้

สำหรับการให้บริการของไทยสมายล์ในช่วงแรกก็ยังคงการให้บริการกลิ่นอายเดิมอันเป็นอัตลักษณ์ของไทยสมายล์อยู่ เพราะมีแฟนคลับและผู้สนับสนุนพึงพอใจในรูปแบบนี้อยู่ จนกว่าการควบรวมจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ในอนาคต

ทั้งนี้เราจะเห็นว่าการควบรวมกิจการของสายการบินแม่และสายการบินลูก หรือสายการบินในเครือมีแนวโน้มเป็นปกติ ซึ่งเป็นการปรับยุทธศาสตร์ในการดำเนินธุรกิจ อย่าง สิงคโปร์ แอร์ไลน์ ควบรวมกับ ซิลล์แอร์ ,คาเธ่ย์ แปซิฟิก ควบรวมกับดรากอนแอร์

เราคาดว่าจะเอาเครื่องบินเข้าฝูงได้ใน ไตรมาส 3 ถ้าหากได้รับความเห็นชอบก็จะค่อยๆทยอยนำเข้ามา เบื้องต้นจะนำเข้ามา 4 ลำก่อน 

ตอนนี้อยู่ระหว่างรอให้กรรมการเจ้าหนี้พิจารณา ถ้าเห็นชอบก็จะดำเนินการต่อไป คงต้องในส่วนของเรคกูเรเตอร์ด้วย เพราะการควบรวมเครื่องบิน ต้องขออนุมัติต่อกระทรวงคมนาคม   ถ้าผู้บริหารแผนมีมติเห็นชอบ  จากนั้นการบินไทยก็จะยกเลิกสัญญาเช่าช่วงเครื่องบินของไทยสมายล์ นำกลับมาให้บริการโดยการบินไทย ทำให้การบินไทยมีฝูงบินเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันการบินไทยมีเครื่องบินทั้งหมด 65 ลำ เป็นเครื่องบินลำตัวกว้างในฝูงบินของการบินไทย 45 ลำ เป็นเครื่องบินลำตัวแคบในฝูงบินไทยสมายล์ 20 ลำ

ปัจจุบันต่อวันไทยสมายล์ต้องจ่ายค่าช่าเครื่องบินให้การบินไทย หลักแสนบาทต่อวัน ต่อ 1 ลำ หากคณะกรรมการเจ้าหนี้เห็นชอบเครื่องบินก็จะทยอยเฟดอินเข้ามาที่การบินไทย อาทิ 4 ลำก่อน มาเตรียมการก่อน  ที่เหลือไทยสมายล์ก็ค่อยๆดำเนินการอยู่ ก็อาจมีช่วงสุญญากาศนิดหน่อย เราไม่ได้นำมาพร้อมกันทั้ง 20 ลำ

สำหรับบริษัท ไทยสมายล์ แอร์เวย์ส จำกัด ก่อตั้งเมื่อ 17 ตุลาคม 2556 ทุนจดทะเบียน 1,800 ล้านบาท โดยมีบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 100% เริ่มทำการบินวันที่ 10 เมษายน 2557 ใช้รหัสสายการบิน WE มีผลประกอบการขาดทุนมาตลอดตั้งแต่ปีแรกของก่อตั้งบริษัท

ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 มียอดหนี้คงค้างบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) รวม 10,885.92 ล้านบาท (ค่าเช่าเครื่องบิน, บริการภาคพื้นดิน, ลานจอดสนามบิน, ค่าเบี้ยประกันเครื่องบิน, บัตรผ่านขึ้นเครื่องบิน, ฝึกนักบินใช้เครื่องบินจำลอง และอาหารขึ้นเครื่องบิน)

ขณะที่ข้อมูลจากกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพานิชย์ ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2556-2564 บริษัท ไทยสมายล์ แอร์เวย์ส จำกัด ขาดทุนสะสมรวม 15,915 ล้านบาท โดยปี 2565 ที่ผ่านมายังไม่ได้จัดส่งงบการเงิน

นายชาย ยังกล่าวต่อว่า  ปีนี้การบินไทยจะเช่าเครื่องบินแอร์บัส 350 เพิ่ม 4 ลำ เดือนพฤษภาคม เข้ามาแล้ว 1 ลำ เดือนมิถุนายนอีก 1 ลำ และเดือนสิงหาคม 2 ลำ โดยวางแผนเช่าเครื่องบินแอร์บัส 350 ทั้งหมด 11 ลำ ที่เหลือจะทยอยเข้ามา

 สำหรับเครื่องบินใหม่ที่เข้ามาจะเพิ่มเที่ยวบินในเส้นทาง จีน (กวางเจา เซียงไฮ้ ปักกิ่ง), ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ และเส้นทางยุโรป ปกติช่วงไฮซีซันธุรกิจการบิน คือไตรมาส 1 และไตรมาส 4  คาดว่าทั้งปีอัตราการบรรทุกผู้โดยสารอยู่ที่ 77-80%   

อีกทั้งการบินไทย ยังมีทรัพย์สินอสังหาริมทรัพย์ที่รอการขาย คือ สำนักงานในประเทศที่ เชียงใหม่ พิษณุโลก  สำนักงานต่างประเทศ ที่อังกฤษ (ออฟฟิศและบ้านพัก) ปีนัง ฮ่องกง  คาดรายได้รวมหลัก 100 ล้านบาท  เพราะโมเดลการทรานส์ฟอร์เมชั่นในการบริหารธุรกิจการบินไทยจะใช้ระบบออนไลน์ จึงลดการถือครองทรัพย์สินที่เป็นสำนักงาน เนื่องจากมีต้นทุนในการดูแล

ขณะที่ผลประกอบการไตรมาสแรกปี 2566 ทำได้ดีกว่าแผนฟื้นฟู เมื่อรวมทั้งปีผลประกอบการปี 2566 ทำได้ดีกว่าแผนฟื้นฟูเช่นกัน และคาดว่าการบินไทยจะออกจากแผนฟื้นฟูกิจการไม่เกินปี 2567

\"การบินไทย\"ชงคณะกรรมการเจ้าหนี้ไฟเขียวควบรวม\"ไทยสมายล์\" สัปดาห์หน้า

สำหรับผลการดำเนินงานของการบินไทยในไตรมาสที่ 1 ของปี 2566 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อยมีรายได้รวมทั้งสิ้น 41,507 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าซึ่งมีรายได้รวม 11,181 ล้านบาท หรือ 271.2% 

โดยมีปัจจัยสำคัญจากการเติบโตของรายได้การขนส่งผู้โดยสารจากการกลับมาให้บริการเที่ยวบินขนส่งผู้โดยสารเพื่อรองรับปริมาณความต้องการเดินทางที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยการเพิ่มความถี่เที่ยวบินในเส้นทางที่เป็นที่นิยม

อาทิ ประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ และกลับมาเริ่มให้บริการในเส้นทางสาธารณรัฐประชาชนจีนตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา และมีอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) ในเส้นทางทวีปยุโรป ออสเตรเลีย และประเทศญี่ปุ่นอยู่ในระดับที่สูงมาก

บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีค่าใช้จ่ายรวม 28,473 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อนหน้าซึ่งมีค่าใช้จ่าย 14,348 ล้านบาท จากค่าใช้จ่ายที่ผันแปรตามปริมาณการผลิตและปริมาณการขนส่งที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับค่าใช้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นจากปีก่อน 9.7% 

โดยบริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทาง การเงินไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 13,034 ล้านบาท ดีกว่าไตรมาส 1 ปี 2565 ที่ขาดทุน 3,167 ล้านบาท โดยบริษัทฯ และบริษัทย่อยมีต้นทุนทางการเงินซึ่งเป็นการรับรู้ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS 9) จำนวน 3,549 ล้านบาท 

ผลการดำเนินงานของการบินไทย ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2566

รวมถึงมีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวที่ส่วนใหญ่มาจากการปรับโครงสร้างหนี้ การจำหน่ายสินทรัพย์ และอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นรายได้รวม 2,987 ล้านบาท

ส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 12,523 ล้านบาท ในขณะที่ปีก่อนหน้าขาดทุน 3,243 ล้านบาท เป็นกำไรส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 12,514 ล้านบาท มี EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบินรวมค่าเช่าเครื่องบินจากการใช้เครื่องบินที่เกิดขึ้นจริง (Power by the Hours) 14,054 ล้านบาท 

ในขณะที่บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด มีผลขาดทุนจากการดำเนินงานไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 172 ล้านบาท แต่มีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวจากการกลับรายการค่าใช้จ่าย 517 ล้านบาท ส่งผลให้มีกำไรสุทธิ 82 ล้านบาท 

ณ วันที่ 31 มีนาคม 2566 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีเครื่องบินที่ใช้ทำการบินทั้งสิ้น 65 ลำ มีอัตราการใช้เครื่องบินเฉลี่ย 12.3 ชั่วโมงต่อวัน มีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 121.4% ปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) เพิ่มขึ้น 469.2%

 อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 83.5% สูงกว่าปีก่อนซึ่งเฉลี่ยที่ 32.5% และมีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 3.52 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 245.1% มีสินทรัพย์รวมจำนวน 208,445 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากวันที่ 31 ธันวาคม 2565 จำนวน  10,267  ล้านบาท (5.2%) 

หนี้สินรวมจำนวน 266,948 ล้านบาท ลดลงจาก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 จำนวน 2,254 ล้านบาท (0.8%)  ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ และบริษัทย่อยติดลบจำนวน 58,503 ล้านบาท ติดลบลดลงจากวันที่ 31 ธันวาคม 2565  จำนวน 12,521 ล้านบาท