ไฟเขียวเขตฟรีโซนนิคมอุตฯอุดรธานี ลุยโรดโชว์คุนหมิง ดึงจีนลงทุน

30 เม.ย. 2566 | 16:30 น.

ส่งกนอ.อนุมัติจัดตั้งเขตฟรีโซนนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีแล้ว พร้อมเดินหน้าพัฒนาพื้นที่ 200 ไร่ รองรับในอีก 3 เดือน เสริมสิทธิพิเศษบีโอไอ โซน 3

 ผู้บริหารเตรียมยกทีมไปคุนหมิง ดึงทุนโลจิสติกส์จีนเข้าลงทุน รับเปิดใช้รถไฟจีน-ลาว

นายพิสิษฏ์ พิพัฒน์วิไลกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด ผู้ลงทุนโครงการนิคมอุตสาหกรรม อุดรธานี ภายใต้การกำกับของการนิคมอุตสาหกรรมแห่ง ประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ได้ปรับโครงการ หลังจากเดินหน้าก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานรองรับการเข้ามาลงทุนคืบหน้าไปกว่า 90% โดยขอเปลี่ยนแปลงจากเขตอุตสาหกรรมทั่วไป ปรับเป็นเขตอุตสาหกรรมประกอบการเสรี หรือเขตฟรีโซน

นายพิสิษฏ์ พิพัฒน์วิไลกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด

ไฟเขียวเขตฟรีโซนนิคมอุตฯอุดรธานี ลุยโรดโชว์คุนหมิง ดึงจีนลงทุน

ล่าสุด คณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศ ไทย (กนอ.) มีมติเห็นชอบการเปลี่ยนแปลงเขตอุตสาหกรรมทั่วไปของนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี เป็นเขตเขตประกอบการเสรี หรือเขตฟรีโซน เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2566 โดยคาดว่าจะสามารถทำการพัฒนาพื้นที่ 200 ไร่ ได้ในอีก 3 เดือนข้างหน้า เพิ่มเติมจากที่โครงการฯ ได้รับสิทธิ์ประโยชน์พิเศษการลงทุนให้กับผู้ประกอบการลงทุนในโครงการของ BOI โซน 3 ตามประเภทกิจการอยู่ก่อนแล้ว

ส่วนพื้นที่ท่าเรือบก (ICD- Inland Container Depot หรือสถานีตู้สินค้าที่มีพิธีการศุลกากรทั้งสินค้าขาเข้าและสินค้าขาออก) รอให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เริ่มลงมือก่อสร้างรางรถไฟ จากพื้นที่ของรฟท. บริเวณสถานีหนองตะไก้ เชื่อมต่อกับพื้นที่ของโครงการ ที่คาดว่าจะลงมือในเร็วๆ นี้ หลังจากที่ได้ผู้รับเหมาก่อสร้างแล้ว ทั้งนี้ ทางบริษัทฯ ได้นำเงินค่าก่อสร้างทางรถไฟ มอบให้กับรฟท.เรียบร้อยแล้ว

ไฟเขียวเขตฟรีโซนนิคมอุตฯอุดรธานี ลุยโรดโชว์คุนหมิง ดึงจีนลงทุน

ไฟเขียวเขตฟรีโซนนิคมอุตฯอุดรธานี ลุยโรดโชว์คุนหมิง ดึงจีนลงทุน

นายพิสิษฏ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้กำลังเร่งการก่อสร้างอาคารศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ และโรงงาน SMEs ซึ่งโรงงาน SMEs คาดว่าจะเสร็จเรียบร้อยสมบูรณ์แบบในอีก 3 เดือนข้างหน้าเช่นเดียวกัน ส่วนสิ่งสาธารณูปโภคอื่นๆ ที่จำเป็นในโครงการ อาทิเช่น ถนนสายเมน สถานีจ่ายไฟฟ้าย่อย และ ฯลฯ ดำเนินการก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยหมดแล้ว

นอกจากนี้ ครม.เห็นชอบการจัดทำคลัสเตอร์ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ เฟสแรก ตามที่คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) เห็นชอบ เมื่อ 21 ต.ค. 2565 แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ซึ่งระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (NeEC) ประกอบด้วยจังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย เน้นอุตสาหกรรมชีวภาพ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร รวมทั้งเห็นชอบการขยายกิจการเป้าหมาย และสิทธิประโยชน์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน จากเดิม 72 ประเภทกิจการ ขยายเป็น 89 ประเภทกิจการ

มติดังกล่าวเป็นผลดีต่อการลงทุนของประเทศ และต่อโครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีด้วย เพราะเป็นการส่งเสริมให้นักลงทุนต่างประเทศ สามารถเข้ามาลงทุนในประเทศ ไทยได้ง่ายเพิ่มขึ้น ส่วนนักลงทุนในประเทศก็สามารถใช้สิทธิพิเศษเพิ่มขึ้นได้อีก เช่นเดียวกับพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาค ตะวันออก (EEC) จะทำให้เกิดการลงทุนอุตสาหกรรมในหลาก หลายประเภทมากขึ้น

กรรมการผู้จัดการโครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี กล่าวต่อว่า ส่วนการทำตลาดกับนักลงทุนนั้น เวลานี้มีนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ให้ความสนใจเดินทางลงพื้นที่ เจรจาตกลงซื้อ-ขายพื้นที่ไปแล้ว เช่น นักลงทุนจากประเทศเดนมาร์ก จีน รวมถึงนักลงทุนไทย ให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่โครงการอยู่ 2-3 ราย กำลังอยู่ในขั้นเจรจารายละเอียด ยิ่งรัฐบาลประกาศพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือดังกล่าว จะเสริม ความเชื่อมั่นนักลงทุนยิ่งขึ้น รวมถึงบริษัทมหาชนขนาดใหญ่ของประเทศ ได้ตกลงซื้อที่ดินเปล่าในโครงการแล้ว 42 ไร่

เมื่อรถไฟจีน-ลาวเปิดให้บริการการเดินทางข้ามแดนได้แล้ว ประกอบกับมีนักลงทุนจีนจำนวนหนึ่ง สนใจเข้ามาพัฒนาโครงการอย่างชัดเจน จึงเพิ่มนํ้าหนักการทำตลาดนักลงทุนจีนเพิ่ม ที่ผ่านมาคณะผู้บริหารโครง การฯ เดินทางร่วมคณะกระทรวงพาณิชย์ โดยสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ไปเยือนนครคุนหมิง ได้พบปะเจรจาคู่ธุรกิจจีนในเบื้องต้นไว้ 8-9 ราย

คณะผู้บริหารโครงการจะยกคณะและฝ่ายการตลาด เดินทางไปนครคุนหมิงอีกครั้ง ตามที่สำนักงานส่งเสริมการค้าฯเชิญมา เพื่อพบปะนักลงทุนของคุนหมิงอีกครั้งในเดือนพ.ค. 2566 นี้ โดยมีนักลงทุนด้านระบบโลจิสติกส์หลายราย ให้ความสนใจจะเข้ามาลงทุนในโครงการฯเป็นพิเศษ ซึ่งการพูดคุยในรายละเอียดมีความก้าว หน้าไปมากเป็นที่พอใจทั้ง 2 ฝ่าย ขณะที่นักลงทุนอื่นๆ ก็แสดงความสนใจเช่นกัน นายพิสิษฏ์ กล่าวยํ้า 

 

ยงยุทธ ขาวโกมล/รายงาน

 หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,883 วันที่ 30 เมษายน - 3 พฤษภาคม พ.ศ.2566