นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีเดินหน้า ทุนไทย-เดนมาร์คลุยขึ้นโรงงาน

30 ก.ย. 2565 | 11:26 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ก.ย. 2565 | 19:59 น.
738

ทุนเเดนมาร์ค-SMEsไทยลุยแล้ว ซื้อที่นิคมอุดรฯพร้อมขึ้นโรงงานเร็วกว่าเป้าเดิม ที่คาดจะเริ่มลงมือจริงกลางปีหน้า เร่งพัฒนาฟื้นที่โลจิสติกส์ปั้นท่าเรือบกไทยเชื่อมท่าบกท่านาแล้งของลาว "พิสิษฐ์"จี้รัฐเร่งประกาศสิทธิประโยชน์ระเบียงNeEC ให้แข่งเพื่อนบ้านได้ 

นายกองเอกสุวิทย์ พิพัฒน์วิไลกุล ประธาน บริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด ได้ลงนามในสัญญาซื้อ-ขายที่ดิน ในนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี  กับ บริษัท ฮอล์ม แมชชีนเนอรี่ เอเชีย จำกัด เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2565 
 

สะท้อนความเชื่อมั่นนักลงทุน ถึงความพร้อมของระบบสาธารณูปโภค และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เพื่อรองรับการเข้ามาลงทุนจัดตั้งโรงงานในโครงการฯ ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์พิเศษ ตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI และ กนอ.รวมทั้งสิทธิประโยชน์พิเศษ ภายใต้ระเบียงเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (NeEC)

นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีเดินหน้า ทุนไทย-เดนมาร์คลุยขึ้นโรงงาน

นายพิสิษฎ์ พิพัฒน์วิไลกุล กรรมการผู้อำนวยการบริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด

นายพิสิษฎ์ พิพัฒน์วิไลกุล กรรมการผู้อำนวยการบริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด เจ้าของโครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี หรือนิคมกรีนอุดรฯ เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า บริษัท ฮอล์มฯ ซื้อที่ดินในโครงการฯขนาด 10 ไร่ เพื่อสร้างโรงงานผลิตชิ้นส่วนอลูมิเนียมเครื่องวัดคุณภาพอาหารด้วยเครื่อง CNC ความแม่นยำสูง  เพื่อส่งกลับประเทศแม่ทั้งหมด ในเดือนหน้านี้เจ้าของโรงงานจะลงมาดูพื้นที่และเริ่มก่อสร้างโรงงานภายในปีนี้แน่นอน 
    

 

"บริษัทนี้มีโรงงานตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดอุดรธานีอยู่ก่อนแล้ว มีแผนจะขยายโรงงานเพิ่มแต่ติดขัดเรื่องพื้นที่ และเห็นว่าถ้าตั้งโรงงานในโครงการฯ จะมีความพร้อมในเรื่องของระบบสาธารณูปโภค และการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมด้านต่าง ๆ ครบถ้วน จึงวางแผนเข้ามาตั้งในนิคมอุดรธานีเป็น 2 ระยะ โดยเฟสแรกเมื่อสร้างโรงงานติดตั้งระบบจนพร้อมเดินเครื่องได้แล้ว จึงย้ายโรงงานเดิมที่เหลือมาติดตั้งเพิ่มในเฟส 2 จนครบทั้งหมดต่อไป"

นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีเดินหน้า ทุนไทย-เดนมาร์คลุยขึ้นโรงงาน

นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีเดินหน้า ทุนไทย-เดนมาร์คลุยขึ้นโรงงาน

การตั้งโรงงานในโครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี มีข้อได้เปรียบหลายด้าน เจ้าของโรงงานรับว่าแรงงานชาวอุดรธานีดีที่สุด และยังอยู่ในกลุ่มที่มีค่าจ้างขั้นต่ำถูกที่สุดของประเทศ รวมทั้งยังอยู่ในแนวสายทางรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ที่สามารถเชื่อมโยงเข้าระบบรถไฟจีน-ลาว ซึ่งจีนเป็นทั้งตลาดหรือแหล่งวัตถุดิบ ตลอดจนเครื่องจักรกลต่าง ๆ ได้ด้วย 

 

นายพิสิษฎ์ กล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอี.ไทยเข้ามาซื้อที่ดินขนาด 5 ไร่ ในโครงการเป็นรายแรก เพื่อตั้งโรงงานผลิตอาหารแปรรูป"แม่พยอม" ในกลุ่มปลาร้า น้ำปลาร้า และอาหารแปรรูปอื่น ๆ ได้รับแจ้งว่าจะเริ่มสร้างโรงงานในกลางปี 2566 ขณะที่กลุ่มทุนจีนได้ติดต่อเข้ามาแล้ว 6 ราย รอความชัดเจนนโยบายเปิดประเทศของจีนอยู่ และมีผู้สนใจติดต่อขอข้อมูล ขอเข้ามาดูพื้นที่โครงการ หรือนัดหมายไว้อีก 20-30 ราย

 

"ในส่วนของพื้นที่ตั้งโรงงานหรือการผลิตต่าง ๆ ทางโครงการฯพร้อม 100 % แล้ว ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภค และบริการเพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบการต่าง ๆ ส่วนด้านโลจิสติกส์ก็กำลังเร่งพัฒนา อยู่ระหว่างการหารือรายละเอียดกับกรมศุลกากร การทำลานตู้คอนเทนเนอร์(CY) อาคารคลังสินค้า(General Warehouse) ตลอดจน ICD (INLAND CONTAINER DEPOT) หรือสถานีตู้สินค้าที่มีบริการพิธีการศุลการกร ขนาดเนื้อที่ 220 ไร่ ที่พร้อมพัฒนาเป็นท่าเรือบก เพื่อเชื่อมโยงกับโครงการท่าบกท่านาแล้งของลาว ซึ่งอยู่ระหว่างนัดหมายหารือถึงการร่วมมือทางธุรกิจอยู่เช่นกัน"

 

ทั้งนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)อนุมัติแผนสร้างทางรถไฟจากหน้าโครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี เข้าเชื่อมระบบรางของรฟท.ได้แล้ว ขณะที่ทางถนนก็ได้รับอนุมัติให้ติดตั้งไฟสัญญาณจราจรปากทางเข้าออกนิคมฯ เพื่อความปลอดภัยแล้วเช่นกัน 

 

นายพิสิษฐ์กล่าวอีกว่า มีปัจจัยที่อาจทำให้นักลงทุนชะลอการตัดสินใจ คือ จังหวัดอุดรธานีได้รับการประกาศเป็นพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (NeEC)แล้ว แต่ยังไม่ได้มีการประกาศรายละเอียดสิทธิประโยชน์ที่ชัดเจน หลายคนจึงยังรอเพื่อพิจารณาตัดสินใจอยู่ 

 

"สิทธิประโยชน์สำหรับระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(NeEC)นี้ ต้องชัดเจนและแข่งขันกับเพื่อนบ้านได้ ต้องยอมรับว่าเวลานี้ของเรายังแพ้เวียดนามและลาว รวมทั้งคำนึงถึงพื้นที่ด้วย โดยที่ภาคอีสานเป็นแหล่งผลิตอาหารและผลผลิตการเกษตรใหญ่สุดของประเทศ จึงควรเน้นพิเศษสำหรับภาคเกษตรและอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร และมีกำลังแรงงานจำนวนมาก ต้องเน้นการจ้างแรงงานคนด้วย ต่างจากอีอีซี.ที่มุ่งอุตสาหกรรมก้าวหน้าเป็นหลัก"นายพิสิษฐ์ย้ำ