นิคมกรีนอุดรฯเร่ง ‘ท่าเรือบก’ เจาะจีน

10 มิ.ย. 2565 | 09:30 น.
อัปเดตล่าสุด :10 มิ.ย. 2565 | 16:49 น.
711

นิคมกรีนอุดรฯเร่งแผนพัฒนาเฟส 1 สร้างโรงงานรับเอสเอ็มอี-สตาร์ทอัพ เดินหน้าCY-IDC พร้อมเปิดใช้งาน รองรับส่งผักผลไม้ไทยไปจีน แนะรัฐจับเข่าคุยเพื่อนบ้าน ปรับเกณฑ์ขนส่งข้ามแดน นำตู้คอนเทนเนอร์เปล่าจีนเข้ามาบรรจุสินค้าไทยผ่านแดนลาวเข้าจีน 

นายพิสิษฎ์ พิพัฒน์วิไลกุลกรรมการผู้อำนวยการบริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี เอกชนท้องถิ่นผู้ลงทุนโครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี หรือนิคมกรีนอุดรฯ ภายใต้การกำกับดูแลของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าเวลานี้เริ่มคลายมาตรการคุมโควิด-19 ลงเป็นลำดับ จึงกลับมาเร่งดำเนินการต่อ โดยเวลานี้แผนพัฒนาระยะแรก (เฟส 1) คืบหน้ากว่า 90%

 

ทั้งนี้ แผนพัฒนาเฟส 1 พื้นที่ประมาณ 1,000 ไร่ จากทั้งหมด 2,100 ไร่เศษ ได้พัฒนโครงสร้างพื้นฐานแล้วอาทิ ถนนหลักภายในโครงการ บ่อบำบัดนํ้าดีนํ้าเสีย 3 บ่อ สถานีไฟฟ้าย่อยระบบนํ้าประปา โครงการผลิตนํ้าเพื่ออุตสาหกรรมในพื้นที่ โกดัง-คลังสินค้าขนาดใหญ่ 3 หลัง พร้อมรองรับนักลงทุนเข้ามาใช้พื้นที่แล้ว

นิคมกรีนอุดรฯเร่ง ‘ท่าเรือบก’ เจาะจีน

นิคมกรีนอุดรฯเร่ง ‘ท่าเรือบก’ เจาะจีน

นายพิสิษฎ์ กล่าวต่อว่า สำหรับแผนงานจากนี้ จะลงมือก่อสร้างโรงงานตัวอย่างจำนวน 2 โรง ขนาด SMEs เพื่อรองรับนักลงทุน SMEs และ Start Up รุ่นใหม่ทั้งในและต่างประเทศ ที่ต้องการเข้าสู่ธุรกิจ ได้เห็นแบบสถานที่จริง และพร้อมขายหรือเช่าได้ทันที มีอาคารคลังสินค้าขนาดเล็ก 25 หลัง บนพื้นที่ 40 ไร่ เพราะมีผู้ประกอบการส่งสินค้าแจ้งความประสงค์ขอเช่าพื้นที่เป็นที่พักสินค้า เพื่อส่งออกไปยังสปป.ลาว และจีน

 

อีกแผนงานเร่งด่วนคือ การพัฒนาพื้นที่ ICD ระยะที่ 1 ที่ทำไป กว่าครึ่ง ก็จะเร่งก่อสร้างให้เสร็จเรียบร้อยการก่อสร้าง ที่พักวางตู้สินค้า(คอนเทนเนอร์ยาร์ด-CY) เฟสแรก 30 ไร่ จากพื้นที่ 115 ไร่ ก็กำลังเร่งปรับพื้นที่ก่อสร้าง เนื่องจากมีลูกค้าเป็นพ่อค้าพืชผักผลไม้ ติดต่อขอเช่าพื้นเป็นที่พักสินค้า เพื่อรอการส่งออกไปยังประเทศจีน ผ่านสปป.ลาว และกำลังประสานงานหน่วยงานราชการ ที่เกี่ยวข้องทุกหน่วย จัดหาเจ้าหน้าที่มาประจำหน้าที่อยู่ในที่เดียว เพื่อให้บริการแบบ One Stop Services แล้ว

นายพิสิษฎ์ พิพัฒน์วิไลกุลกรรมการผู้อำนวยการบริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี

นิคมกรีนอุดรฯเร่ง ‘ท่าเรือบก’ เจาะจีน

ส่วนการก่อสร้างรางรถไฟจากพื้นที่สถานีหนองตะไก้ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ระยะทางประมาณ 1.8 ก.ม. เชื่อมต่อกับพื้นที่ของโครงการนั้น ขณะนี้รฟท.อนุญาตให้ใช้พื้นที่ของรฟท. เพื่อดำเนินก่อ สร้างได้แล้ว หลังจากที่นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่โครงการ แต่ยังติดขัดเรื่องงบประมาณการก่อสร้างประมาณ 67 ล้านบาทเศษนั้น ที่รฟท.ยังไม่ได้จัดสรรไว้

 

ด้านเสียงตอบรับนักลงทุนนั้นนายพิสิษฎ์กล่าวว่า ปัจจุบันหลายประเทศเริ่มกลับมาเปิดประเทศ เพื่อฟื้นเศรษฐกิจ ทำให้มีลูกค้าจากประเทศที่ผ่อนคลายมาตรการแล้ว เช่น ญี่ปุ่น เริ่มกลับมาติดต่อเพื่อขอเข้ามาดูสถานที่จริง แต่ต้องยอมรับว่าตลาดใหญ่ของโครงการคือนักลงทุนจีน ก็ต้องการมาดูสถานที่จริงในโครงการ แต่ติดนโยบายโควิดเป็น ศูนย์ของทางการจีน ยังไม่สามาถเดินทางออกนอกประเทศได้ อย่างไรก็ตามภายในปีนี้ แผนงานโครงการต่างๆ ที่ต้องได้รับการพัฒนา สามารถดำเนินการได้ทั้งหมดอย่างแน่นอน

 

ส่วนการขนส่งสินค้าผ่านด่านสากลหนองคาย-เวียงจันทน์ ทางสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 (หนองคาย-เวียงจันทน์) นั้น นายพิสิษฎ์กล่าวว่า เวลานี้มีตู้คอนเทนเนอร์เปล่าของจีนที่ใช้ขนสินค้ามาจำนวนมากกองในพื้นที่ ICD และ CY ในลาว หน่วยงานของไทยที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก น่าที่จะพูดคุยกับทางการลาวและจีน เพื่อลดประเด็นปัญหากฎระเบียบการขนส่งผ่านแผน แล้วนำตู้เปล่าเข้ามาบรรจุสินค้าในไทย เมื่อผ่านพิธีการศุลกากรจากต้นทางเพื่อไปจีน เมื่อผ่านสปป.ลาว ก็ไม่ต้องมีเรื่องพิธีการศุลกากรของลาวอีก เพิ่มความสะดวก รวดเร็ว เปิดประโยชน์ต่อระบบขนส่งสินค้าข้ามแดนได้อย่างมาก โดยเฉพาะพืชผักผลไม้ของไทยเพื่อไปตลาดจีน

นิคมกรีนอุดรฯเร่ง ‘ท่าเรือบก’ เจาะจีน

“ท่านนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวไว้เมื่อครั้งมาปฎิบัติราชการในจังหวัดอุดรธานี ว่าให้ความสำคัญกับพื้นที่ อยากให้อุดรธานีเป็นฮับ โลจิสติกส์ สอดคล้องกับโครงการ ICD หรือท่าเรือบก ของนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ที่กำลังดำเนินการเวลานี้ เพื่อให้เป็นจุดขนถ่ายสินค้าเหมือนท่าเรือแหลมฉบัง

 

ตอนนี้ประเทศจีนยังไม่เปิดประเทศ แต่มีนักลงทุนจีนจำนวนมากได้ติดต่ออยากมาดูพื้นที่ คาดว่าในอนาคตอันใกล้นักลงทุนจีนจะเดินทางออกนอกประเทศได้ และทางโครงการก็พร้อมให้การต้อนรับ สู่การลงทุนอย่างมั่นใจในนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี” นายพิสิษฎ์ฯกล่าว

นิคมกรีนอุดรฯเร่ง ‘ท่าเรือบก’ เจาะจีน

นิคมกรีนอุดรธานี ตั้งเป้ารอง รับอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าการเกษตรอุตสาหกรรมยางพาราขั้นปลาย อุตสาหกรรมการผลิตวัสดุก่อสร้าง อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเหล็กขั้นปลาย, อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานพาหนะ และประกอบรถยนต์อุตสาหกรรมสนับสนุนการผลิต SMEs และศูนย์โลจิสติกส์ 

 

ยงยุทธ ขาวโกมล/รายงาน

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,791 วันที่ 12-15 มิถุนายน พ.ศ.2565