AWC ปิดตำนานห้างไอที"พันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ" สู่ศูนย์กลางค้าส่งอาเซียน

19 เม.ย. 2566 | 20:49 น.
อัปเดตล่าสุด :19 เม.ย. 2566 | 21:44 น.
2.0 k

ปิดตำนานห้างไอที "พันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ" ทายาทเจ้าสัวเจริญ พลิกโฉมใหม่สู่ AEC FOOD WHOLESALE PRATUNAM ดันไทยศูนย์กลางค้าส่งของอาเซียน ดีเดย์มิถุนายนนี้ มูลค่าการลงทุนกว่า 6,500 ล้านบาท

ห้างพันธุ์ทิพย์ พลาซ่า ประตูน้ำ เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2527 ต่อมาในปี 2530 ที่"เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี" ได้นำ ทีซีซี กรุ๊ป เข้ามาซื้อกิจการ พร้อมปรับโฉมครั้งใหม่สู่ห้างไอที ที่มีสินค้าแบบครบวงจรที่สุด 

จากนั้นบริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC ในเครือ ทีทีซี กรุ๊ป ได้มีรีแบรนด์ชื่อจาก ห้างพันธุ์ พลาซ่า มาเป็น “AEC Trade Center Pantip Pratunam” เออีซี เทรด เซ็นเตอร์ พันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ ในช่วงปี 2564 

 

ล่าสุดได้ปรับพื้นที่ใหม่ สู่ AEC FOOD WHOLESALE PRATUNAM ที่จะผลักดันให้ที่นี่เป็นศูนย์การค้าส่งของอาเซียน ที่จะเปิดบริการได้ในเดือนมิถุนายนนี้ จึงเป็นการปิดตำนานของห้างไอที พันธุ์ทิพย์ หลังจากเปิดให้บริการมาร่วม 36 ปี 

นางวัลลภไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC กล่าวว่า บริษัทได้เปิดโครงการค้าปลีกแห่งใหม่ "เออีซี ฟู้ด โฮเซล ประตูน้ำ" (AEC FOOD WHOLESALE PRATUNAM) ที่มีขนาดใหญ่สุด และอยู่ใจกลางประตูน้ำ

วัลลภา ไตรโสรัส

โดยได้วางรูปแบบเป็นศูนย์กลางค้าส่งอาหารของภูมิภาค เชื่อมเครือข่ายค้าส่ง (WHOLESALE ECO-SYSTEM) และมีการพัฒนาแพลตฟอร์มค้าส่งที่เชื่อมโยงออนไลน์-ออฟไลน์ (ONLINE-OFFLINE INTEGRATION) อย่างครบวงจร

ทั้งนี้ด้วยขนาดพื้นที่กว่า 10 ไร่ มีพื้นที่อาคารรวม (Gross Floor Area) กว่า 6.70 หมื่นตร.ม. และเป็นพื้นที่ค้าปลีก 3 หมื่น ตร.ม.โดยศูนย์ค้าส่งนี้จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ซื้อในภูมิภาคประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี กว่า 10 ประเทศสมาชิก

ทั้งนี้ต่อไปเราจะไม่เน้นไอทีหรือใช้ชื่อพันธุ์ทิพย์ ส่วนไอทีที่ยังอยู่ในพื้นที่จะเป็นพื้นที่มุมหนึ่ง หรือค่อยๆเฟดออกไป แต่เรากำลังขับเคลื่อนให้ที่นี่เป็นศูนย์กลางค้าส่งในภูมิภาคนี้ เน้นเปิดมิติใหม่ให้กับอุตสาหกรรมการค้าส่งอาหาร ภายใต้แนวคิด “INTEGRATED WHOLESALE PLATFORM FOR NON-STOP OPPORTUNITY”

ด้วยแพลตฟอร์มการค้าส่งครบวงจร เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจแบบไร้ขีดจำกัด พร้อมโซลูชั่นที่ครบครันผ่าน Eco-System ที่รวมพลังพันธมิตรจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งเป็นการนำผู้ค้าส่งอาหารทั่วโลกกับผู้ซื้อทั่ว AEC (ASEAN Economic Community) มาไว้ในที่เดียว 

AEC FOOD WHOLESALE PRATUNAM

โดยจะช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับผู้ซื้อและผู้ขายให้สามารถทำธุรกรรมระหว่างกันได้สะดวกยิ่งขึ้นตลอดกระบวนการตั้งแต่ การสรรหาสินค้า ไปจนถึงการจัดส่งและชำระค่าสินค้า

นางวัลลภา กล่าวต่อว่า แนวโน้มตลาดอาหารภูมิภาคอาเซียนมีการขยายตัวต่อเนื่อง จึงเป็นโอกาสของประเทศไทยที่จะเป็นศูนย์กลางค้าส่งในภูมิภาคนี้ และในประเทศไทยก็ยังไม่มีการจัดทำศูนย์กลางในรูปแบบนี้มาก่อน 

ทั้งนี้ตลาดอาหารในอาเซียนในปี 2566 จะมีมูลค่าประมาณ 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 25 ล้านล้านบาท คาดว่าจะขยายตัว 6.9% และมีการประเมินว่าภายใน 5 ปีนับจากนี้ จะขยายตัว 30% หรือมีมูลค่าประมาณ 9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนตลาดในไทย มีสัดส่วนประมาณ 10% ของภูมิภาคอาเซียน โดยมีมูลค่าประมาณ 2 ล้านล้านบาท มีการขยายตัวที่ดีต่อเนื่อง

ศูนย์แห่งนี้จะสนับสนุนไทยให้เป็นประตูเชื่อมของอุตสาหกรรมการค้าส่งในตลาด เออีซี ถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงด้วยจำนวนประชากรรวมกว่า 700 ล้านคน โดยไทยยังมีศักยภาพในการเชื่อมต่อการค้าส่งไปยังประเทศต่างๆ ได้อย่างสะดวกผ่านโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ที่แข็งแกร่งซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางค้าส่งอาหารของภูมิภาคได้ในอนาคต

AWC ปิดตำนานห้างไอที\"พันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ\" สู่ศูนย์กลางค้าส่งอาเซียน

นางวัลลภา กล่าวต่อว่า การที่เราเลือกปรับโฉมพันทิพย์ ประตูน้ำ เดิม สู่ AEC FOOD WHOLESALE ประตูน้ำ จุดหลักคือตั้งอยู่ในทำเลเชิงยุทธศาสตร์ ใจกลางกรุงเทพฯ ด้วยพื้นที่กว่า 10 ไร่ โดยมีพื้นที่อาคารรวม (Gross Floor Area) กว่า 67,000 ตารางเมตร โดยศูนย์ค้าส่งนี้จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ซื้อทั่ว AEC ให้สามารถเข้าถึงสินค้าจากผู้ประกอบการกลุ่มอาหารชั้นนำทั่วโลกกว่า 600 ราย ได้โดยตรง 

ด้วยราคาต้นทางและผลิตภัณฑ์หลากหลายประเภทที่มีคุณภาพและความน่าเชื่อถือตรงกับความต้องการได้อย่างสะดวกรวดเร็ว เช่น อาหารแช่แข็ง อาหารแช่เย็นและผลิตภัณฑ์จากนม เครื่องปรุงและวัตถุดิบ ข้าว เครื่องดื่ม กาแฟและชา ขนมขบเคี้ยวและขนมหวาน และของใช้ในครัวเรือน 

นอกจากนี้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายสามารถพบปะเจรจาธุรกิจกันผ่านออฟไลน์แพลตฟอร์มได้ตลอด 365 วัน และออนไลน์แพลตฟอร์มได้ตลอด 24 ชั่วโมง เชื่อมต่อผู้ซื้อผู้ขายข้ามทวีป

การปรับโฉม AEC FOOD WHOLESALE ประตูน้ำ มีมูลค่าการลงทุนรวม 6.5 พันล้านบาท ตั้งแต่ในช่วงปี 62 เป็นต้นมา โดยโครงการดังกล่าวภายใต้แนวคิด “INTEGRATED WHOLESALE PLATFORM FOR NON-STOP OPPORTUNITY” AWC ตั้งเป้าให้ “AEC FOOD WHOLESALE ประตูน้ำ” ก้าวสู่การเป็นจุดหมายปลายทางด้านการค้าส่งอาหารของภูมิภาคที่ครบวงจร 

พร้อมร่วมสนับสนุนประเทศไทยสู่ประตูเชื่อมการค้าส่งทั่วทุกมุมโลก และเจาะกลุ่มลูกค้า B2B ได้แก่ ร้านอาหาร โรงแรม รวมถึงลูกค้าต่างชาติที่ต้องการสรรหาวัถตุดิบอาหาร เป็นต้น รวมถึงการจัดสรรพี้นที่ร้านอาหารเข้ามาในโครงการ เพื่อเป็นทางเลือกในการชิมรสชาติอาหารที่พร้อมปรุงเสร็จ แต่สินค้าที่เป็นอาหารที่จะนำมาขายในโครงการนี้จะไม่มีสินค้าสดมาจำหน่าย

AWC ปิดตำนานห้างไอที\"พันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ\" สู่ศูนย์กลางค้าส่งอาเซียน

สำหรับโครงการนี้จะร่วมสนับสนุนประเทศไทยสู่ประตูเชื่อมการค้าส่งทั่วทุกมุมโลก ผ่าน 3 ด้านที่สำคัญได้แก่ 

  • INTEGRATED BUSINESS PLATFORM

แพลตฟอร์มการค้าส่งที่เชื่อมโยงทั้งแพลตฟอร์มออนไลน์และออฟไลน์ (O2O Integrated) ร่วมสนับสนุนอุตสาหกรรมค้าส่งให้ตอบทุกโจทย์ผู้ขายและผู้ซื้อ รวมผู้ผลิตจากทั่วโลกมาอยู่ในแพลตฟอร์มเดียวกัน 

การสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการค้าส่งที่ครอบคลุม อาทิ คลังสินค้า พื้นที่ขนถ่ายสินค้า แพลตฟอร์ม Phenix Box สำหรับการทำธุรกรรมด้านสินค้าออนไลน์ที่ออกแบบมาให้ตอบโจทย์ธุรกิจค้าส่ง

  • FULL ASSORTMENT

การมีผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ทุกความต้องการของผู้ประกอบการทั้งในด้านคุณภาพ ราคา และความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ ส่งตรงจากผู้ผลิตจากทั้งในประเทศและแบรนด์ระดับโลก มีไลน์สินค้าให้เลือกถึง 8 กลุ่มผลิตภัณฑ์หลักจากพันธมิตรชั้นนำ การจัดทำศูนย์ส่งเสริมผู้ประกอบการ (Solution Service Center: SSC) ที่ช่วยให้คำปรึกษาด้านการส่งออกและนำเข้าสินค้า พร้อมสร้าง Eco-System ของธุรกิจค้าส่งอย่างต่อเนื่อง

  • NON-STOP OPPORTUNITY

เชื่อมเครือข่ายค้าส่ง (WHOLESALE ECO-SYSTEM) ตอบโจทย์กับโอกาสทางธุรกิจที่หลากหลาย ผ่านการร่วมรวมพลังจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ หอการค้าจากประเทศต่างๆ และภาคเอกชน รวมถึง อี้อู (Yiwu) ผู้พัฒนาและบริหารตลาดค้าส่งสินค้าเบ็ดเตล็ดที่ใหญ่ที่สุดในโลกจากเมืองอี้อูสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งได้มีการลงนามความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับทาง AWC เมื่อเดือนมี.ค. ที่ผ่านมา

AWC ปิดตำนานห้างไอที\"พันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ\" สู่ศูนย์กลางค้าส่งอาเซียน

การจัดทำโครงการนี้ได้มีความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ อาทิ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม อี้อู (Yiwu) และหอการค้าจากประเทศต่างๆ อาทิ สภาหอการค้าอังกฤษแห่งประเทศไทย หอการค้าไทย-จีน หอการค้าออสเตรเลีย-ไทย หอการค้าไทย-แคนาดา หอการค้าไทย-นิวซีแลนด์ หอการค้าสวิส-ไทย สมาคมหอการค้าไทย-สเปน

นอกจากนี้ยังมีภาคเอกชนผู้นำธุรกิจอาหารชั้นนำของไทย อาทิ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ซีพีเอฟ โกล บอล ฟู้ด โซลูชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัท เบทาโกร จํากัด (มหาชน) บริษัท พี อาร์ จี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท ทิปโก้ฟูดส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และบริษัท เคซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)