AWC ของเจ้าสัวเจริญ ยืนหนึ่งมูลค่าแบรนด์สูงสุด ในธุรกิจอสังหาฯ

27 ม.ค. 2566 | 20:22 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ม.ค. 2566 | 21:29 น.

AWC ของเจ้าสัวเจริญ คว้ารางวัล “Thailand’s Top Corporate Brands 2022”ในฐานะองค์กรที่มีมูลค่าแบรนด์องค์กร สูงสุดของไทย ในหมวดธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของไทย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งธุรกิจของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ที่มุ่งเน้นตอบสนองไลฟ์สไตล์แบบครบวงจร รับรางวัลอันทรงเกียรติ “Thailand’s Top Corporate Brands 2022” ในฐานะองค์กรที่มีมูลค่าแบรนด์องค์กรสูงสุดของประเทศไทย ประจำปี 2565 หมวดธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

Thailand’s Top Corporate Brands 2022

 

ด้วยมูลค่าแบรนด์องค์กร 74,556 ล้านบาท จากงาน ASEAN and Thailand’s Top Corporate Brands 2022 ที่จัดขึ้นโดยหลักสูตรปริญญาโทสาขาการจัดการแบรนด์และการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันก่อน

นางวัลลภา ไตรโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC กล่าวว่า “AWC ภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติดังกล่าวในฐานะองค์กรที่มีมูลค่าแบรนด์องค์กรสูงสุดในหมวดธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของไทย

จากการจัดอันดับจากทางคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งถือเป็นสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของประเทศที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

อันเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของ AWC ที่ให้ความสำคัญต่อการสร้างองค์กรและพัฒนาแแบรนด์ด้วยการนำเสนอความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ (Uniqueness) เพื่อมุ่งสู่การเป็นกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ก้าวหน้าและเติบโตต่อเนื่องอย่างยั่งยืน

พร้อมสร้างคุณค่าให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อร่วมสร้างความแข็งแกร่งของประเทศให้เป็นจุดหมายปลายทางยั่งยืนระดับโลก

หัวใจสำคัญในการสร้างแบรนด์องค์กรที่แข็งแกร่งของ AWC คือการนำเอาแบรนด์ดีเอ็นเอที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถ่ายทอดออกมาผ่านทางผลิตภัณฑ์และบริการที่แตกต่าง เพื่อสร้างการรับรู้และสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ของไทย ประกอบไปด้วย 

1.เอกลักษณ์ในการนำเทรนด์ (unique trend) ด้วยไลฟ์สไตล์ที่แตกต่าง 

2.เอกลักษณ์ในการมอบผลิตภัณฑ์และบริการที่โดดเด่น (unique offering) ด้วยผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบสนองความต้องการได้อย่างตรงจุด

3.เอกลักษณ์ด้านการออกแบบที่โดดเด่น (unique design) จากคุณค่าและแรงบันดาลใจผ่านเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต และวัฒนธรรม

4.เอกลักษณ์การสร้างประสบการณ์ที่ประทับในความทรงจำ (unique memorable experience) ด้วยการสร้างความพึงพอใจสูงสุด เติมเต็มให้ลูกค้ามีช่วงเวลาแห่งความสุขอย่างสมบูรณ์ 

5. เอกลักษณ์ในการส่งมอบคุณค่าอย่างยั่งยืนให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย (unique sustainable value) ผ่านการตระหนักและให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของชุมชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายในทุกการดำเนินงาน ซึ่งทำให้โครงการต่างๆ ของ AWC สร้างความพิเศษเหนือระดับในตลาด รวมถึงสามารถส่งมอบผลิตภัณฑ์และการบริการที่เกินกว่าความคาดหมายให้แก่กลุ่มลูกค้า

ทั้งนี้รางวัล “ASEAN and Thailand’s Top Corporate Brands 2022” ได้รับการจัดขึ้นโดยหลักสูตรปริญญาโทสาขาการจัดการแบรนด์และการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อมอบให้แก่องค์กรที่มีมูลค่าแบรนด์องค์กรสูงสุดของประเทศไทยและในอาเซียน

โดยมีการจัดขึ้นติดต่อกันมาเป็นปีที่ 13 ด้วยเครื่องมือการวัดมูลค่าแบรนด์องค์กร “CBS Valuation” ที่ใช้หลักเกณฑ์การวัดมูลค่าแบรนด์จากงบการเงินของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ในการคำนวณค่าเฉลี่ยติดต่อกันเป็นระยะเวลา 3 ปี พร้อมบูรณาการแนวคิดด้านการตลาด การเงิน และการบัญชี เพื่อให้สามารถคำนวณมูลค่าแบรนด์ขององค์กรออกมาได้เป็นตัวเลขทางการเงินได้อย่างแม่นยำโดยไม่มีความลำเอียง