ทายาทเจ้าสัวเจริญ ดัน AWC ทุ่ม 8,856 ล้าน ช้อนซื้อ 2 โรงแรมเข้าพอร์ต

09 พ.ย. 2565 | 19:30 น.
อัปเดตล่าสุด :10 พ.ย. 2565 | 04:28 น.
5.4 k

ทายาทเจ้าสัวเจริญ ดัน AWC ทุ่ม 8,856 ล้านบาท ซื้อ 2 โรงแรมเข้าพอร์ต ทั้งจ่อเพิ่มทุน 10,800 ล้านบาท ในบริษัทร่วมทุน AWC Hospitality เข้าทุนในธุรกิจโรงแรมที่มีศักยภาพในแหล่งท่องเที่ยว พร้อมเผยผลประกอบการ 9 เดือนแรกกำไรพุ่งรับการเติบโตแข็งแกร่งของนักท่องเที่ยวต่างชาติ

วันนี้ (วันที่ 9 พฤศจิกายน 2565)นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC เผยว่าล่าสุด AWC จะเข้าลงทุนและพัฒนา 2 โครงการในกรุงเทพฯ และภูเก็ต รวมมูลค่า 8,856 ล้านบาท เพิ่มพอร์ตสินทรัพย์คุณภาพของกลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการ

 

วัลลภา ไตรโสรัส

 

ได้แก่ การเข้าลงทุนและพัฒนาใน โรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว แบงค็อก วินด์เซอร์ และโครงการ เดอะ เวสทิน สิเหร่ เบย์ รีสอร์ท แอนด์ สปา ภูเก็ต ช่วยเสริมศักยภาพให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย

 

เดอะ เวสทิน สิเหร่ เบย์ รีสอร์ท แอนด์ สปา ภูเก็ต โรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว แบงค็อก วินด์เซอร์

 

นอกจากนี้ AWC ยังคงมุ่งมั่นยกระดับอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ของไทย พร้อมเดินหน้าพัฒนาโครงการคุณภาพอย่างต่อเนื่อง โดยไตรมาส 3 ที่ผ่านมา AWC ได้ลงนามความร่วมมือกับพันธมิตรระดับโลกมากมาย

 

อาทิ การลงนามสัญญาร่วมทุน และจดทะเบียนจัดตั้ง บริษัท เอดับบลิวซี ฮอสปิทอลลิตี้ เดเวลอปเมนท์ จำกัด (AWC Hospitality Development Co., Ltd.) เพื่อเข้าร่วมลงทุนในธุรกิจโรงแรมที่มีศักยภาพในแหล่งท่องเที่ยวชั้นนำของประเทศไทย เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในประเทศ โดยบริษัทมีแผนเพิ่มทุนรวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 10,800 ล้านบาท 


รวมถึงการร่วมมือกับ Nobu Hospitality แบรนด์ไลฟ์สไตล์สุดหรูระดับโลก แมริออท อินเตอร์เนชั่นแนล และธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) และ ดิจิทัล เวนเจอร์ส และความร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และพันธมิตร ซึ่งเป็นความร่วมมือสำคัญที่จะขับเคลื่อนการท่องเที่ยวยั่งยืน ยกระดับประเทศไทยก้าวสู่การเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวยั่งยืนระดับโลก” นางวัลลภา กล่าวเสริม

 

 

พร้อมเผยผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2565 มีกำไรสุทธิตามงบการเงิน 1,026 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 49.4 และกำไรสุทธิจากผลประกอบการโดยไม่รวมมูลค่ายุติธรรม 36 ล้านบาท เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงรายได้รวมตามงบการเงิน 3,727 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 46.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกำไรจากการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจโดยไม่รวมมูลค่ายุติธรรมเพิ่มขึ้นเป็น 994 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ที่ 47 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเติบโตอย่างก้าวกระโดดกว่าร้อยละ 2,029 

 

โดยเป็นผลมาจากพอร์ตทรัพย์สินคุณภาพและกลยุทธ์การเตรียมพร้อมขององค์กรสอดรับกับมาตรการการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ และการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ รวมถึงทรัพย์สินคุณภาพที่มีการเพิ่มมูลค่าอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้บริษัทสามารถสร้างผลกำไรเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งและรวดเร็ว

 

ผลการดำเนินงานใน 9 เดือนแรกของปี AWC มีการเติบโตอย่างแข็งแกร่งต่อเนื่องในทุกกลุ่มธุรกิจ โดยมีกำไรสุทธิทั้งสิ้น 2,448 ล้านบาท เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ซึ่งเป็นผลมาจากกลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการที่เติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่ง ในขณะที่กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ 

 

ประกอบไปด้วยธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการค้าเเละธุรกิจอาคารสำนักงาน (Retail & Commercial) สามารถเติบโตได้ดีต่อเนื่องเช่นเดียวกัน ซึ่งสะท้อนถึงความสามารถของ AWC ในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีศักยภาพ และการดำเนินกลยุทธ์การปรับโครงสร้างการบริหารต้นทุนและควบคุมค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

 

ส่งผลให้ไตรมาส 3/2565 บริษัทสามารถเพิ่มอัตรากำไรจากการดำเนินงานกลุ่มธุรกิจต่อรายได้โดยไม่รวมมูลค่ายุติธรรมเป็นร้อยละ 39 เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนถึงร้อยละ 34 และสามารถกลับมาในอัตราเท่ากับก่อนสถานการณ์ COVID-19 ถึงแม้จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวกลับมาเพียงครึ่งเดียวเฉลี่ยต่อวันเมื่อเทียบกับปี 2562” นางวัลลภา กล่าว

 

กลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการ

 

บริษัทกลับมาเติบโตอย่างแข็งแกร่งในทุกเซ็กเมนต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงแรมในกลุ่มประชุมสัมมนา (MICE) โรงแรมในกรุงเทพและรีสอร์ทระดับลักซ์ชูรี ที่สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่มีศักยภาพ (High-to-Luxury) ที่เข้ามาท่องเที่ยวประเทศไทยเป็นกลุ่มแรกผ่านเครือข่ายพันธมิตรโรงแรมระดับโลก 

 

ในไตรมาส 3/2565 ภาพรวมอัตราการเข้าพัก (Occupancy Rate) ของโรงแรมในเครือ AWC เพิ่มขึ้นร้อยละ 53 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีเพียงร้อยละ 14.2 และราคาห้องพักเฉลี่ยต่อวัน (Average Daily Rate หรือ ADR) เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 4,920 บาทต่อคืน ซึ่งสูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่อยู่ที่ 4,052 บาทต่อคืน

 

โดยเป็นผลมาจากจำนวนเที่ยวบินระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นจำนวน 49,675* เที่ยวบินในไตรมาส 3/2565 สูงขึ้นร้อยละ 41 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยคาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีศักยภาพจากนักท่องเที่ยวทั้งหมดที่เข้ามาในประเทศไทยจะเป็นสัดส่วนที่สูงถึงร้อยละ 60

 

สำหรับการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจโรงแรมและบริการในไตรมาส 3/2565 มีรายได้ 1,789 ล้านบาท เติบโตมากกว่าร้อยละ 100 และมีกำไรจากการดำเนินงาน (อิบิทดา) 493 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 100 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) โดย Revenue Generation Index ที่เปรียบเทียบกับโรงแรมในกลุ่มเดียวกันที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง 

 

อาทิ โรงแรม แบงค็อก แมริออท เดอะ สุรวงศ์ มีค่า RGI สูงกว่าค่าเฉลี่ยเท่ากับ 241.7 สำหรับโรงแรมในกลุ่มประชุมสัมมนา (MICE) ส่วนกลุ่มรีสอร์ทระดับ ลักซ์ซูรี ที่ได้รับความนิยมสูง อาทิ โรงแรม บันยันทรี กระบี่ มีค่า RGI สูงที่สุดในกลุ่มเท่ากับ 261.4 เช่นกัน ซึ่งผลการดำเนินงานที่เติบโตนี้ เป็นผลมาจากการที่บริษัทเดินหน้าพัฒนาและปรับปรุงโครงการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันและตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ายุคใหม่ได้อย่างรวดเร็ว

 

ทำให้สามารถสร้างกระแสเงินสดได้อย่างแข็งแกร่ง โดยจำนวนห้องพักของธุรกิจโรงแรมในไตรมาส 3/2565 อยู่ที่ 5,199 ห้อง เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่มีจำนวนห้องพัก 3,432 ห้อง

 

กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ (Retail & Commercial)

 

กลุ่มธุรกิจอาคารสำนักงานยังคงเป็นธุรกิจที่สร้างกระแสเงินสดให้แก่บริษัทอย่างต่อเนื่องมีอัตราการเติบโตของรายได้ไม่รวมมูลค่ายุติธรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.8  เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีกลุ่มผู้เช่าที่เป็นลูกค้าองค์กรธุรกิจต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นกลุ่มผู้เช่าคุณภาพอยู่มากกว่าร้อยละ 60 ด้วยสินทรัพย์อาคารสำนักงานคุณภาพเกรด A ที่ตั้งอยู่ในทำเลศักยภาพย่านธุรกิจ และพัฒนาระบบเทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัยของผู้เช่าในยุคดิจิทัล

 

กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการค้า สามารถสร้างกระแสเงินสดได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งมาจากประชาชนเข้ามาจับจ่ายและใช้บริการศูนย์การค้าเพิ่มขึ้น รวมถึงการบริหารต้นทุนและควบคุมค่าใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้รายได้ของกลุ่มธุรกิจเพิ่มขึ้นจะส่งผ่านเป็นอิบิทดา (Flow Through)  มีสัดส่วนมากกว่าเป้าที่ตั้งไว้ โดยเฉพาะศูนย์การค้าเพื่อการท่องเที่ยวอย่างเอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ ที่มี Flow Through ในไตรมาส 3/2565 เท่ากับร้อยละ 106 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

 

AWC ยึดมั่นในพันธกิจ “สร้างสรรค์อนาคตที่ดีกว่า” ด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายใต้กรอบการดำเนินงานการพัฒนาอย่างยั่งยืน 3 เสาหลัก 6 มิติ หรือ 3BETTERs ได้แก่ Better Planet, Better People, Better Prosperity พร้อมได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของดัชนีชี้วัดด้านความยั่งยืน (Sustainability Index) ทั้งในประเทศและต่างประเทศ 

 

อาทิการได้รับการคัดเลือกเข้าสู่รายชื่อหุ้นยั่งยืน Thailand Sustainability Investment (THSI) ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย การได้รับการประเมินจาก MSCI ESG Rating ในระดับ "AA" และได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิกในดัชนีความยั่งยืนของ S&P (จากรายงาน The Sustainability Yearbook 2022) ของกลุ่มอุตสาหกรรมโรงแรม รีสอร์ท และเรือสำราญ 

 

รวมถึงการได้รับการจัดอันดับรายงานการกำกับดูแลกิจการ ในระดับ “ดีเลิศ” (Excellent CG Scoring) และได้รับการรับรองให้เป็นแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (CAC)