นโยบายเศรษฐกิจพรรคการเมือง ใครใช้เงินมากสุด??

08 เม.ย. 2566 | 12:03 น.
อัปเดตล่าสุด :08 เม.ย. 2566 | 15:05 น.

รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ประเมินเม็ดเงินนโยบายเศรษฐกิจพรรคการเมืองว่าจะมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมใดบ้าง โดยได้เขียนบทความพบข้อมูลที่น่าสนใจยิ่ง

นโยบายเศรษฐกิจพรรคการเมือง ใครใช้เงินมากสุด??

บทความโดย : นายหัวอัทธ์

กองวิจัยเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับผม (ในฐานะที่ปรึกษาโครงการวิจัยฯ) ประเมินเม็ดเงินนโยบายเศรษฐกิจพรรคการเมืองที่กำลังหาเสียงกันอยู่ในขณะนี้ ว่าจะมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมใด

ในการประเมินครั้งนี้ วิเคราะห์เฉพาะพรรคการเมือง 6 พรรคใหญ่ และนับถึงวันที่ 15 มี.ค. 2566 เท่านั้น โดยแยกเป็นที่มาของเม็ดเงิน 2 ส่วนคือ จากงบประมาณประเทศ กับไม่ใช่งบประมาณ คือนโยบาย “ขึ้นค่าจ้างแรงงาน” ปัจจุบันจำนวนแรงงานมีมากกว่า 6 ล้านคน  ซึ่งเป็นแรงงานที่มีวุฒิการศึกษาต่ำกว่ามัธยมตอนปลาย (ธนาคารแห่งประเทศไทย, 2566) และแรงงานจากเด็กจบใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานราวอีก 4-5 แสนคนในแต่ละปี (พิมพ์ชนก โฮว และคณะ, 2565) ค่าแรงต่อวันอยู่ระหว่าง 400 - 600 บาท และการขึ้นเงินเดือนวุฒิปริญญาตรีระหว่าง 20,000 – 25,000 บาท/เดือน

 

“เพิ่มอำนาจซื้อประชาชน” มี 2 รูปแบบ คือ ให้เงินอุดหนุนโดยตรงแก่กลุ่มที่ด้อยโอกาสทางสังคม ซึ่งจำนวนเงินจะอยู่ในช่วง 600 – 5,000 บาท/เดือน และการให้เงินอุดหนุนทางอ้อมแก่กลุ่มประชาชนทั่วไปในการบริโภค และ ท่องเที่ยว โดยจะมีส่วนลดค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 40% -50% ต่อครั้งในการใช้จ่าย

 “อุดหนุนเกษตรกร" 1.ด้านราคาและรายได้  เน้นไปที่การรับประกันราคาสินค้าทางการเกษตร 2.เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน 3.ช่วยลดต้นทุนปัจจัยทางการผลิต เพื่อให้เกษตรกรมีกำไรมากขึ้น

 “เพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรม และ SMEs” 1.สนับสนุนด้านเงินทุนและลดภาระหนี้สิน 2.  นโยบายเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยการพัฒนาทักษะและยกความสามารถของทั้งแรงงานและผู้ประกอบการแก่ SMEs เพื่อให้มีความสามารถในการผลิตดีขึ้น และมีความสามารถในการแข่งขันกับตลาดได้

นโยบายเศรษฐกิจพรรคการเมือง ใครใช้เงินมากสุด??

“กระตุ้นเศรษฐกิจ” 1.จัดสรรงงบประมาณเข้าสู่ชุมชน ในระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน เพื่อพัฒนาชุมชนในด้านโครงสร้างพื้นฐาน เศรษฐกิจ และสังคม ทำให้เกิดรายได้ และการจ้างงานที่มากขึ้น 2.พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน  เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและเม็ดเงินจากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการในชุมชนมีรายได้มากขึ้น สามารถเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัว  3.ลดภาระค่าใช้จ่ายที่สูง และพักหนี้แก่ประชาชน  

“พลังงาน” 1.ลดราคาพลังงาน คือ การลดอัตราหน่วยค่าไฟฟ้า และการตรึงค่าน้ำมัน เพื่อลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายภาคเอกชนและครัวเรือน และ 2.สนับสนุนพลังงานทางเลือก จากการประเมินเบื้องต้น พบว่าพรรคการเมืองทั้ง 6 พรรคมีนโยบายเศรษฐกิจที่ต้องใช้เงินระหว่าง 3 แสน ถึง 2.4 ล้านล้านบาท (ยังไม่รวมเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาทของพรรคเพื่อไทย) โดยพรรคเพื่อไทยมีนโยบายเศรษฐกิจที่ต้องใช้เงินมากสุด ตามด้วย พรรคก้าวไกล และพลังประชารัฐ ตามลำดับ

สำหรับนโยบายการขึ้นค่าจ้างระหว่าง 400-600 บาท/วันจะทำให้ GDP ไทยลดลง “-1.6% ถึง - 6%” และพบว่าหากใช้เงินข้างต้นของทุกพรรคการเมืองจะทำให้ GDP เพิ่มขึ้นระหว่าง “0.4% - 2.0%” กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์คือ อาหารและเครื่องดื่ม เชื้อเพลิง เสื้อผ้า รถยนต์ อุปกรณ์สื่อสาร และเครื่องใช้สำนักงาน เป็นต้น

นโยบายเศรษฐกิจพรรคการเมือง ใครใช้เงินมากสุด??

สำหรับนโยบายการเกษตรพบว่าตลอดระยะเวลามากกว่า 10 ปี ภาคเกษตรมีศักยภาพการแข่งขันถดถอย เมื่อเทียบกับภาคเกษตรในอาเซียน มีผลผลิตต่อไร่ต่ำกว่าประเทศอาเซียน มีต้นทุนสูงกว่าประเทศอาเซียน พึ่งพิงต่างชาติช่วยทำตลาดสินค้าเกษตรในต่างประเทศ

ไทยควรเพิ่มศักยภาพการแข่งขันภาคเกษตรด่วน โดยส่งเสริมเพิ่มผลผลิตต่อไร แรงจูงใจในการลดต้นทุน ผลิตตามมาตรฐานตามสากล (สิ่งแวดล้อม ลดโลกร้อน มาตรฐาน FSC สำหรับยาง มาตรฐาน RSPO สำหรับปาล์ม ผลไม้หาตลาดใหม่ แปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างต้นแบบเกษตรแบบ BCG) ส่งเสริมเพื่อลดการนำเข้าสินค้าเกษตรหันมาส่งเสริมการปลูกภายใน (ถั่วเหลืองปลอดภัย เพื่อนำไปผลิตอาหารแห่งอนาคต) สนับสนุนให้ทำปุ่ยอินทรีย์ (ลดการนำเข้าปุ่ยเคมี)  

นอกจากนี้สนับสนุนให้บริหารจัดการนำเพื่อการเกษตรทั้งปี สร้างแหล่งน้ำ ขุดบ่อ  นำเงินไปส่งเสริมการแปรรูปสินค้าเกษตร ที่มีตลาดรองรับ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และทำตามเทรนด์ของโลก เช่น Upcycling  เทรนด์สุขภาพ เทรนด์สิ่งแวดล้อม zero waste หรือนำของเหลือไปสร้างมูลค่าเพิ่ม และสร้างระบบรางวัลให้กับหน่วยงานต่างประเทศที่สามารถทำตลาดได้ตาม KPI