“Upcycling” เทรนด์อุตสาหกรรมแห่งอนาคตของโลก ไทยต้องไม่ตกขบวน

24 ก.พ. 2566 | 10:22 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ก.พ. 2566 | 10:47 น.
554

“Upcycling” เทรนด์อุตสาหกรรมแห่งอนาคตเพื่อความยั่งยืนของโลกที่กำลังมาแรงเป็นอย่างไร และทำไมประเทศไทยต้องไม่ตกขบวน ฟังจากบทความ "นายหัวอัทธ์"

“Upcycling” เทรนด์อุตสาหกรรมแห่งอนาคตของโลก ไทยต้องไม่ตกขบวน

บทความโดย : "นายหัวอัทธ์"

การสำรวจทัศนคติผู้บริโภคพบว่าร้อยละ 68 จะตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์ใดผลิตภัณฑ์หนึ่งนั้นจะคำนึงถึงผลิตภัณฑ์นั้นต้องมี “ความความยั่งยืน” ทั้งส่วนผสมของผลิตภัณฑ์และที่มาของผลิตภัณฑ์ และร้อยละ 66 ยอมจ่ายเงินเพิ่ม หากผลิตภัณฑ์นั้นให้ความสำคัญผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (2019 sustainability report, Personal Care Product Council)

ทำให้ปัจจุบัน อุตสาหกรรมหลายประเภทจึงหันมาใช้ความสำคัญกับการนำของเหลือใช้มาเป็นวัสดุในผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อตอบโจทย์สิ่งแวดล้อม และลดภาวะโลกร้อน หากไม่นำกลับมาใช้ใหม่ของเหลือเหล่านี้จะทำให้เกิดก๊าชเรือนกระจก (GHG)  โดยอุตสาหกรรมผ้าอ้อมกระดาษและไม้ทำให้ก๊าซเรือนกระจกเพิ่มมากกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ (ตารางที่ 1)

“Upcycling” เทรนด์อุตสาหกรรมแห่งอนาคตของโลก ไทยต้องไม่ตกขบวน

นอกจากนี้ ประเทศพัฒนาอย่างยุโรป และสหรัฐฯ ก็ให้ความสำคัญกับประเด็นสิ่งแวดล้อมและโลกร้อน โดยนโยบาย European Green Deal ของสหภาพยุโรป ในขณะที่สหรัฐฯ มี “Green New Deal” เน้นรักษ์โลกและสิ่งแวดล้อมจนกลายเป็นมาตรการกีดกันสินค้าที่เข้าไปขายในประเทศ และ The Upcycled Food Association (UFA) ได้ออกใบรับรองและโลโก้ที่ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมของวัสดุกลับมาใช้ใหม่ ได้แก่ โลโก้ ReGrained, TakeTwo Foods, Imperfect Foods, CometBio หรือโลโก้ “Upcycled certified”

ประเด็นเหล่านี้จะกลายเป็นอุสรรคในการส่งสินค้าไปขายในตลาดต่างประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากอุตสาหกรรมที่ผลิตไม่สอดคล้องกับนโยบายดังกล่าว ดังนั้นแนวคิด “Upcycling” จึงได้รับความสนใจและเป็นเทรนด์ในอนาคต

อุตสาหกรรม Upcycling หมายถึง อุตสาหกรรมที่นำวัสดุที่ย่อยสลายยาก  เช่น ขวดพลาสติก และเสื้อผ้าเก่าที่ใช้เส้นใยสังเคราะห์ เป็นต้น และของเหลือ (waste) ที่ถูกทิ้งและที่เกิดจากกระบวนการผลิต เช่น สินค้าเกษตรหรืออื่นๆ   ถูกนำกลับมาใช้เป็นวัสดุในอีกอุตสาหกรรมใหม่ (ไม่ใช่อุตสาหกรรมเดิม) และมีมูลค่าสูงกว่าเดิม ส่วนคำที่ตรงกันข้ามคือ “Downcycling” หมายถึงของเหล่านั้นถูกนำเป็นวัสดุในอุตสาหกรรมใหม่แต่มูลค่าต่ำกว่าอุตสาหกรรมเดิม)

“Upcycling” เทรนด์อุตสาหกรรมแห่งอนาคตของโลก ไทยต้องไม่ตกขบวน

ก่อนหน้านี้หากจำกันได้ แนวคิดเดิมในการพัฒนาอุตสาหกรรมคือ “4R” คือ Reduce Reuse, Recycle และ Remove แต่วันนี้ต้องปรับเปลี่ยนใหม่เป็น แนวคิด “4R+1U” ซึ่ง “1U” คือ Upcycling บริษัทใหญ่ ๆ ของโลกมีการใช้แนวคิดนี้มากมาย เช่น บริษัท Dole บริษัทเกษตรรายใหญ่ของโลก นำใบสับปะรดมาทำเป็น “ผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง” บริษัท Seeweedery ของออสเตรเลีย ทำ “น้ำมันทอดอาหาร” จากเปลือกกุ้งและสาหร่าย

บริษัท  Arla Foods ของสวีเดน นำมะละกอที่ทิ้งแล้วมาเป็น “ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม” บริษัท Rind Foods ของสหรัฐฯ “ผลิตอาหารทานเล่น (Snack)” จากเปลือกผลไม้ (Upcycled Foods to Take Off, Ecovia Intelligence, January 12th 2022) นอกจากนี้อุตสาหกรรมเครื่องสำอางมีการตื่นตัวอย่างมาก ตามแนวคิด “Upcycling” ในการนำสินค้าเกษตรมาเป็นวัตถุดิบ โดยในแต่ละปีผลผลิตทางการเกษตรถูกทิ้งมากถึง 2.5 พันล้านตัน ทำให้บริษัทเครื่องสำอางของโลก เช่น Estee Lauder ใช้แนวคิด “Loli (Living Organic Loving Ingredient)” นำสินค้าเกษตรมาทำเครื่องสำอางโดยไม่มีของเสียในกระบวนการผลิต

ในขณะที่บริษัทเครื่องสำอางของอังกฤษ “UpCircle” ใช้แนวคิด “Farm to Face” โดยการนำสินค้าเกษตรเหลือหรือถูกทิ้งมาเป็นเครื่องสำอาง มีการนำผงกาแฟที่ชงแล้วนำมาเป็น “Coffee Body Scrub” โดยไม่มีการนำไปทิ้งลงดิน รายงานของ Sustainable Tech Agency พบว่า 41% ของร้านขายเครื่องสำอางของโลกคิดว่า ของเหลือใช้กลับมาเป็นส่วนผสมเครื่องสำอางน่าสนใจมาก  

บริษัทรถยนต์เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ให้ความสำคัญกับแนวคิด “Upcycling” อย่างมาก รถยนต์ Audi ของเยอรมัน นำขวดพลาสติกที่ต้องใช้เวลาในการย่อยสลาย 500 ปี มาทำเป็นที่นั่งรถยนต์ถึงร้อยละ 89 รถยนต์ BMW ใช้ขวดพลาสติกมาทำเป็นประตูรถ รถยนต์ Volvo มาทำเป็นเครื่องหนังในรถยนต์ รถยนต์ Mercedes ใช้เห็ดมาทำเป็นประตู  และตั้งเป้าว่าในปี 2039 วัตถุดิบที่ใช้ในรถยนต์ ร้อยละ 40 เป็นตามแนวคิด Upcycling ในขณะที่รถยนต์ไฟฟ้ารุ่น ‘BMW i Vision Circular’ ใช้วัตถุดิบเหลือใช้ 100% แล้ว

ภาคอุตสาหกรรมไทยต้องรีบปรับเปลี่ยนนะครับจะได้ไม่ตกเทรนด์โลก