มองจีนแก้เกม "ถั่วเหลือง" ขาด - 7 แนวทางไทยแก้ปัญหา

09 ก.พ. 2566 | 08:00 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ก.พ. 2566 | 09:29 น.
629

การขาดแคลนถั่วเหลืองเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบอาหารคนและอาหารสัตว์ ยังเป็นปัญหาเรื้อรังของประเทศไทยมาอย่างยาวนาน ส่งผลนับวันไทยมีนำเข้ายิ่งสูงขึ้น เรื่องนี้จะแก้ปัญหาอย่างไรนั้น ฟังจากข้อเสนอของ "นายหัวอัทธ์" ทางนี้

มองจีนแก้เกม \"ถั่วเหลือง\" ขาด - 7 แนวทางไทยแก้ปัญหา

บทความโดย : "นายหัวอัทธ์"

 

ถั่วเหลืองมีสรรพคุณที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย มีทั้งโปรตีน ไฟเบอร์ คาร์โบไฮเดรต และวิตามิน ขณะเดียวกันยังตอบโจทย์การเป็นอาหารแห่งอนาคตที่เน้นสุขภาพ เป็นกลุ่มอาหาร “Plant Based Protein”  และยังเป็นวัตถุดิบสำคัญของอุตสาหกรรมอาหารคนและอาหารสัตว์

ที่สำคัญเป็นกลุ่มอาหารรักษ์โลก เพราะทดแทนการบริโภคเนื้อสัตว์ที่การเลี้ยงทำให้โลกร้อนเพิ่ม 14% จากการปล่อย nitrous oxide, carbon dioxide (CO2) และ methane (Jacquelyn Turner, 2 oct 2017,Grass Fed Cows won’t save climate)

ประเทศไทยผลิตถั่วเหลืองลดลงอย่างต่อเนื่อง เดิมผลิต 4 หมื่นตันต่อปี ปัจจุบันเหลือ 2 หมื่นตันต่อปี ขณะที่ความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตัวเลขความต้องการสามารถวัดจากการนำเข้ามีเพิ่มขึ้นมหาศาลจาก 2 ล้านตัน เพิ่มเป็น 4 ล้านตัน มูลค่าการนำเข้าเพิ่มจาก 1 พันล้านบาท เป็น 7 หมื่นล้านบาทในปัจจุบัน “เสียดายเงินประเทศที่ต้องนำเข้า”

มองจีนแก้เกม \"ถั่วเหลือง\" ขาด - 7 แนวทางไทยแก้ปัญหา

เราจะเห็นได้ว่า สถานการณ์ถั่วเหลืองไทย ความต้องการมากกว่าการผลิตถั่วเหลืองของประเทศ สุดท้ายจบด้วยการนำเข้า ความต้องการถั่วเหลืองในประเทศไทยร้อยละ 70 ไปสู่อุตสาหกรรมน้ำมันพืช ร้อยละ 25 ไปสู่อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ที่เหลือไปเป็นอาหารคน 

ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ใช้กากถั่วเหลืองเป็นวัตถุดิบ 30% ที่เหลือเป็นวัตถุดิบจากมันสำปะหลัง ข้าวโพด และข้าว ส่วนอุตสาหกรรมน้ำมันพืชใช้ถั่วเหลืองเป็นวัตถุดิบ 40% อุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์ใช้ถั่วเหลืองเป็นอาหารให้ไก่เนื้อร้อยละ 50

เมื่อพิจารณาสถานการณ์ถั่วเหลืองจีนกับไทยพบว่า  “เหมือนกันเลย” เพราะมีการพึ่งถั่วเหลืองจากต่างประเทศเหมือนกัน จีนนำเข้าถั่วเหลือง 80% ในขณะที่ไทยนำเข้า 99% (ร้อยละ 90 นำเข้าจากบราซิลและสหรัฐ) แต่จีนมีนโยบายชัดเจนเพื่อลดการนำเข้า โดยการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกถั่วเหลืองเพิ่มขึ้น เพื่อความมั่นคงด้านอาหารของประเทศ ผลผลิตถั่วเหลืองจีนเคยลดลง แต่ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ผลผลิตถั่วเหลืองจีนเพิ่มขึ้นจาก 10 ล้านตัน เป็น 16 ล้านตัน (2565) และมีเป้าหมายเพิ่มผลผลิตเป็น 23 ล้านตันในปี 2025

ปกติผลผลิตจีนสู้ราคาถั่วเหลืองนำเข้าไม่ได้ เพราะราคานำเข้าถูกกว่า รัฐบาลแก้เกมโดยให้การอุดหนุนเกษตรกรไร่ละ 4,000 บาท และอุดหนุนต้นทุนการผลิต เพื่อให้ราคาสู้ได้ เลยจูงใจให้เกษตรกรจีนผลิตถั่วเหลืองเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน ก็พัฒนาพันธุ์ถั่วเหลืองให้ได้ผลผลิตมากขึ้น พันธุ์ “Kedou35” ทนดินเข้ม ทนแล้ง ให้ผลผลิต 600 กก./ไร่ และให้โปรตีน 41-45% พื้นที่ส่วนใหญ่ปลูกแถบตะวันออกเฉียงเหนือของจีน มีมณฑลไฮหลงเจียงเป็นเมืองหลวงถั่วเหลืองเพราะปลูกมากกว่า 50%

ถั่วหลืองจีนมีทั้ง GMO Non-GMO และ ออร์แกนิค ความต้องการถั่วเหลืองจีนร้อยละ 80 ไปสู่อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ เพราะธุรกิจปศุสัตว์จีนเป็นเซ็คเตอร์ใหญ่ ในขณะที่ไทยมีผลผลิตต่อไร่ 304 กิโลกรัมต่อไร่ (พันธุ์ กวก. เชียงใหม่ 7) ให้โปรตีน 35% พื้นที่ปลูกส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือ 70% ปลูกในจังหวัดเชียงราย ลำปาง ลำพูน และเชียงใหม่ ไทยห้ามปลูกพืช GMO แต่เรานำเข้ามา “น่าจะเป็นถั่วเหลือง GMO”  ความต้องการถั่วเหลืองจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ สามารถใช้ในหลายอุตสาหกรรม

มองจีนแก้เกม \"ถั่วเหลือง\" ขาด - 7 แนวทางไทยแก้ปัญหา

ไทยควรทบทวนและส่งเสริมการผลิตถั่วเหลืองอย่างจริงจัง เพื่อลดการนำเข้า ช่วยประหยัดเงินประเทศ และเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร โดย 1.ใส่เงินวิจัยและพัฒนาพันธุ์ที่ให้ผลผลิตเพิ่มสูงขึ้น 2.ทำความร่วมมืองานวิจัยและพัฒนาถั่วเหลืองกับประเทศจีนเพื่อเรียนรู้วิธีการผลิตถั่วเหลืองที่มีประสิทธิภาพ 3.เงินอุดหนุนเกษตรกรเพื่อช่วยเหลือให้ลดต้นทุนการผลิตที่สามารถสู้กับราคาถั่วเหลืองนำเข้า

4.กำหนดสัดส่วนการใช้ถั่วเหลืองภายในต่อการนำเข้าในอุตสาหกรรม ระยะ 3 ปีแรก กำหนดสัดส่วน 30 ต่อ 70 แล้วค่อยๆ เพิ่มสัดส่วนการใช้ถั่วเหลืองในประเทศเพิ่มขึ้นในอนาคต  5.ตั้งเป้าเป็นแหล่งผลิตถั่งเหลืองปลอดภัย ผลผลิตถั่วเหลืองที่ไทยปลูกจะเป็นถั่วเหลืองที่ไม่ใช่ GMO และมีทั้งออร์แกนิค และปลอดภัย นำไปสู่การผลิตผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองปลอดภัย

6.ส่งเสริมกลุ่ม Startup เพื่อนำไปผลิตเป็นกลุ่มอาหารแห่งอนาคตที่ปลอดภัย 7.ประชาสัมพันธ์โปรตีนจากถั่วเหลือง ใน 1 วันร่างกายต้องการโปรตีน 25 กรัมต่อวัน ทำให้ช่วยลดความดันโลหิตและทำให้สุขภาพแข็งแรง (UCSF Health, อ้างถึง FDA สหรัฐฯ) ใน 1 วันร่างการต้องการกรัมของโปรตีนเท่าน้ำหนัก คือ 1 กรัมต่อ 1 กก. น้ำหนัก