กระทุ้งรัฐเร่งแก้ 4 โจทย์ใหญ่ ก่อนทำ "คนเลี้ยงหมู" ถอดใจทิ้งอาชีพ

29 ม.ค. 2566 | 14:13 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ม.ค. 2566 | 14:28 น.

ฟังข้อเสนอจาก ผศ.ดร.สุวรรณา สายรวมญาติ ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผ่านบทความ รัฐต้องทำอะไรเพื่อช่วยคนเลี้ยงหมูให้รอดในปี 2566

ผศ.ดร.สุวรรณา สายรวมญาติ ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เขียนบทความเรื่อง : รัฐต้องทำอะไรเพื่อช่วยคนเลี้ยงหมูให้รอดในปี 2566 โดยสรุปข้อเสนอสำคัญเกี่ยวกับ สิ่งที่รัฐต้องทำรวมทั้งสิ้น 4 เรื่อง ดังนี้ 

1. วางแผนและจัดการวัตถุดิบอาหารสัตว์ให้เพียงพอ

2. กำกับดูแลและตรวจจับหมูเถื่อน

3. ส่งเสริมและสนับสนุนการทำฟาร์มได้มาตรฐาน และระบบไบโอซิเคียวริตี้

4.หน้าที่ให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนได้รวดเร็วและถูกต้อง

สถานการณ์คนเลี้ยงหมูปี 2566

สำหรับสถานการณ์คนเลี้ยงหมูปี 2566 ภายใต้บทความนี้ ระบุว่าสถานการณ์ไม่สู้ดีนัก เนื่องจากวัตถุดิบอาหารสัตว์มีราคาแพงมาก โดยปัจจุบันกากถั่วเหลือง 23.40 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หน้าโรงงาน 13.40 บาทต่อ กก. (ชาวไร่ข้าวโพดขายได้ 9.50 บาทต่อ กก.) ปลายข้าว 14.20 บาทต่อ กก.

ส่วนต้นทุนการผลิตที่คณะอนุกรรมการวิเคราะห์ต้นทุนการผลิตสุกรกรณีซื้อลูกหมูมาเลี้ยงขุนเท่ากับ 101 บาทต่อ กก. แต่ช่วงตรุษจีนที่ผ่านมา ราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มซื้อขายกันที่ 98-102 บาทต่อกก. เท่ากับว่าตอนนี้คนเลี้ยงหมูไม่มีกำไร ซึ่งหลังจากนี้บอกเลยว่า ปีนี้คนเลี้ยงหมูเหนื่อยแน่

โจทย์สำคัญราคาวัตถุดิบพุ่งสูง

ทั้งนี้ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ทั้งข้าวโพดและกากถั่วเหลืองอยู่ในระดับสูงยังคงเป็นหอคอยทิ่มแทงคนเลี้ยงหมู เนื่องจากประเทศไทยผลิตข้าวโพดได้สัดส่วนเพียง 40% ของความต้องการใช้ และสัดส่วนอีก 60% ต้องนำเข้า โดยในปีนี้ก็ยังคงเป็นปัญหาจากนโยบายของรัฐบาลที่ไม่มีการวางแผนเกี่ยวกับการนำเข้าข้าวโพด แต่ยังคงใช้มาตรการควบคุมการนำเข้าข้าวสาลี 3 : 1 (ซื้อข้าวโพดในประเทศ 3 ส่วน นำเข้าข้าวสาลีได้ 1 ส่วน)

โดยมองว่ารัฐไม่ควรกำหนดโควตาการนำเข้า แต่ควรดูปริมาณการผลิตข้าวโพดภายในประเทศในปีนี้และอนุญาตให้นำเข้าไม่เกินปริมาณส่วนขาด ซึ่งทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า อุปสงค์ส่วนขาด ไม่จำเป็นต้องกำหนดโควตาแต่อย่างใด เพียงแต่กำหนดเพดานการนำเข้า พิจารณาช่วงนำเข้าที่เหมาะสม ไม่ให้กระทบต่อช่วงข้าวโพดไทยที่ออกสู่ตลาด สิ่งเหล่านี้ต้องวางแผนและต้องทำตั้งแต่ต้นปี

ภาพประกอบข่าว สถานการณ์คนเลี้ยงหมูปี 2566

แนะกระทรวงเกษตรฯ แก้ปัญหา

นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ควรสร้างความร่วมมือในการจัดหาพืชอาหารสัตว์ โดยเฉพาะข้าวโพด ปลายข้าว รำข้าว มันสำปะหลัง เพื่อให้รายย่อยผสมอาหารสัตว์ใช้กันเองภายในกลุ่มผู้เลี้ยงหมู/วิสาหกิจชุมชน/สหกรณ์ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในการเลี้ยงหมูของผู้เลี้ยงรายย่อย พร้อมทั้งเพิ่มรายได้ของเกษตรกรจากปลูกพืชหลังนา ซึ่งสามารถกำหนดปริมาณและรับซื้อที่แน่นอน เพื่อเป็นแรงจูงใจสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกพืชอาหารสัตว์

ภาพประกอบข่าว สถานการณ์คนเลี้ยงหมูปี 2566

ปัญหาด้านวัตถุดิบกากถั่วเหลือง

สำหรับกากถั่วเหลืองนั้น ไทยต้องนำเข้ามา 99% ของปริมาณความต้องการใช้ในประเทศ เนื่องจากไทยผลิตถั่วเหลืองได้ไม่ถึง 50,000 ตันต่อปี แต่ต้องใช้ประมาณปีละ 4 ล้านตัน ใช้สกัดน้ำมัน 75% แปรรูปอาหารคนและอาหารสัตว์ 25% ซึ่งรัฐไม่ควรส่งเสริมให้เกษตรกรไทยผลิตถั่วเหลืองเพราะผลผลิตต่อไร่ต่ำมาก ไม่มีทางสู้ถั่วเหลืองนำเข้าได้ และต้องนำเข้าต่อไป

แม้ว่าบราซิลผู้ส่งออกถั่วเหลืองรายสำคัญของโลกจะมีแนวโน้มส่งออกถั่วเหลืองได้มากขึ้น แต่ผู้ใช้รายใหญ่อย่างจีน สหภาพยุโรป และสหรัฐฯ ก็มีแนวโน้มการใช้เพิ่มขึ้นเช่นกัน น่าจะทำให้ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ในปีนี้คงตัวอยู่ในระดับสูงเช่นนี้ทั้งปี

นอกจากนี้ ผู้ผลิตอาหารสัตว์ต้องเผชิญกับต้นทุนค่าแรง ค่าพลังงาน ราคาอาหารสัตว์น่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน นั่นหมายถึง ปีนี้ราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มไม่ควรต่ำกว่า 100 บาทต่อกก.

ทั้งนี้แม้ว่าจะมีการประกาศราคาแนะนำจากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรที่เพิ่มขึ้นมา 4 บาทต่อ กก. จากความต้องการเนื้อหมูที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลตรุษจีน แต่คนเลี้ยงหมูไม่ได้ดีใจนัก แต่แค่หายใจทั่วท้องเพียงชั่วครู่ เพราะรู้ดีว่านี่คือการปรับขึ้นราคาชั่วคราว ราคาหมูหลังตรุษจีนคือของจริง จะขึ้นหรือลงอยู่ที่ปริมาณหมูเถื่อนจะเข้ามามากน้อยเพียงใด

ภาพประกอบข่าว สถานการณ์คนเลี้ยงหมูปี 2566

ประเมินสถานการณ์ปี 2566

ในปีนี้คาดว่าไทยจะมีปริมาณการผลิตหมูขุนกลับเพิ่มเข้ามาได้ประมาณ 17 ล้านตัว แต่จากการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวเข้าก็จะเพิ่มการบริโภคเนื้อหมูเช่นกัน หากราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มต่ำกว่า 100 บาท ต่อกก. แสดงว่ามีหมูเถื่อนมาเทขายในราคาถูก ดังนั้นกรมปศุสัตว์ต้องผนึกกำลังเฝ้าระวังและตรวจจับอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

 อย่างไรก็ดีหมูขุนที่คาดว่าจะเข้าเลี้ยงเพิ่ม 3 ล้านตัวในปีนี้ ส่วนใหญ่มาจากรายใหญ่ที่มีความพร้อมทั้งในเรื่องแม่พันธุ์ และระบบการเลี้ยงไบโอซีเคียวริตี้ ซึ่งมีต้นทุนการขุนโดยเฉพาะอาหารที่มีต้นทุนเฉลี่ยถูกกว่ารายย่อย

ประกอบกับรายย่อย แม้จะอยากกลับมาเลี้ยงก็ไม่ง่ายนัก เนื่องจากราคาลูกหมูแพงมาก (16 กก. 3,400 บาทต่อตัว+/- 96 บาท/กก.) รายย่อยส่วนใหญ่จึงตัดสินใจซื้อลูกหมูเข้าเลี้ยงเล็กลง น้ำหนักอยู่ราว ๆ 5-7 กก. ราคาประมาณ 2,000-2,500 บาทต่อตัว เพื่อลดต้นทุนลูกหมู แต่ก็ต้องแบกรับความเสี่ยงในส่วนของอัตราสูญเสียที่อาจเพิ่มขึ้นและต้นทุนอาหารในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น

ความเสี่ยงถัดมาคือการซื้อขายลูกหมูเพื่อเข้าเลี้ยงของรายย่อยนั้นมักจะไม่ได้มีการตรวจเชื้อว่าปลอดโรคอหิวาต์แอฟริกา (ASF) หรือไม่ ซึ่งปศุสัตว์ควรต้องเร่งทำความเข้าใจและอำนวยความสะดวกในเรื่องนี้ เพื่อลดความเสี่ยงของการแพร่กระจายของเชื้อ ASF ที่แฝงอยู่

สังเกตได้จากช่วงหลังที่เริ่มมีการกลับเข้าเลี้ยงเพิ่มขึ้นก็มีการพบเชื้อ ASF เพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่เช่นกัน ซึ่งควรต้องประชาสัมพันธ์ให้คนเลี้ยงหมูทราบอย่างทั่วถึง เพื่อสร้างความตระหนักและปฏิบัติตามหลักไบโอซิเคียวริตี้อย่างเข้มงวด เนื่องจากเชื้อตัวนี้ยังแฝงอยู่ในสิ่งแวดล้อม พร้อมสร้างปัญหาได้ทันทีที่เกิดความบกพร่องในการป้องกันโรค